การลงทุนใน Private Equity คืออะไร ทำไมจึงน่าลงทุน
Highlight
ปัจจุบันมีกองทุนที่เริ่มมานำเสนอการลงทุนในรูปแบบ Private Equity ให้กับนักลงทุน เรามาทำความรู้จัก Private Equity เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสียก่อนที่ตัดสินใจเลือกลงทุน
การลงทุนใน Private Equity คือการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหรือหุ้นของบริษัทที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในบริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง ยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แล้วแต่ยังไม่มีกำไร จึงต้องใช้ช่องทางการระดมทุนในการขยายธุรกิจผ่านการขายหุ้นนอกตลาดให้กับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและสามารถลงทุนได้ในระยะยาว โดยนักลงทุนจะคาดหวังการทำกำไรในอนาคต เมื่อบริษัทนอกตลาดนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือขายหุ้นต่อให้ผู้ลงทุนรายอื่น
นอกจากนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นปัจจุบัน การลงทุนใน Private Equity กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง เนื่องจากหลายธุรกิจขาดสภาพคล่องและกำไรลดลง ทำให้มีบริษัทที่ต้องการขายและต้องการเพิ่มทุนจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับการลงทุนใน Private Equity ที่จะสามารถเข้าไปซื้อบริษัทที่ดีในราคาที่ต่ำลงเพื่อที่จะนำมาเสริมศักยภาพให้เติบโตและสามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้
Private Equity แบ่งเป็นการลงทุนเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
1. การลงทุนในบริษัทที่เป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น (Startup) ที่ต้องการเงินทุนและเป็นบริษัทที่มีโอกาสการเติบโตสูง มีรายได้และกำไรเติบโต และมีโอกาสที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนรูปแบบนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงมากเพราะเป็นการลงทุนล่วงหน้าในต้นทุนที่ตำ่กว่าก่อนที่บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ระยะเวลาการลงทุนจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสร้างการเติบโตของบริษัท ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องตรวจสอบและประเมินมูลค่ากิจการ และศักยภาพการเติบโตก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ระยะเวลาการลงทุนอาจยาวนานในระดับ 3-5 ปีขึ้นไป
2. การลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโตหรือขยายกิจการ (Growth/ Expansion) ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าและรายได้ชัดเจน มีผลประกอบการที่ดี แต่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกิจการ เพิ่มศักยภาพด้วยเป้าหมายที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นการเข้าซื้อหุ้นบริษัท 2-3 ปีก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
3. การลงทุนเพื่อนำธุรกิจออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อปรับองค์กรและดำเนินกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ (Buyout) โดยผลกำไรในการลงทุนหุ้นเหล่านี้จะเกิดจากการนำหุ้นกลับเข้าตลาดหรือขายหุ้นให้ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการลงทุนเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจหรือกลยุทธ์ในบริษัทที่ประสบปัญหา
Private Equity เป็นการลงทุนที่นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนในกองทุน Private Equity คือ นักลงทุนสถาบัน ซึ่งล้วนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญของภาครัฐ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย บริษัทประกัน ธนาคารและสถาบันการเงิน และต้องลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ที่ไม่รับเงินลงทุนจากลูกค้ารายบุคคล
บทสรุป
การลงทุนในกองทุน Private Equity เป็นการเปิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันราคาหุ้นโลกปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนขึ้นลงแรง การกระจายความเสี่ยงเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพแต่ยังมีการเข้าถึงการลงทุนที่จำกัด จึงมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตของพอร์ตการลงทุนได้ แต่ข้อเสียของการลงทุนคือมีสภาพคล่องต่ำ ผู้ลงทุนต้องสามารถลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไปหรือมากกว่านั้น และเงินลงทุนขั้นต่ำต้องใช้วงเงินสูง จึงเหมาะกับนักลงทุนวงเงินสูง ที่มีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลบริษัทที่มีศักยภาพได้ สามารถรับความเสี่ยงและรอระยะเวลาได้ การลงทุนดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้ทั้งธุรกิจเก่าและใหม่มีเงินทุนในการพัฒนา ปรับตัว เพื่อสร้างการเติบโตและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนในระยะยาว
ที่มา : Facebook & Youtube : Wealth Republic