06 มีนาคม 2565
3,255

“ประกัน” เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม - “ผู้ทำประกันเสียชีวิต ผลประโยชน์ตกเป็นของใคร?”

“ประกัน” เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม - “ผู้ทำประกันเสียชีวิต ผลประโยชน์ตกเป็นของใคร?”
Highlight

ประเทศที่มีการทำประกันมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส (จัดอันดับจากเบี้ยประกันรวม) สำหรับประเทศไทยของเราอยู่ที่อันดับ 31 โดยทำประกันรวมอยู่ที่ 21,696 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 30% บางคนมีมากกว่า 1 ฉบับ วงเงินคุ้มครองเฉลี่ย 193,000 บาท (สถิติปี 2014) กรณีที่ผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตแต่ไม่ระบุผู้รับผลประโยชน์เอาไว้ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำประกันจะตกเป็นของ ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับชั้น


ทราบหรือไม่ว่า การทำประกันของประชากรในแต่ละประเทศใช้เป็นตัวชี้วัดความเจริญหรือการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี 

ประเทศที่มีการทำประกันมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน และฝรั่งเศส (จัดอันดับจากเบี้ยประกันรวม) 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อดูจากการสำรวจในปี 2014 (ๅไม่ได้มีการสำรวจทุกปี) จะเห็นได้ว่า 

อันดับที่ 1 ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำประกันมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1,280,443 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อันดับที่ 2  ประเทศญี่ปุ่น 479,762 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ 
อันดับที่ 3 สหราชอาณาจักร 351,266 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อันดับที่ 4 ประเทศจีน 328,439 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และอันดับที่ 5 ประเทศฝรั่งเศส 270,520 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ 

ส่วนประเทศไทยของเรา อยู่ที่อันดับ 31 โดยทำประกันรวมอยู่ที่ 21,696 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

ความสำคัญกับการทำประกันชีวิตของคนประเทศต่างๆ

เมื่อดูจากวงเงินคุ้มครองหรือทุนประกันชีวิต จะพบว่าประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นประเทศที่ทำประกันในวงเงินที่สูงที่สุด คือราว 3 ล้านบาทต่อคน เมื่อเทียบกับชาวสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ราว 1.2 ล้านบาทต่อคน 

นอกจากนี้โดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นมีกรมธรรม์ 300% หรือเท่ากับว่า 1 คนจะมีกรมธรรม์ ถึง 3 ฉบับ นับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการทำประกันประกันชีวิตสูงที่สุด ซึ่งชาวญี่ปุ่นกว่าครึ่งต้องการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว ในกรณีที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร

ทว่าในระยะหลังผู้ซื้อประกันจำนวนไม่น้อยเริ่มให้ความสนใจกับกรมธรรม์ประเภทที่ครอบคลุมถึงการรักษาพยาบาล และการประกันรายได้หลังจากเกษียณด้วยเช่นกัน

แล้วสถิติการทำประกันชีวิตของคนไทยล่ะ?

ลองกลับมาดูที่ประเทศไทยกันบ้าง โดย ณ สิ้นปี 2014 ประเทศไทย มีจำนวนประชากรทั้งประเทศกว่า 65 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่มีผลบังคับอยู่ทั้งสิ้น 19 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 30% ของประชากรทั้งหมด นั่นแปลว่าในคนไทย 100 คน จะมีคนทำประกันชีวิตอยู่แค่ 30 คนเท่านั้น

ถึงตัวเลขกรมธรรม์ อาจจะดูเยอะ แต่ต้องอย่าลืมว่าในคนที่ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตทั้งหมด อาจมีบางคนที่ทำประกันชีวิตไว้มากกว่า 1 ฉบับ ดังนั้นจำนวนคนที่มีความคุ้มครองจากประกันชีวิตย่อมมีน้อยกว่า 30% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากตัวเลขกรมธรรม์ ที่น่าตกใจแล้ว ทุนประกันชีวิตหรือวงเงินความคุ้มครองโดยเฉลี่ยต่อคนของคนไทย อยู่ที่เพียงแค่ 193,000 บาทเท่านั้น  ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ ลองคิดดูว่า หากหัวหน้าครอบครัวจากไปก่อนวัยอันควร ครอบครัวจะได้เงิน จากประกันชีวิตไม่ถึง 2 แสนบาท เห็นแบบนี้แล้วเชื่อหรือยังว่า คนไทยทำประกันชีวิตกันน้อยจริงๆ

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ ที่ปรึกษาการเงิน กล่าวไว้ว่า ทุนประกันชีวิตคือการวัดค่าตัว ค่าความสามารถของคน ลองจินตนาการดูว่า หากเรามีอายุขัยตามสมควร เราจะสามารถสร้างรายได้ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากขนาดไหน 

แต่หากโชคร้ายจากไปก่อนวัยอันควร และไม่ได้มีการทำประกันอย่างเหมาะสม เท่ากับว่าค่าตัว ค่าความสามารถของเราจะกลายเป็นศูนย์ หายวับไปกับตา ยิ่งโดยเฉพาะหากผู้นั้นเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภรรยาและลูก หรือพ่อแม่ที่อยู่ภายใต้การดูแล เขาเหล่านั้นจะลำบากแค่ไหน 

นับได้ว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่าไม่ได้จริงๆ การรณรงค์ให้คนไทยมีการวางแผนประกันอย่างเหมาะสม จึงควรจะถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง

เกี่ยวกับการทำประกันชีวิต หรือประกันอุบัติเหตุ ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แท้กระทั่งข่าวดังล่าสุด ก็มีเรื่องประกันเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นหากเรามีความเข้าใจที่ดี จะไม่สร้างปัญหาตามมา 

กรณีที่ผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตแต่ไม่ระบุผู้รับผลประโยชน์เอาไว้ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำประกันจะตกเป็นของใคร

มีคำถามว่า กรณีที่ผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตแต่ไม่ระบุผู้รับผลประโยชน์เอาไว้ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการทำประกันจะตกเป็นของใคร คำตอบคือ บริษัทประกันจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กองมรดกหรือทายาทของผู้ทำประกัน

สำหรับผู้ที่มีชื่อในกองมรดกที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ ได้แก่ ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับชั้น ได้แก่

1. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วและบุตรบุญธรรม
2. พ่อแม่
3. พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน
4. พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา

ซึ่งกรณีที่ไม่ระบุผู้รับประโยชน์จะมีโอกาสเกิดปัญหากับผู้ที่อยู่ข้างหลัง เช่น แย่งผลประโยชน์จนถึงขั้นฟ้องร้อง หรือในกองมรดกอาจมีคนที่ไม่ต้องการยกผลประโยชน์ให้รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ทำประกันควรระบุผู้รับประโยชน์ให้เรียบร้อย

โดยทั่วไปบริษัทประกันจะให้ผู้ทำประกันและผู้รับผลประโยชน์ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฆาตรกรรมผู้ทำประกันเพื่อหวังเงินประกัน ซึ่งผู้รับประโยชน์แบ่งเป็น 3 ระดับ

ลำดับที่ 1 ได้แก่ คู่สมรส บุตร (รวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย)
ลำดับที่ 2 ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง
ลำดับที่ 3 ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา

ผู้ทำประกันสามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ จะระบุเพียง 1 คน หรือมากกว่าก็ได้ ถ้ามากกว่า 1 คนก็ระบุสัดส่วนของการรับผลประโยชน์แต่ละคนได้ แต่ถ้าไม่ระบุ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ในจำนวนที่เท่ากัน

นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ทำประกันแต่งงานแต่ไม่ได้จดทะเบียน หรือมีคู่รักเพศเดียวกัน ปัจจุบันมีบริษัทประกันหลายแห่งรับทำประกันแล้ว แต่ต้องแสดงหลักฐานเพิ่มเติมตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท อีกทั้ง ยังสามารถระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นมูลนิธิ วัด สภากาชาด หรือองค์กรเพื่อการกุศลต่างๆ ได้อีกด้วย

มีข้อสงสัยว่า ผู้ทำประกันระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์แต่คนละนามสกุล ซึ่งในทางกฎหมายสามารถทำได้ตามที่ต้องการ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทประกันอาจจะขอร้องให้เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย

การระบุผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นคนละนามสกุลกับผู้ทำประกันหรือไม่ใช่ญาติ หากผู้ทำประกันเสียชีวิตอาจนำมาซึ่งปัญหา ฝ่ายญาติที่แท้จริงอาจฟ้องร้องและสงสัยในการทำประกัน หรือญาติมองว่าผู้รับผลประโยชน์ทำการฆาตรกรรมเพื่อหวังเงินประกัน

เมื่อผู้ทำประกันต้องการเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ จะทำได้เมื่อยังไม่ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ และผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทประกันว่าตัวเองขอรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ฉบับนั้น

แต่ถ้าผู้ทำประกันได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับผลประโยชน์ และผู้รับผลประโยชน์ก็ได้ทำหนังสือไปยังบริษัทประกันเป็นที่เรียบร้อย กรณีนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ ผู้ทำประกันต้องหยุดส่งเบี้ยประกันหรือเวนคืนกรมธรรม์เท่านั้น

เมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ต้องแจ้งให้บริษัทประกันทราบโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 14 วัน หากเกินว่านี้ บริษัทจะขอข้อมูลและพิสูจน์ถึงเหตุผลการแจ้งล่าช้า โดยผู้รับผลประโยชน์จะต้องรวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อยืนยันการเสียชีวิตของผู้ทำประกันมอบให้กับบริษัท

หากเกิดกรณีผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้ทำประกัน ผู้ทำประกันสามารถทำการเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่ทำและหากผู้ทำประกันเสียชีวิต ผลประโยชน์จะตกสู่กองมรดกหรือทายาทของผู้ทำประกัน  

นอกจากต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจทำประกัน ผู้ประกันต้องพิจารณาให้ดีว่าจะให้ใครเป็นผู้รับประโยชน์ เพราะนอกจากเป็นการแสดงความตั้งใจยกทรัพย์สินให้กับคนที่เรารักเมื่อตัวเองเสียชีวิตแล้ว ยังทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการรับผลประโยชน์อีกด้วย

อ้างอิง :  ธนาคารไทยพานิชย์

ติดต่อโฆษณา!