08 สิงหาคม 2565
1,029

จับตา ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรก ในรอบ 2 ปี 10 ส.ค.นี้

จับตา ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรก ในรอบ 2 ปี 10 ส.ค.นี้
Highlight

หลังจากอัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งทะลุเกิน 7% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันสนับสนุน ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในการประชุม กนง.วันที่ 10 ส.ค.นี้ และนับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 2 ปี  โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกดีขึ้น ทำให้ค่อยๆหนุนเศรษฐิจฟื้นตัวและเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพสูง อย่างไรก็ตามหุ้นโลกถูกเทขายอย่างหนักอีกครั้งเช้านี้ (8ส.ค.) หลังตัวเลขจ้างงานสหรัฐล่าสุดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งอาจทำให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบหน้าอีก 0.75% ในการประชุมเดือน ก.ย.

Bangkok Bank Economics ระบุว่าสภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวมและการส่งสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ว่า จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันพุธนี้

โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หลังจากที่ธปท. คงระดับดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% เพื่อช่วยผ่อนคลายสภาวะเศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤติการระบาดของโควิด-19

การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อถ่วงดุลการคาดการณ์เงินเฟ้อ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางธปท. ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ มาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง ที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นไปแตะระดับมากกว่า 7% ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อค่าครองชีพของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบมากกว่า

แม้เริ่มแรกเงินเฟ้อ จะมีที่มาจากฝั่งอุปทาน ด้วยต้นทุนของสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันและโลหะที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนที่นโยบายการเงินไม่สามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่เมื่อเงินเฟ้อสูงเริ่มคงอยู่นานและขยายตัวไปสู่ราคาสินค้าโดยทั่วไป มันก็จะไปถ่วงการคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนในระยะกลางถึงยาวให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางธปท. ไม่อยากให้เกิดขึ้น

ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินเพื่อชะลอเศรษฐกิจโดยตรง ชยังเป็นการส่งสัญญาณเพื่อสื่อสารว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยถ่วงดุลการคาดการณ์เงินเฟ้อให้ลดลงมาได้อีกทางหนึ่ง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้มีส่วนที่คล้ายคลึงกับช่วงปีพ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากวิกฤติการเงินโลก GDP ทั้งปี 2553 เติบโตได้ถึง 7.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงทำให้ธปท. ต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปีกลางปี 2553 จนถึงปี 2554 กลับไปสู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติที่ 3.25% รวมแล้วคิดเป็นการขึ้นดอกเบี้ยกว่า 2% ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับลดลงมา

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ มีความท้าทายกว่าในตอนนั้นพอสมควร อันเนื่องมาจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักของไทยอย่างการท่องเที่ยว ต้องถูกแช่แข็งเกือบจะสมบูรณ์ในช่วงโควิดขาดรายได้และการจ้างงานมหาศาล การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ไม่กระทบภาคเศรษฐกิจจนเกินไป

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงหลัง เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่ได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากนโยบาย Thailand Pass และความอัดอั้นต้องการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก

ข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 760,000 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 500,000 คน และ 290,000 คน ในเดือนพฤษภาคม และเดือนเมษายนตามลำดับ และรวมครึ่งปี จำนวนนักท่องเที่ยวทะลุระดับ 2 ล้านคน

ข้อมูลการอัตราการเข้าพักอาศัยก็ปรับตัวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 42.58% เป็นระดับดีที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา

โดยหากสมมติให้จำนวนนักท่องเที่ยวในหกเดือนที่เหลือคงที่ที่ 760,000 คนต่อเดือนไปทั้งปี จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสิ้นปีกว่า 6.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6 ล้านคนเสียอีก

แต่ในตอนนี้ แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นไปอีก ทำให้เราอาจจะได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือนระดับเกินกว่า 1 ล้านคนเร็วกว่าที่คาด ซึ่งเป็นระดับประมาณ 1/3 ถึง 1/4  ของที่ไทยเคยได้รับในช่วงก่อนวิกฤติโควิดแล้ว

ซึ่งมันก็ส่งผลดีต่อเนื่องมาสู่ภาคบริการโดยรวมในด้านอุปสงค์ จากในแผนภูมิที่ 3 ที่แม้ว่า อุปสงค์โดยรวมจะยังอยู่ในระดับคงตัว แต่ดัชนีภาคบริการยังแสดงทิศทางการฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าโควิดได้ภายในสิ้นปีนี้

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี เรายังต้องจับตามองความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่อาจจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ในช่วงต่อไป ซึ่งก็จะส่งผลมาสู่เศรษฐกิจไทยได้ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ที่กำลังขยายตัวได้ดีพอสมควรเช่นกัน

โดยหากพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ตัวเลขดัชนีของไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 50.7 มาสู่ 52.4 ซึ่งเป็นการชี้ถึงระดับการขยายตัวทางกิจกรรมเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

*ระดับ PMI มากกว่า 50 เป็นจุดตัดแสดงว่า โดยรวมกิจกรรมเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มขยายตัวอยู่

แต่ดัชนีเดียวกันนี้ในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และจีน แม้จะยืนอยู่เหนือ 50 ในสหรัฐฯ และจีน แต่ก็ต่างปรับลดลงทั้งหมด แสดงถึงความกังวลใจต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น

อย่างในกรณีของประเทศสหรัฐฯ ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ติดลบไป 0.9% ถือเป็นการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ซึ่งถือเป็นสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิคแล้ว แต่ทางรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็ยังยืนกรานว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ยูโรโซนถือเป็นทวีปที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีปัญหาค่อนข้างมากและหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ยาก

อันเกิดมาจากภาวะราคาพลังงานที่สูงจากสงคราม จนหลายประเทศในยูโรโซนจำเป็นต้องทำการปันส่วนการใช้ไฟฟ้ากันแล้ว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ PMI ตกไปต่ำกว่าระดับ 50 แสดงถึงการหดตัวแล้ว

ส่วนที่ประเทศจีน หลังจากดัชนี PMI ฟื้นตัวต่อเนื่องมา 2 เดือน หลังจากคลายล็อคดาวน์เมืองใหญ่  ก็กลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งมาสู่ระดับ 50.4 ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก ความกังวลใจในสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย

แต่สถานการณ์ต่างประเทศที่เป็นข่าวดีก็มีเช่นกัน นั่นคือ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ที่ทยอยปรับตัวลดลงมาอีกครั้งหนึ่ง มาสู่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสงครามในยูเครนแล้ว ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปัญหาอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ในระยะต่อไป ทำให้ธปท. อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงในการควบคุมเงินเฟ้อมาก

โดยการลดลงของราคาน้ำมันดิบ มีสาเหตุสำคัญสองประการ หนึ่ง คือ ความกังวลใจต่อสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ ที่จะทำให้ความต้องการซื้อน้ำมันลดลง และเหตุผลอีกประการ คือ น้ำมันจากรัสเซียสามารถหาช่องทางการส่งออกไปสู่ประเทศอื่นได้อยู่ แม้จะถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก

ดังนั้นในช่วงต่อจากนี้ไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพื่อปรับเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบปกติ (Policy Normalization) แต่ก็ยังต้องพิจารณาปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

โดยมีปัจจัยบวกมาจาก ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่กำลังฟื้นตัว และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยเสี่ยง มาจากโอกาสในการเกิดสภาวะถดถอยในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน เป็นสำคัญ

ตลาดเอเชียร่วงเช้านี้ (8 ส.ค.) กังวล Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยเดือน ก.ย.

ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับตัวลงในวันนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากตัวเลขจ้างงานของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค.

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,050.09 จุด ลดลง 125.78 จุด หรือ -0.44%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 20,065.35 จุด ลดลง 136.59 จุด หรือ -0.68% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,218.85 จุด ลดลง 8.18 จุด หรือ -0.25%

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 528,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 258,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%

นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% อีกครั้งในเดือนก.ย. ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐจะชะลอการขยายตัวเล็กน้อยในเดือนมิ.ย. โดยตัวเลขดังกล่าวมีกำหนดเผยแพร่ในวันพุธ (10 ส.ค.) แต่ดัชนี CPI พื้นฐานมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มเติม

ตลาดแทบไม่มีปฏิกิริยาต่อข่าววุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายวงเงิน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในวันอาทิตย์ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังมีการประนีประนอมเรื่องการจัดเก็บภาษีบางส่วนภายในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

ส่วนตลาดหุ้นจีนเปิดลบในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของจีน ซึ่งรวมถึงในเมืองไห่หนาน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19

ด้านข้อมูลจีนที่เผยแพร่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ยอดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายในเดือนก.ค. โดยปรับตัวขึ้น 18% ขณะที่ ยอดนำเข้าปรับตัวขึ้นเพียง 2.3% ในเดือนเดียวกัน


ที่มา : Bnomics - Bangkok Bank Economics

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/Slide_Thai_June2022_9cm5d.pdf

ติดต่อโฆษณา!