07 กันยายน 2565
1,024

อาเซียนกลายเป็น Safe Haven ของโลก Fetco คาดเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง

อาเซียนกลายเป็น Safe Haven ของโลก  Fetco คาดเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง
Highlight

ตลาดหุ้นอาเซียนรวมทั้งไทย เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเทศในแถบอาเซียนได้รับผลกระทบน้อยจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และการลดลงของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ เป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก คาดว่าเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ด้านปัจจัยเสี่ยงควรระวังในการลงทุนคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง รวมทั้งวิกฤตการเงินที่จะเกิดกับตลาดเกิดใหม่ในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า

20220907-b-01.jpg


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในปีนี้ว่า ตลาดหุ้นอาเซียนรวมทั้งไทย เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเทศในแถบอาเซียนได้รับผลกระทบน้อยจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว และการลดลงของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนอาจมีภาพที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก โดยอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศน้อยกว่ายุโรปและสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้การออกดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร การส่งออกอาหารไปยังประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งยุโรปและแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศมีรายได้สูงขึ้น โดยครอบคลุมประชากรจากภาคเกษตรราว 20 ล้านคน ท่องเที่ยว 10 ล้านคน และส่งออกราว 4 ล้านคน

ทั้งนี้จากการที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาวิกฤตอาหารเหมือนบางประเทศ ในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ลดการว่างงาน และรายได้กลับมามากขึ้น เหลือเพียงการนำเข้าพลังงาน คือ น้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน ราคาเริ่มลดลงมาอยู่ที่ราว 86-100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล จากจุดสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกที่ราว 130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล

ทั้งนี้ประเทศตะวันตกยังคงประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งวิกฤตพลังงานโดยเฉพาะยุโรปที่มีความขัดแย้งกับรัสเซีย จนนำไปสู่วิกฤตพลังงานในประเทศ เปรียบเสมือนการยืนอยู่บนหน้าผาในปัจจุบัน ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ข้อได้เปรียบมาต่อสู้กัน โดยสหรัฐและยุโรปกดดันรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน ทำให้รัสเซียไม่สามารถขายก๊าซและน้ำมันได้โดยสะดวก จนในที่สุดรัสเซียหันมาค้าขายกับจีน อินเดีย และกลุ่ม BRIC และผู้นำรัสเซียยื่นคำขาดจะไม่ส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อก๊าซให้กับเยอรมนีและยุโรปต่อไปจนกว่าจะเลิกคว่ำบาตร

หากรัฐบาลประเทศยุโรปยังคงไม่เจรจา หรือแก้ไขปัญหาโดยสันติ มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงสูงตามมา ซึ่งเป็นผลเสียต่อการลงทุนและกระทบไปทั่วโลก เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น และอาจจะเห็นการประท้วง เดินขบวนในประเทศต่างๆเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากปัญหาขาดแคลนพลังงาน และราคาพลังงานที่สูงเกินกว่าที่ประชาชนจะรับได้ ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้สถานการณ์ตึงเครียด จีน-สหรัฐ-ไต้หวัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกลับมีปัญหาเกิดขึ้นซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงทั้งสิ้น หากจีนมีมาตรการเด็ดขาดไม่ส่งวัตถุดิบทั้งด้านอาหาร และอื่นๆ ไปยังสหรัฐและพันธมิตร ในที่สุดจะเกิดผลกระทบไปทั่วโลก และน่าจะเสียหายกว่ากรณีรัสเซีย-ยูเครน

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามคือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ที่นายเจอโรม พาวเวล ย้ำในการประชุมที่เมืองแจ็คสัน โฮลล์ ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมเงินเฟ้อในอยู่ในระดับปกติที่ 2% ให้ได้ ทั้งนี้ Fed ได้เตือนมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า “Party Is Over” ซึ่งน่ากังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อยๆนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตค่าเงินในหลายประเทศเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันนี้เกิดกับศรีลังกา และพบว่าขณะนี้ หลายประเทศที่เริ่มมีปัญหา และเข้าโครงการกู้เงินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ และประเทศแถบแอฟริกา

ทั้งนี้วิกฤตเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยในแต่ละรอบจากข้อมูลสถิติในอดีตชี้ว่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปีในการฟื้นตัว ดังนั้นการลงทุนในช่วงนี้ต้องระมัดระวัง และควรเป็นการซื้อขายระยะสั้นและติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด นักลงทุนควรต้องมีเงินทุนสะสมไว้ ซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานที่ราคาปรับลดลงแรงในช่วงที่ตลาดถูกเทขายหนัก ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

สำหรับตลาดหุ้นไทย ช่วงนี้เป็นช่วงที่ให้ผลตอบแทนดี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นและสินทรัพย์อื่นในโลก โดยมีผลตอบแทนเกาะกลุ่มไปกับประเทศที่มีเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในอาเซียนดังนี้

ผลตอบแทนในเดือนสิงหาคม ตลาดหุ้นเวียดนาม +6.1%, ฟิลิปปินส์ +4.2%, ไทย 4.0%, อินเดีย 3.4%, อินโดนีเซีย 3.3% และมาเลเซีย 1.3% โดนสินทรัพย์ที่ลดลงต่ำสุดคือ น้ำมัน -9.2%, หุ้นยุโรป (STOXX600)-5.1%,หุ้นเยอรมัน -4.8%, USA Nasdaq -4.6%, และ MSCI World -4.3%

อย่างไรก็ตามผลตอบแทนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ น้ำมัน (WTI Crude Oil) ยังคงเป็นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนย้อนหลังสูงสุดที่ +19.1%, หุ้นอินโดนีเซีย +9.1% และสิงคโปร์ 3.1%

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีในอนาคต ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed คือ ดอลลาร์สหรัฐ ที่จะแข็งค่าขึ้นเรื่อยไม่เมื่อ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยและทำ QT (Quantitative Tightening) ในขณะที่ค่าเงินประเทศอื่นจะอ่อนค่า เนื่องจากความกดดันหลายปัจจัยที่รออยู่ข้างหน้า จนไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากเท่า Fed เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว วิกฤตพลังงาน ภัยธรรมชาติ และอาหาร เป็นต้น แบะสินทรัพย์ที่ไม่ควรมองข้ามคือหุ้นอาเซียน


20220907-b-02.jpg


FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับเพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ในระดับ “ทรงตัว”

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% จากเดือนก่อนหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) สาหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 รองลงมาคือ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการไหลออกของเงินทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนสิงหาคม 2565 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

▪ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2565) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) เพิ่มขึ้น 12.2% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 116.59

▪ ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล และกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และ กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในระดับ “ทรงตัว”

▪ หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)

▪ หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

▪ ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว

▪ ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ระบาดของ COVID-19


ติดต่อโฆษณา!