23 กันยายน 2565
1,100

ตลาดคาดไทยขึ้นดอกเบี้ย 0.25-0.5% ในสัปดาห์หน้า

ตลาดคาดไทยขึ้นดอกเบี้ย 0.25-0.5% ในสัปดาห์หน้า
Highlight

เงินบาทไทยอ่อนค่าในรอบ 16 ปี อยู่ที่ระดับ 37.50 หรืออาจจะถึง 40 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินทุนไหลออกต่อเนื่องหากเราไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกทยอยปรับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ จึงน่าสนใจว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประกาศสัปดาห์หน้าจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร จะขยับขึ้นรวดเดียว 0.50% เลยหรือไม่ ต้องติดตามกัน


ตลาดคาดการณ์ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจปรับอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.5% ในการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อลดช่องว่างส่วนต่างดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด 0.75% ทำให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่กลับไปยังตลาดเงินสหรัฐฯ และส่งผลค่าเงินประเทศต่างๆ รวมทั้งเงินบาทไทยอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ล่าสุด 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% และการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึง 4.6% ในปีหน้า ส่งผลให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงินประเทศต่างๆ อ่อนค่าลงหากไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม แต่สถานการณ์ในแต่ละประเทศแตกต่างกัน การขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจบางประเทศ

อย่างไรก็ตามส่วนต่างดอกเบี้ยนอกประเทศและในประเทศที่กว้างขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออก และส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าต่อเนื่อง เช่นเดียวกับไทย ดังนั้นจึงเป็นการสร้างแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในสัปดาห์หน้า ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในรอบนี้

“กนง.อาจจะต้องต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0.25% เป็น 0.50% หรือไม่ ซึ่งก็มีควาทเป็นไปได้เช่นกัน  การขึ้นดอกเบี้ยช้าอาจทำให้เงินไหลออกเร็ว และทำให้เงินอ่อนค่าในเวลาที่รวดเร็ว ทำให้ค่าเงินผันผวน เสถียรภาพลดลง” เขากล่าว

นายอมรเทพกล่าวว่า เงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับสูง การที่เงินบาทอ่อนก็จะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อ และหากปล่อยไว้ก็อาจจะส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อของคนไทยปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับกรณีที่รักษาการนายกรัฐมนตรีออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ต้องการเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น อมรเทพระบุว่า ในทางเศรษฐศาสตร์คงเป็นไปได้ยาก เพราะคงไม่มีใครสามารถต้านกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ โดยไทยเองก็เคยมีบทเรียนในช่วงวิกฤตปี 1997 ที่เข้าแทรกแซงค่าเงินจนเงินทุนสำรองหมดมาแล้ว จึงมองว่าการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอาจต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่มีความเหมาะสม

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า

การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไม่น่าจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ไช่ปัจจัยเดียวที่นักลงทุนจะพิจารณา อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีสกุลเงินของหลายประเทศในเอเชียที่เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าเงินบาทของไทยจากการมีดอกเบี้ยที่สูงกว่า

นักลงทุนมองว่าดอลลาร์สหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในตอนนี้ แต่เท่าที่ดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยก็ไม่ได้รุนแรง เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยไม่ได้สูงมาก เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบ จึงคาดว่าแบงก์ชาติจะใช้ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไปที่ 0.25% ในสัปดาห์หน้า นายพูนกล่าว

นายพูนประเมินว่า หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว โซนแนวต้านถัดไปที่เป็นไปได้ของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.30-37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่ายาว โดยอาจต้องรอถึงช่วงปลายปีที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้ง และการท่องเที่ยวไทยเข้าสู่ช่วงพีค เงินบาทจึงจะเริ่มกลับมาแข็งค่าได้บ้าง

ขณะที่ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะถ่างกว้างขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันให้ กนง. ต้องให้นำ้หนักกับผลกระทบที่จะเกิดกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าในการประชุมสัปดาห์หน้า กนง. จะยังไม่ปรับเปลี่ยนแนวทาง และเลือกจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ต่อไปก่อน

“หากดูดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในตอนนี้ เงินบาทยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ซึ่งแบงก์ชาติอาจจะใช้เหตุผลนี้ในการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% แต่การที่คนอื่นเขากระโดดขึ้นบันไดทีละ 2-3 ขั้น แต่เรายังเดินช้าๆ ทีละขั้น ความต่างก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ และเราจะเห็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นไปอีก ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า Fed ประชุมปีละ 8 ครั้ง ขณะที่ กนง. ไทยประชุมแค่ 6 ครั้ง ผมมองว่าอย่างไรดอกเบี้ยเราควรต้องขึ้นเร็วกว่านี้” พิพัฒน์กล่าว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดของ Fed ไม่ได้สร้างแรงกดดันถึงขั้นที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากสถานการณ์เงินทุนไหลออกของไทยไม่ได้น่ากังวล โดยไทยมีเม็ดเงินต่างชาติในตลาดทุนเพียง 20% ขณะที่ตลาดบอนด์ก็มีแค่ 10%

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทในปัจจุบันแม้ว่าจะอ่อนค่ามาแล้ว 10.6% นับจากต้นปี อ่อนค่าสูงเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้อ่อนที่สุด เมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินวอนที่อ่อนค่าไปแล้ว 20.5% และ 15.6% ตามลำดับ นับจากต้นปี

การที่ Fed ส่งสัญญาณชัดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึง 40 บาท แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ Fed อาจจะไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะสหรัฐฯ เองก็มีความเสี่ยงถดถอยสูง, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ระบุ

ติดต่อโฆษณา!