16 มิถุนายน 2565
1,111

Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.75% หวังสยบเงินเฟ้อตามคาด ธปท.ส่งสัญญาณปรับขึ้นตาม

Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.75% หวังสยบเงินเฟ้อตามคาด  ธปท.ส่งสัญญาณปรับขึ้นตาม
Highlight
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.75% แม้จะเป็นไปตามคาด แต่ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล บอกชัดเจนว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกหลายครั้ง และขึ้นครั้งละ 0.75% อาจจะมีอีก 1-2 ครั้ง สร้างความวิตกให้นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก นักวิเคราะห์คาดธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามเช่นกัน และคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หุ้นไทยปิดตลาดร่วง 32 จุด ปิด หรือ -2.04% ปิดที่ 1,561.10 จุด มูลค่าซื้อขาย 97,738.92 ล้านบาท


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หวั่นธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537แถมคาด Fed จ่อขึ้นอีก 1.75% ในปีนี้ โดยทยอยขึ้นอีก 4 ครั้ง จะกลายเป็นสัญญาณเตือนฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 10 - 1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% (75 bps) สู่ระดับ 1.50 - 1.75% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่ปี 2537 นั้น

นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตรงตามคาดการณ์ของตลาด หลังตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมออกมาเร่งตัวขึ้นสวนกับที่คาด ประกอบกับคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาว ของผู้บริโภคโดย U. of Michigan ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

โดยนาย Jerome Powell ประธาน Fed ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า มีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 26 - 27 กรกฎาคมนี้ อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 75 bps อีกครั้ง หรืออาจปรับขึ้นอีก 50 bps

20220616-a-01.jpg

สำหรับแนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot Plot) ชี้ว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นจนสู่ระดับ 3.25 - 3.50% ณ สิ้นปีนี้ หรือปรับขึ้นอีก 1.75% (175 bps) ซึ่งมีมุมมองที่เข้มงวดกว่าเดิมจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไปแตะระดับ 1.75 - 2.00% เท่านั้น 

สำหรับปี 2566 คาดว่า Fed จะปรับขึ้นแตะระดับ 3.5 - 3.75% และลดลงอยู่ที่ระดับ 3.25 - 3.5% ในปี 2567 โดยคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.5% จากเดิม 2.4% ด้านประมาณการเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นสอดรับกับมุมมองดอกเบี้ยที่เข้มงวด (Hawkish) ขึ้นอย่างมาก โดยปรับเงินเฟ้อ PCE ปีนี้ขึ้นเป็น 5.2% จากเดิมเดือน มี.ค. ที่ 4.3%

นายคมศรกล่าวว่า สำหรับมุมมองจากสถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้คาดว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ช้า นับเป็นแรงกดดันสำคัญให้ Fed ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดย Dot Plot ล่าสุดชี้ Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1.75% (175 bps) ในปีนี้ สู่ระดับ 3.25 - 3.50%

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับดังกล่าว ณ สิ้นปี สามารถดำเนินการได้หลายแบบ แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 0.75% (75 bps) ต่อเนื่องในการประชุมเดือนกรกฎาคมด้วย ก่อนที่จะลดลงเป็นอัตรา 0.50% (50 bps) ในการประชุมเดือนกันยายน และเป็นอัตราปกติที่ 0.25% (25 bps) ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เข้มงวดขึ้นอย่างมากนับเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจให้ชะลอลงอย่างรวดเร็วจนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด 

โดย Bloomberg Economics มองความเสี่ยงเกิด Recession ต้นปี 2567 มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 72% จากเดือนเมษายนที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 45% ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่าเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นและมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยไทยกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อเป็น 6.6% ในปี 2022 และ 3.1% ในปี 2023 สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาค่าครองชีพ ต้นทุน และส่งผลต่อเนื่องกับภาระการชำระหนี้ของครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้น สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยซึมยาว

เงินเฟ้อที่คาดไม่ถึง

ในเดือนพฤษภาคมตัวเลขเงินเฟ้อในไทยพุ่งสูงขึ้นไปถึง 7.1% เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ช่วงก่อนหน้าในสหรัฐอเมริกาที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาชั่วคราวและจบลงในช่วงกลางปี 2021 แต่กลับยังยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน
KKP Research ประเมินว่าแม้ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการเปิดเมืองอาจจะเริ่มคลี่คลาย แต่มีโอกาสที่เงินเฟ้อโลกและไทยจะยังคงอยู่ในระดับสูงและยังไม่ชะลอตัวลงจาก 3 เหตุผล คือ 

1. นโยบายการเงินตอบสนองต่อเงินเฟ้อช้า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกับตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ 1970-1980 สะท้อนว่านโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย และเป็นตัวเร่งอุปสงค์ให้ยังเติบโตร้อนแรง

2. การส่งผ่านของเงินเฟ้อไปยังสินค้าต่าง ๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง  ในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีราคาสินค้าที่เตรียมปรับขึ้นอยู่อีก ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากจากปัญหาต้นทุนและการข้อจำกัดด้านอุปทาน และราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้ค่าเช่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้ให้เงินเฟ้อสหรัฐ ฯ ค้างอยู่ในระดับสูงในปี 2023

3. ปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันและอาหาร และความเสี่ยงด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลกที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะคลี่คลายลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศจะยังมีมาก และนโยบายการเงินทั่วโลกจะมีทิศทางตึงตัวชัดเจนขึ้นจะกดดันให้ กนง. เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไป  โดยคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ และปรับขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2023

โลกเปลี่ยน ดันเงินเฟ้อสูงยาวหลายปี

ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้น่ากังวลแค่ในระยะสั้นแต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาวครอบคลุมถึงทศวรรษหน้า จากกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนทิศทางอย่างถาวร คือ

1.  การเข้าสู่จุดสูงสุดของยุคโลกาภิวัตน์ การเข้าร่วมการค้าโลกของจีนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั่วโลกถูกลง อย่างไรก็ตามค่าจ้างแรงงานในจีนที่สูงขึ้นพร้อมกับภาวะเริ่มขาดแรงงาน ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่โตต่ำ สัญญาณความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งจีนและสหรัฐ ฯ และรัสเซียและยูเครน การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ เป็นสัญญาณสะท้อนจุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์ 

2. อำนาจตลาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง บริษัทในสหรัฐมีแนวโน้มครองอำนาจตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว  เช่น ธุรกิจ E-commerce และ 3) สังคมสูงวัยในระดับโลกอาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้ว่าผู้สูงอายุจะบริโภคสินค้าน้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว แต่ปัจจัยสำคัญอีกทางหนึ่งคือสัดส่วนระหว่างคนสูงอายุเทียบกับประชากรวัยทำงาน กำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง บ่งบอกว่าแรงงานและกำลังการผลิตกำลังลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้บริโภค

เงินเฟ้อเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้มีความเสี่ยงกำลังจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วงปลายปี 2023 ถึงปี 2024  โดยสถิติในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสู่กับภาวะเงินเฟ้อ จะนำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเกือบทุกครั้ง และสัญญาณจากตลาดการเงินที่ต้องจับตาดู คือ Inverted Yield Curve ซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนภาวะเศรษฐกิจถดถอยประมาณ 1 ปี  แม้ในปัจจุบันตลาดการเงินยังหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ Soft-landing หรือภาวะที่ไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย แต่ KKP Research มองว่ามีโอกาสน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในภาวะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อกำลังรุนแรงขึ้น

มาตรการช้าเกินไป

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยยังแสดงความกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อน้อยมาก เมื่อย้อนดูเหตุกาณ์เงินเฟ้อในสหรัฐ ฯ ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปก่อนไทย ทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับในสหรัฐ ฯ ที่คาดการณ์เงินเฟ้อผิดพลาด โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงที่จะต่ำเกินไป จากทั้งผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันต่อราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ยังมีต่อเนื่อง มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลดลง และค่าเงินบาทที่เริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้า 

KKP Research ได้ปรับการคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเป็น 6.6% ในปี 2022 และ 3.1% ในปี 2023 และคาดการณ์ว่าแรงกดดันในปัจจุบันจะทำให้ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปี 2022 และขึ้นอีก 4 ครั้งในปี 2023 อย่างไรก็ตามการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะทำให้การควบคุมเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น และ ธปท. อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม

ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย

นอกจากปัญหาเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมากผ่านช่องทางการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในปี 2022 และ 2023 อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติม และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่ได้รับการส่งผ่านราคาและแรงกดดันที่มาจากภาวะเงินเฟ้อโลกและราคาน้ำมัน 

แนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่เปลี่ยนไปในระยะยาวและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลให้ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนไทยปรับตัวสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในประเทศได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเปราะบางต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากด้วย

ติดต่อโฆษณา!