16 มกราคม 2563
1,596
รวยหุ้น รวยลงทุน ปี 7 ตอน รู้เรื่องประกันสังคม สิทธิประโยชน์ตอบโจทย์ทุกคน | สำนักงานประกันสังคม
Highlight
– 80% ของการว่างงาน เป็นการลาออก , 15% ของการว่างงาน เป็นการถูกเลิกจ้าง
– “ว่างงาน” เราจะได้เงินชดเชยจากประกันสังคมเท่าไหร่?, 3 Step ที่ต้องทำหลังลาออก
– ไม่ได้ทำงานประจำ ทำประกันสังคมได้หรือไม่?
ได้ยินข่าวบริษัทโน้น บริษัทนี้ประกาศเลิกจ้างพนักงานกันนับร้อยๆ คน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการปรับโครงสร้างองค์กร หรือการขาดทุนของบริษัท
สำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายๆท่าน คงจะคุ้นเคยกันดีกับยอดเงิน 750 บาทที่มักจะถูกหักออกจากบัญชีเงินเดือนทุกๆเดือน
ยามทุกข์ยาก ตกงาน เคว้งคว้างหลังลาออก… เงินสมทบประกันสังคมนี้ สามารถเป็นตัวช่วยยามว่างงาน ในรูปแบบเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมได้ด้วย
“จากข้อมูลของประกันสังคม 80% ของการว่างงาน เป็นการลาออก เช่น ย้ายไปทำอาชีพอิสระ หรือ เปลี่ยนงานที่ไม่ชอบไปหางานใหม่ เป็นต้น ขณะที่การถูกเลิกจ้าง มีสัดส่วน 15% ”… จากข้อมูลของคุณ บุปผา พันธ์ุเพ็ง ผอ.สิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม
ประกันสังคม จะมีรูปแบบการประกันตนทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน
โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรา คือ…
1. พนักงานเอกชนทั่วไป (มาตรา 33)
2. อดีตพนักงานที่ลาออกแล้ว (มาตรา 39)
3. ฟรีแลนซ์ แรงงานนอกระบบ (มาตรา 40)
ซึ่งการประกันตนในแต่ละมาตราก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ เราต้องส่งเงินประกันตนให้ภาครัฐทุกเดือน
“ว่างงาน” เราจะได้เงินชดเชยจากประกันสังคมเท่าไหร่?

• กรณีถูกเลิกจ้าง
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ได้รับเงินชดเชย 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
• กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
Step ที่ต้องทำหลังลาออก เริ่มจากตรงไหน?
✍️ ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน : หรือขึ้นทะเบียนผ่านทาง Website กรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน ภายใน 30 วัน (ถ้าล่าช้ากว่า 30 วัน สิทธิประโยชน์ที่ได้จะลดทอนลงไป)
✍️ ยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคม : ให้ผู้ประกันตนมายื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สปส. 2-01/7 พร้อมเอกสารประกอบการยื่นแบบคำขอ ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน ส่งสำเนาแบบคำขอ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศที่สะดวก
✍️ รอรายงานตัว/รอรับเงินชดเชย : รายงานในระบบตามเงื่อนไขของสำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง สำนักงานจัดหางาน (https://empui.doe.go.th) ตามกำหนดเวลาในแต่ละเดือน
ไม่ได้ทำงานประจำ ทำประกันสังคมได้หรือไม่?
👉🏻 กรณีเคยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วลาออก หรือ เลิกจ้าง สามารถสมัครประกันตนเองตามมาตรา39 ได้ เป็นผู้ประกันตนแบบสมัครใจ แบบไม่มีนายจ้าง ซึ่งผู้ประกันตนต้องส่งเงินเอง 432 บาท ต่อเดือน สิทธิทุกอย่างเหมือนตอนที่อยู่ในระบบมาตรา 33 ทั้งหมด ไม่ว่า เจ็บป่วย คลอดบุตร เสียชีวิต ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ (ยกเว้นกรณีว่างงาน ที่ไม่ครอบคลุมเท่านั้น) สมัครเข้ามาตรา 39 เพียงใช้แค่บัตรประชาชน
👉🏻 กรณีไม่เคยทำงานประจำมาก่อนเลย คนที่เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ นั่นคือเหล่าแรงงานนอกระบบ เราสามารถทำประกันสังคมได้เช่นกัน เพียงแค่สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 … ไขข้อสงสัยจาก ผอ.สิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม
ทางเลือกนี้ครอบคลุมทุกปัญหาหลัก และไม่กระทบต่อสิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มั่นใจด้วยการให้หลักประกัน และความคุ้มครองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐโดยตรง!!
ด้วย 3 ทางเลือก

☑️ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี
⁃ ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย รับค่าทดแทนขาดรายได้ ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าชดเชย กรณีที่นอนโรงพยาบาล แต่สิทธิค่ารักษายังคงใช้จากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่
⁃ ทุพพลภาพ รับค่าทดแทนขาดรายได้
⁃ กรณีเสียชีวิต รับเงินค่าจัดการศพ
☑️ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท/เดือน (มีเงินออม 50 บาท /เดือน)
ทางเลือกนี้ นอกจากครอบคลุม 3 สิทธิประโยชน์ ข้างต้น จะมีเพิ่มเติมในกรณีชราภาพ ในรูปแบบเงินออม เมื่ออายุครบ 60 ปี และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ โดยมีเงื่อนไขที่ต้องจ่ายสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 วัน
☑️ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท/เดือน (มีเงินออม 150 บาท /เดือน)
นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ครอบคลุม 4 กรณีข้างต้น ทางเลือกนี้เพิ่มเติม เงินสงเคราะห์บุตร ได้รับเงิน 200 บาท /เดือน (ต่อบุตร 1คน ) ใช้สิทธินี้ได้คราวละไม่เกิน 2 คน รวมถึงวงเงินชดเชย ก็จะสูงกว่า
เรียกได้ว่า …คุ้มเกินคุ้ม ประกันสังคมมาตรา 40 เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่จะสร้างหลักประกันให้กับตัวคุณเองเมื่อถึงคราวจำเป็น
ขั้นตอนสมัครประกันสังคมมาตรา 40
การประกันตนเองสำหรับแรงงานนอกระบบหรือฟรีแลนซ์ ในยุคนี้ได้ประโยชน์มากจริงๆ ด้วยขั้นตอนเพียง
1. กรอกแบบคำขอผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ที่นี่ www.sso.go.th/wpr/
2. ยื่นใบสมัครที่สำนักงานประกันสังคม
3. ใช้หลักฐานการสมัครดังนี้
– บัตรประจำตัวประชาชน
– แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40
จะเห็นได้ว่า ประกันสังคมที่เราทำในทุกๆเดือนนั้น จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการสมทบทุนหากเกิดกรณีต่างๆกับเรา
สามารถสอบถามข้อสงสัยต่างๆ ได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม 1506 กด 1 บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ

www.sso.go.th/wpr/
ข่าวยอดนิยม

6 แอปฯ "ออมทอง" ไม่ต้องมีเงินก้อน ก็เริ่มลงทุนได้ !

7 แอป สร้างรายได้เสริม ไม่ต้องออกจากบ้าน ก็หาเงินได้!

ส่องรายได้คนขับส่งอาหาร ทางเลือกอาชีพยุคโควิด

6 บัญชี “ออมทรัพย์ดิจิทัล” ดอกเบี้ยดีต่อใจ สมัครง่ายผ่านออนไลน์ !
