24 ตุลาคม 2565
1,074

หุ้นเวียดนามร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี นักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ย

หุ้นเวียดนามร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี นักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ย
Highlight

หุ้นเวียดนามถูกเทขายต่อเนื่องเป็นเวลา 7 สัปดาห์ เดือนเดียวผลตอบแทนลดไปถึง 18% เป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดในโลก นับเป็นหนังคนละม้วนกับช่วงต้นปี เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งธนาคารกลางปรับขึ้นรวดเดียว 1% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เป็นประเด็นช็อคตลาด อีกทั้งค่าเงินดองก็ร่วงทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย ทำให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น และประสิทธิภาพการแข่งขันอาจลดลงในอนาคต 


เพราะถูกเทขายจากความกังวลด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามหลักอย่าง VN Index ร่วงลงมาแล้ว 4.9% ซึ่งเป็นจุดต่ำตั้งแต่มกราคมปี 2021 ด้วย The Bank for Foreign Trade of Vietnam และ PetroVietnam Gas JSC ร่วงลงอย่างหนัก ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนาม ติดลบ 18% ในเดือนเดียว

ณิศรา วาดี Economist, Bnomics เปิดเผยว่า การร่วงลงของหุ้นในครั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นตลาดที่มีผลการดำเนินงานแย่ที่สุดในโลก ตามมาด้วยรัสเซียที่ลดลง 4.8% และเวเนซุเอลา ลดลง 1.87% (* ข้อมูล ณ วันที่ 3-8 ตุลาคม 2022)

ความเชื่อมั่นต่อหุ้นเวียดนามเริ่มแย่ลงหลังจากที่ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงถึง 1% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ  นักลงทุนยังตื่นตระหนกหลังจากค่าเงินดองร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดตลอดกาลท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดัน แรงกดดันจาก Margin call ทำให้นักลงทุนถูกบังคับให้ปิดสถานะ เนื่องจากตลาดปรับตัวลงแรง เงินทุนไหลออกก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาของเวียดนาม 

หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นเวียดนามติดต่อกันเป็นเวลา 7 สัปดาห์แล้วทำให้มีการถอนเงินออกไปจากเวียดนามกว่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ในขณะที่ฝั่งธุรกิจเอง ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อาจส่งผลให้ภาคการส่งออกของเวียดนามไม่สดใสเท่าไรนัก โดยผู้ประกอบการในเวียดนามต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดจากธนาคารกลาง ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้น

นอกจากนี้ วิกฤติค่าครองชีพในหลายประเทศทั่วโลก และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อาจทำให้อุปสงค์ทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็วและไปกระทบกับภาคการส่งออกของเวียดนาม

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดองของเวียดนามอ่อนค่าลง ทำให้บริษัทที่ต้องทำเข้าวัตถุดิบในการผลิตมีต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงนำเข้าเป็นอย่างมาก

ค่าเงินเวียดนามที่อ่อนค่าลงมาแล้วกว่า 5% ตั้งแต่ต้นปี ทำให้กิจกรรมการผลิตขยายตัวช้าลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มทั่วโลกที่แย่ลงส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ไม่กล้าลงทุนในภาคธุรกิจมากนัก

นอกจากนี้ การที่ประเทศคู่แข่งทางการค้าของเวียดนามยอมปล่อยให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจส่งผลให้เวียดนามต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

เนื่องจากประเทศนำเข้าอื่น ๆ อาจหันไปซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านั้น จากการที่ค่าเงินอ่อนทำให้ราคาสินค้าถูกลง ซึ่งสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากต่อธนาคารกลางของเวียดนาม เพราะหากธนาคารปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลง เพื่อเอื้อต่อการส่งออกของประเทศก็จะทำให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมากขึ้นและต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น

แต่หากรักษาค่าเงินให้สูงเกินไปจะทำให้การส่งออกไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ โดยธนาคารกลางของเวียดนามก็ออกมาประกาศว่า การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ และจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงเมื่อจำเป็น เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ โดยเวียดนามต้องยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการที่ธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย  ก็ทำให้เงินทุนบางส่วนเคลื่อนย้ายออกจากสินทรัพย์เสี่ยง 

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามก็ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยมีการคาดการณ์จาก The ASEAN+3 Macroeconomic Research Office ว่า เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 7% ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้ จะทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ขยายตัวได้ดีเติบโตเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 7.3%

แม้ว่าการเติบโตของ GDP ที่สูงของเวียดนามในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากฐานที่ต่ำจากปีที่แล้ว แต่การเปิดประเทศ การผ่อนคลายการควบคุมโรคระบาด อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว และความสำเร็จดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)  ก็มีส่วนทำให้เวียดนามฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ที่มา : Bnomics, Bangkok Bank

ติดต่อโฆษณา!