24 มิถุนายน 2565
1,497

ใครได้-ใครเสีย จากเงินบาทอ่อนค่า

ใครได้-ใครเสีย จากเงินบาทอ่อนค่า บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์เงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลต่อหุ้นในหลายมิติ โดยมีหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์หลายกลุ่ม และกลุ่มที่เสียประโยชน์ ประกอบด้วย 

กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์ 
    
กลุ่มรับเหมา-ก่อสร้าง

SCC : ธุรกิจ Chemical การ Quote ราคาไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศหรือการส่งออกจะเป็น Dollar Link จึงได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า ส่วนธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและ Packaging ค่อนข้างจาก Neutral จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ทำให้ Net Impact แล้ว เงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี เทียบกับฐานกำไร 4 หมื่นล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของประมาณการกำไรทั้งปี

TPIPL : มีรายได้จากการส่งออกประมาณ 35% ของรายได้รวม หลักๆคือการส่งออก EVA และปูนเม็ด โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 2-300 ล้านบาท/ปี เทียบกับฐานกำไร 3-5 พันล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ของประมาณการกำไรทั้งปี

TASCO : นำเข้า Crude เป็น USD ทั้งหมด โดย Crude ที่นำเข้าจะผลิตยางมะตอยเพื่อส่งออกเกือบทั้งหมด โดย Crude คิดเป็นสัดส่วน 85-90% ของต้นทุนการผลิต โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 33 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของประมาณการกำไรทั้งปี

STPI : มีเงินฝากสกุลดอลลาร์ประมาณ 60 MUSD เนื่องจากธุรกิจหลักของ STPI เป็นการผลิตโครงสร้างเหล็กและประกอบ Module ทำให้เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 30 ล้านบาท

BJCHI : มีสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์ประมาณ 50 MUSD เนื่องจากธุรกิจหลักของ BJCHI เป็นการผลิตโครงสร้างเหล็กและประกอบ Module สำหรับลูกค้าต่างประเทศในธุรกิจ Oil&Gas ซึ่งต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสกุล USD ทำให้เงินบาทที่อ่อนค่าทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิประมาณ 50 ล้านบาท
 
VNG มีรายได้จากส่งออก : ขายในประเทศ สัดส่วน 80:20 โดยการอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 THB/USD จะส่งผลให้กำไรสุทธิปรับเพิ่ม 48 ล้านบาท คิดเป็น 3.2% ของประมาณการกำไรปี 2565

กลุ่มเกษตร-อาหาร

กลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้ส่งออก จึงได้ประโยชน์จากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งอ่อนค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯโดยทิศทางค่าเงินบาทปัจจุบัน จะส่งผลบวกต่อแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2565 ของกลุ่มเกษตรอาหารให้เพิ่มขึ้น 12.0% จากปัจจุบัน (หรือราว 3.9 พันล้านบาท) มาที่ 3.6 หมื่นล้านบาท

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้ส่งออก เนื่องจากมีกลุ่มชิ้นส่วนไทยสัดส่วนรายได้ราว 70-100% เป็นดอลลาร์ฯ แต่มีสัดส่วนต้นทุนราว 50% เป็นสกุลเงินดอลลาร์ฯ จึงได้ประโยชน์จากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องซึ่งค่าเงินบาทปัจจุบันค่ากว่าสมมติฐานค่าเงินบาทปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยกำหนดไว้ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเพิ่มสมมติฐานค่าเงินบาทขึ้นเป็น 34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลบวกต่อแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2565 ของกลุ่มชิ้นส่วนฯให้เพิ่มขึ้น 12.6% จากปัจจุบัน (หรือราว 1.9 พันล้านบาท) มาที่ 1.78 หมื่นล้านบาท

กลุ่มพลังงาน

กลุ่มพลังงานมี 2 บริษัท ที่มี functional currency เป็น dollar จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท ได้แก่ BANPU และ PTTEP ส่วนบริษัทอื่นๆในกลุ่มพลังงาน (อาทิ PTT, TOP, PTTGC, IRPC เป็นต้น) จะบันทึกเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหากค่าเงินบาทอ่อนค่า เพราะยังมีหนี้สินเป็นสกุลดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผลกระทบของ AP และ AR เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่ในส่วนของการทำกำไรจะไม่กระทบมากนัก เพราะทั้งขารายได้ และต้นทุน ต่างเป็น dollar link ทั้ง 2 ขา ส่วนใหญ่จึงไม่ได้กระทบในเรื่องของประสิทธิภาพการทำกำไรมากนัก

กลุ่มหุ้นที่เสียประโยชน์ 

กลุ่มโรงไฟฟ้า

บริษัทส่วนใหญ่ หากสกุลเงินบาทอ่อนค่าจะได้รับผลกระทบในแง่ของการกู้ยืมเป็นเงินสกุลต่างประเทศ โดยกรณีบาทอ่อนค่าจะต้องแปลงค่าเงินบาทเป็นสกุลต่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และบันทึกเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างบริษัทที่เสียประโยชน์จากบาทอ่อนได้แก่ BGRIM, GULF, EGCO, BCPG, GUNKUL, TPIPP เป็นต้น

บาทอ่อนค่าเพิ่มอีก

นายพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24 มิ.ย.) ที่ระดับ  35.50 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่าในระยะสั้นนี้ เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าในช่วงระหว่างวันไปทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทล่าสุดอ่อนค่าแตะแนวต้านก่อนหน้าที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งแกร่งและมีแรงหนุนต่อเนื่อง กอปรกับ แรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้

ด้านนายนรวิชญ์ เวทไว ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และระหว่างวันมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างรุนแรง 

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในปีนี้ ยังอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เกาะกลุ่มกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ที่เงินบาทเกือบจะอ่อนค่าสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค

ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และมีการเปิดประเทศมากขึ้น ก็คาดว่าในปลายไตรมาส 3 หรือช่วงไตรมาส 4 เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าจากระดับปัจจุบันได้

“ตอนนี้เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกไทย อาจจะทำ Hedging (ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน) ช่วงสั้นๆ ในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี ส่วนผู้นำเข้าที่ในช่วงต้นไตรมาส 2 ทำ Hedging ไว้เยอะ แต่ออร์เดอร์ใหม่ ให้ conservative Hedging เพราะเงินบาทคงยังไม่กลับมาแข็งค่าได้ไว” นายนรวิชญ์ กล่าว

KBANK คาด ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ แนวโน้มบาทอาจอ่อนค่าเพิ่ม

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตลาดล่วงหน้าคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบแรงได้อีก และจะทำให้ ณ สิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยของเฟด จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ได้ และมีสัญญาณจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นที่ส่งสัญญาณว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้น

นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ต้องเจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ก็จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรอบการประชุมในเดือนส.ค. และเดือน พ.ย.

คงต้องขึ้นในเดือนส.ค.ก่อนเป็นรอบแรก และดูว่าคนไข้แพ้ยามากแค่ไหน ดูว่าการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ดูอาการคนไข้ก่อน ถ้าได้ในสิ่งที่พึงประสงค์ คือเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อลดลง ก็ค่อยมาขึ้นในเดือน พ.ย.อีกรอบ” นายกอบสิทธิ์ กล่าว

น.ส.กฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการ งานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จากเดิม 4.9% 

ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันหลักต่อการพิจารณานโยบายการเงินของ ธปท. โดยคาดว่ามีโอกาสที่ ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงการประชุมที่เหลือ 3 ครั้งของปีนี้
ติดต่อโฆษณา!