12 กรกฎาคม 2565
1,205

ทุนสำรองฯ ลด 1 ล้านล้านบาท เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 7 ปี ผู้ว่า ธปท. ย้ำไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed

ทุนสำรองฯ ลด 1 ล้านล้านบาท เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 7 ปี ผู้ว่า ธปท. ย้ำไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed
Highlight

สถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนหนัก เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 7 ปี ทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ เงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง ธนาคารกรุงไทย เผยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงเกือบ 3 หมื่นล้านเหรียญหรือเกือบ 1 ล้านล้านบาทนับจากต้นปีจากการบริหารค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ในขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการ ธปท. เผยว่าไทยไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตาม Fed เพราะบริบทต่างกัน

ธปท.ย้ำบาทอ่อน ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวในงานสนทนากับผู้ว่าการ หัวข้อ ‘ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม’ ในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2565 ตอนหนึ่งกล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 7 ปี และอ่อนค่าประมาณ 7% เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี 2565 นั้น มีปัจจัยหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น

“เข้าใจว่าตอนนี้เงินบาทอ่อนสุดในรอบ 7 ปี เลยเป็นข่าว และเป็นกระแสพอสมควร แต่ต้องเรียนว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาท หลักๆเลยมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งจริงๆเป็นเรื่องการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินเราอ่อน และถ้าดูในภาพรวม ถามว่าค่าเงินบาทของเราอ่อนค่าอย่างผิดปกติ หลุด หรือผิดเพี้ยนจากชาวบ้านโดยสิ้นเชิงหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เราอยู่กลางๆ บวกไปทางสูงหน่อย ซึ่งดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น 11-12% ตั้งแต่ต้นปีนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียง 7-8%

จึงเห็นได้ว่าค่าเงินบาทของเรา ไม่ได้อ่อนเท่ากับดอลลาร์ที่แข็ง แล้วมันมีเงินสกุลอื่นๆที่อ่อนมากกว่าเรา เช่น เยนญี่ปุ่น วอนเกาหลีใต้ และเปโซฟิลิปปินส์ ส่วนค่าเงินในบางประเทศก็อ่อนค่าลงเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้อ่อนเท่าเรา เพราะมันถูกขับเคลื่อนจากดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งกระแสนี้ มันเป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น เมื่อดอลลาร์แข็งเมื่อไหร่ แนวโน้มบาทก็อ่อน และเมื่อดอลลาร์อ่อนเมื่อไหร่ แนวโน้มบาทก็แข็ง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออกและผู้นำเข้า แม้ว่าจะมีข้อจำกัดต่างๆก็ตาม

“ธปท. ก็มีข้อจำกัดในการเข้าไปทำอะไรต่างๆพวกหนึ่ง และแม้ว่าเราชอบเรียกอัตราแลกเปลี่ยนว่า ‘ค่าเงินบาท’ ซึ่งเมื่อฟังดูแล้ว เมื่อมันเป็นเงินบาท ก็น่าจะเป็นอะไรที่เราคุมได้ แต่จริงๆแล้ว ค่าเงินบาทที่อยู่ที่ 30 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ มันคือราคาของดอลลาร์ เมื่อมันคือราคาของดอลลาร์ การที่ ธปท. จะไปควบคุม หรือจะไปกำหนดทิศทางราคาของดอลลาร์ มันก็เริ่มเห็นข้อจำกัด เราทำได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องทิศทางมันเป็นไปตามกลไกตลาด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ธปท. ไม่อยากเห็น คือ การปรับที่เร็วเกินไป ถ้าเร็วเกินไป จะทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าอาจมีความลำบากในการปรับตัว เพราะบ้านเราผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีการทำประกันความเสี่ยงฯต่ำ โดยเฉพาะรายเล็ก เราจึงไม่อยากเห็นอะไรที่เร็วเกินไป และที่ผ่านมาเราไม่เห็นว่าเงินทุนมีการเคลื่อนย้ายมหาศาลอะไรขนาดนั้น ไม่ได้เห็นว่ามีอะไรที่ผิดปกติ เพราะหลักๆเป็นเรื่องดอลลาร์ที่เปลี่ยนค่า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า แต่เมื่อมองไปข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาอ่อนค่า หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเปลี่ยนแปลงไป

“เป็นไปได้ที่ดอลลาร์จะกลับมาอ่อนอีก ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเปลี่ยน หรือมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะทำอะไร ของพวกนี้สวิงได้ตลอดเวลา จึงต้องกลับมาที่เรื่องการทำ Hedging ที่เหมาะสม และการดูแลไม่ให้การเคลื่อนไหวปรับเร็วเกินไป ซึ่งจะต้องปรับกรอบการกำกับดูแล (regulation framework) ให้สะดวกสบาย ลดเงื่อนไขต่างๆ บางอย่างที่มาจากยุคปี 2540 เราต้องปรับ ไม่เอียงด้านใดด้านหนึ่ง รวมทั้งลดต้นทุนของการ Hedging” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวชัดเจน และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอุปสงค์ในประเทศที่ยังเติบโต เพราะรายได้ของคนปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ของครัวเรือนระดับกลางและระดับล่างกลับมาขึ้นมา เทียบกับปีก่อนๆที่ติดลบไปมาก ขณะที่รายได้ของครัวเรือนเกษตรกรยังเติบโต ส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจน่าจะไปได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงความเพิ่มขึ้นจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากสงครามบวกกับการคว่ำบาตร และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

“ความเสี่ยงหลักๆในแง่เศรษฐกิจ ตัวใหญ่ที่สุด เหนื่อยที่สุด หนักที่สุด เป็นห่วงที่สุด คือ ท่องเที่ยว ตอนนี้สัญญาณมันดี เพราะคนอัดอั้น อยากกลับมาท่องเที่ยว ถ้าเป็นไปตามแนวโน้มนี้ ตัวเลขจะออกมาดี โดยเราประมาณการว่านักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มจีดีพีได้ 0.4% และถ้าไม่มีอะไรประหลาดๆเกิดขึ้น เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส คนไม่เดินทาง ก็น่าจะฟื้นได้ ซึ่งอันนั้นเป็นใหญ่ที่สุด ส่วนอีกอัน คือ เรื่องเงินเฟ้อ” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า แม้ว่าในขณะนี้การดูแลเงินเฟ้อถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและธปท. แต่การดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท. ใช้กรอบดูแลเงินเฟ้อที่เรียกว่า flexible inflation targeting หรือ การดูแลเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น นั้น ไม่ได้หมายความว่า เงินเฟ้อจะต้องอยู่ในกรอบที่
1-3% ตลอดเวลา โดยกรอบเงินเฟ้อดังกล่าวแต่กรอบระยะปานกลาง ซึ่ง บางช่วงอาจหลุดจากกรอบบ้าง แต่ในระยะยาวต้องอยู่ในกรอบ รวมทั้งต้องเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

“ธปท.จะต้องทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อ ‘ไม่ติด’ คือ ต้องไม่ให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ก็คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อข้างหน้า ถ้าคนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะวิ่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดแล้ว และโอกาสจะกลับมาอยู่ในกรอบก็น้อย
ดังนั้น หน้าที่ของ ธปท. คือ ต้องยึดเหนี่ยวไม่ให้คาดการณ์เงินเฟ้อหลุดไป เพราะถ้ามันหลุดไป การดึงกลับมามันยาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ขณะนี้ตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ยังคงเชื่อว่า เงินเฟ้อระยะยาวยังอยู่ในกรอบ แม้ว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นจะเริ่มวิ่งแล้ว ส่วนการดูแลเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ขอย้ำว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามจำเป็น และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

“ช่วงหลังผมเห็นเยอะมาก ท่านๆก็คงเห็นตามบทวิเคราะห์ ตามสื่อ บอกว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างนี้ๆ เราก็ต้องขึ้นตามแบบนี้ๆ เร็วแบบสไตล์เขา แต่อย่างที่เรียน บริบทเขากับบริบทเรามันต่างกันโดยสิ้นเชิง บริบทประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐ ยุโรป เขาเจอบริบทที่อุปสงค์เขาโตเร็วมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันไปเร็ว ไปแรง เขาอยู่ในอีกช่วงหนึ่งของวัฏจักรเศรษฐกิจ เขาเศรษฐกิจ over heat ตลาดแรงงานเขามาแรงมาก แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ของเรา เราเพิ่งเริ่มฟื้น

โจทย์ของต่างชาติ คือ ทำอย่างไร ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อควบคุมเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจเขา soft landing แต่ของเราไม่ใช่ soft landing โจทย์ของเรา คือ ทำให้การฟื้นของเรา มันไปได้ต่อเนื่อง เป็นเรื่อง Smooth takeoff ให้ takeoff ได้อย่างไม่สะดุด ดังนั้น การ take action ของนโยบายการเงิน ทางฝั่งดอกเบี้ยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันไม่ใช่บทแบบที่เห็นในเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง โจทย์ของเราเป็นเรื่องการถอนคันเร่ง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ และต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย ดังนั้น เมื่อบริบทต่างๆเปลี่ยนไป ธปท.ก็ต้องถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรก และไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกับที่สหรัฐและยุโรป รวมทั้ง ธปท.ได้มีมาตรการเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว

ที่มา : Prachachart, Issaranews

ติดต่อโฆษณา!