17 เมษายน 2565
1,485

ผู้ว่า ธปท. ส่ง จม. เปิดผนึกถึงคลัง เหตุเงินเฟ้อพุ่งสูง คาด 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 4.1% จะกลับเข้ากรอบปี 66

ผู้ว่า ธปท. ส่ง จม. เปิดผนึกถึงคลัง เหตุเงินเฟ้อพุ่งสูง คาด 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 4.1% จะกลับเข้ากรอบปี 66
Highlight

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะ 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าอยู่ที่ 4.1% และเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 ในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงสู้รบกันอย่างเข้มข้น ราคาสินค้าในประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอีก


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เพื่อชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 65 กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาส 2 ปี 65 – ไตรมาส 1 ปี 66) จะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มจะสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push shocks) เป็นสำคัญ ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ

ธปท.แจงคลัง ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ

1. ปัจจัยด้านอุปทานจากต่างประเทศ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงาน และราคาโภคภัณฑ์โลกปรับสูงขึ้นมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม

2. ปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ จากโรคระบาดในสุกร และการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งนัก จากเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัว และยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.0% จากราคาอาหารสำเร็จรูปที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง.มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้ มาจากผลของฐานที่ต่ำของราคาน้ำมันและมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐในปี 64 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยลดลงในไตรมาส 4 ของปีนี้

นอกจากนี้ ราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันของกลุ่มโอเปค และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นปี 66

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางที่สะท้อนจากข้อมูลตลาดการเงิน ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าบางประเภท สะท้อนความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางได้ ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม กนง. เห็นว่าภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงินนั้น กนง.ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

โดยประเมินว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน และรายได้ของภาคธุรกิจ และประชาชนให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง สามารถรองรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ขณะที่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานในระยะสั้นที่ผันผวนสูงเป็นสำคัญ

ดังนั้น นโยบายการเงินที่ต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นต้องมองผ่านความผันผวนในระยะสั้น และให้ความสำคัญกับนโยบายการเงิน ที่มุ่งจะรักษาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่ามาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะมาตรการการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด ขณะที่นโยบายการเงินยังผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภาวะการเงินโดยรวม 

นอกจากนี้ มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่มีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่อง และช่วยลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินและไม่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพระบบการเงิน

ติดต่อโฆษณา!