08 กันยายน 2565
736

ทิสโก้ชี้ “ตลาดเอเชีย” และ “ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน” กลายเป็นธีมเมกะเทรนด์ ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว

ทิสโก้ชี้ “ตลาดเอเชีย” และ “ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน” กลายเป็นธีมเมกะเทรนด์ ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว

Highlight

ธนาคารทิสโก้ ประเมินว่าธีมการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย แะธีมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่กระแสที่น่าสนใจในระยะสั้นเท่านั้น แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นเมกะเทรนด์ ที่สามารถเติบโตได้ในระยะยาว เนื่องจากเอเชียมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูง ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับต่ำ มีประชากรวัยแรงงานที่กำลังขยายตัว ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาด เป็นธีมการลงทุนที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามเทรนด์ตลาดโลก


ธนาคารทิสโก้ ประเมินเอเชียจะเติบโตได้ต่อเนื่องล มีปัจจัยหนุนหลายด้าน สามารถลงทุนระยะยาวโดยไม่ต้องมานั่งกังวลปรับพอร์ตการลงทุนแบบรายวัน รายเดือน ตามภาวะตลาด

ในช่วงที่ผ่านมา กองทุนธีมตลาดเอเชียได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมีปัจจัยบวก ทั้งในแง่ของราคาหุ้น รวมถึงในแง่มุมทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรวัยแรงงานที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ขณะที่ธีมธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก็เป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยเช่นกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ถึงกับมีเสน่ห์มากนัก เมื่อเทียบกระแสความนิยมต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของธนาคารทิสโก้ ประเมินว่า ทั้งสองธีมนี้จะมีความสำคัญ และน่าสนใจมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นเมกะเทรนด์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพสร้างผลตอบแทนสูงในระยะยาวให้กับพอร์ตได้ด้วย

นับเป็นหนึ่งในธีม Megatrends Investment ที่ไม่ต้องปรับพอร์ตใหม่บ่อย ๆ สามารถลงทุนในระยะยาวมากกว่า 10 ปี หรือยาวไปได้จนถึงวัยเกษียณ เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

อินโดนีเซีย - เวียดนาม - จีน : เศรษฐกิจเติบโตสูง - กำไรบริษัทโตเด่น

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารทิสโก้ แนะนำให้นักลงทุนหันมาโฟกัสการลงทุนในตลาดเอเชีย เช่น ประเทศจีนมากขึ้น เพราะตลาดในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ มีความน่ากังวลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และไม่เพียงแค่นี้ ตลาดเอเชียหลายแห่งยังมีความโดดเด่นในเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจที่เติบโตสูง อัตราการเติบโตของกำไร (EPS Growth) ที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ประกอบกับมูลค่าหุ้นที่ไม่แพง โดยในเดือนกันยายนนี้ ธนาคารทิสโก้เห็นว่ามี 2 ประเทศในเอเชียที่โดดเด่น เป็นเมกะเทรนด์ที่น่าลงทุน ได้แก่

1. ประเทศอินโดนีเซีย : นอกจากจะมีวัยแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ช่วยสนับสนุนการบริโภคอย่างโดดเด่นแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศ และเปลี่ยนกฏหมายเพื่อดึงดูดต่างชาติจนทำให้กลายเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ อีกทั้งค่าเงินมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) อื่น ๆ และด้วยความพร้อมของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และประชากร จึงทำให้มีธุรกิจ Start up ระดับโลกเกิดขึ้นในประเทศจำนวนมากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งตอกย้ำถึงความเป็นประเทศที่เปิดกว้างด้านกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ และกำลังการบริโภคที่มากพอ ในการสนับสนุนธุรกิจด้วย  

2. เวียดนาม : ข้อมูลจาก Bloomberg คาดว่า ในปี 2022 – 2023 อัตราการเติบโตกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของตลาดหุ้นเวียดนามจะอยู่ที่ระดับสูงถึง 24.6% ขณะที่ในระยะกลางก็มีปัจจัยบวก ซึ่งส่งผลให้ตลาดมีความน่าสนใจ เช่น สภาพคล่องในตลาดหุ้นเริ่มสูงขึ้น ข่าวดีเรื่องการนำดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามร่วมคำนวณในดัชนี MSCI EM ในปี 2025 ที่ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ เป็นต้น

ส่วนประเทศจีนที่ธนาคารทิสโก้  ได้เคยแนะนำไปก่อนหน้านี้ ยังคงเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว ขณะที่ในระยะสั้นก็มีปัจจัยบวกที่รออยู่ จากประเด็นที่จีนได้ประกาศเตรียมจัดตั้งการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในวันที่ 16 ต.ค. นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม ซึ่งจะทำให้สถานะของประธานาธิบดีสีกลายเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจมากที่สุดของจีนนับตั้งแต่ เหมา เจ๋อตุง และจากสถิติในอดีตย้อนหลังนับตั้งแต่ช่วงปี 1997 ตลาดหุ้นจีนมักจะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 20% ในช่วงก่อนที่จะถึงการประชุม National Congress 2

พลังงานหมุนเวียน … โดดเด่นท่ามกลางปัญหาราคาพลังงานพุ่ง

จากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนจนกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาก๊าซและถ่านหิน ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ … ด้วยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้ทำให้ “พลังงานหมุนเวียน” กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญมากขึ้น  ในระยะยาว จนเป็นเมกะเทรนด์ที่น่าลงทุน ด้วย 3 เหตุผล ดังนี้

1. เป็นพลังงานที่ใช้ได้ยาวนาน : พลังงานหมุนเวียน เป็นพลังงานชนิดที่สามารถสร้างขึ้นได้ซ้ำ ๆ โดยมากมักมีแหล่งกำเนิดมาจากธรรมชาติ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวลหรือผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ยาวนานกว่า พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ จึงเป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคงสำหรับมนุษย์

2. ประเทศมหาอำนาจสนับสนุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน : ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จีนลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ให้ได้ 1,200 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 และในช่วงเวลาเดียว สหรัฐฯ ก็ได้ลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกันนี้ทั้งสองประเทศ ยังมีนโยบายสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ด้วย จึงทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่จะเติบโตในระยะยาว

3. ค่าใช้จ่ายการผลิตพลังงานหมุนเวียนต่ำลง
: เมื่อเทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนถูกพัฒนาให้ลดลง นอกจากราคาในการผลิตแล้ว เทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น เซลล์เก็บกักพลังงานไฟฟ้า ก็ถูกพัฒนาการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้อนาคตด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งโลกชัดเจนยิ่งขึ้น

ติดต่อโฆษณา!