28 กุมภาพันธ์ 2565
1,293

หุ้นโลกสั่นไหว ปูตินสั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมความพร้อม! “ลงทุนอย่างไร ในภาวะสงคราม”

หุ้นโลกสั่นไหว ปูตินสั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมความพร้อม! “ลงทุนอย่างไร ในภาวะสงคราม”
Highlight

ภาวะการลงทุนยังคงผันผวนมาก ขึ้นอยู่กับข่าวสงครามที่เข้ามาในแต่ละนาที ความไม่แน่นอนยังคงมีสูง การเจรจาสงบศึกจะบรรลุ หรือล้มเหลวยังเป็นไปได้ทั้งสองทาง โอกาสจะเกิดสงครามโลกก็มี แม้ว่าเปอร์เซ็นจะน้อยก็ตาม ในระยะนี้นักวิเคราะห์แนะนำถือเงินสดบางส่วน รอดูทิศทาง หลีกเลี่ยง growth stocks โดยเฉพาะในตลาดพัฒนาแล้ว และติดตามราคาน่ำมันและราคาทองคำ ซึ่งเป็นตัวชี้ความรุนแรงหรือผ่อนคลาย นักวิเคราะห์แนะนำหุ้นในประเทศ เป็นทางเลือกหลบภัยที่ดีในช่วงนี้


4 โบรกเกอร์ฯ แนะจัดพอร์ตลงทุนในภาวะสงคราม ถือเงินสดเพื่อประเมินสถานการณ์ รอเข้าซื้อหุ้นที่แนวรับ 1,600-1,650 จุด พร้อมคัดหุ้นเด่นหลบภัย เหมาะลงทุนระยะกลาง-ยาว

จับตากองทัพรัสเซียเตรียมกองทัพนิวเคลียร์ ผลการเจรจาจะสำเร็จหรือล้มเหลวยังต้องติดตาม  ราคาทองคำเข้านี้ปรับขึ้น 400 บาท ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังอยู่ที่ระดับ 95-98 เหรียญต่อบาร์เรล ตลาดหุ้นไทยผันผวนขึ้นลง แต่เนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง มีการเก็งกำไรราคาน้ำมันต่อเนื่อง  จนสามารถประคองตลาดอยู่ในแดนบวกได้ 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนท่ามกลางภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน สำหรับตลาดหุ้นไทย มีจุดแข็งเป็นหลุมหลบภัยระยะสั้น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียและยูเครนในระดับต่ำ ทั้งในแง่การเมืองและในแง่เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยหนุนจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงน้อยกว่าต่างประเทศ ดังนั้น หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังส่งผลกดดันตลาดหุ้นโลก เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะยังเคลื่อนไหวได้โดดเด่น (Outperform) มากกว่า

สำหรับการลงทุนในประเทศ ระยะสั้น แนะนำซื้อขายทำกำไร (เทรดดิ้ง) กลุ่มพลังงาน ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นสูง รวมถึงแนะนำซื้อกลุ่มหุ้นเชิงรับ (Defensive Stock) ที่เป็นหลุมหลบภัย ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) สามารถหลบภัยได้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยง

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นโลก ยอมรับว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ ประเมินทิศทางอนาคตได้ลำบาก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบ ได้แก่ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ที่ยังเป็นขาขึ้น

การลงทุน จึงไม่แนะนำกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth Stock) โดยเฉพาะ Growth Stock ในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ และยุโรป เพราะมูลค่าหุ้นในตลาด (Valuation) อยู่ในระดับค่อนข้างสูงแล้ว ในทางกลับกัน แนะนำกลุ่มหุ้นคุณค่า (Value Stock) โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและจีนที่มีกลุ่มหุ้นดังกล่าวในระดับสูง อีกทั้ง Valuation ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว

นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุน แนะนำถือเงินสดเพื่อรอดูสถานการณ์ก่อนเข้าลงทุน (Wait and See) อย่างไรก็ดี สัดส่วนการถือเงินสด ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละท่านรับได้

ขณะที่การเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทย มองว่าดัชนี SET (SET Index) ยังปรับลงมาไม่ถึงระดับที่น่าสนใจ เพราะนอกจากความเสี่ยงรัสเซียกับยูเครนแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหญ่ ดังนั้น จึงให้แนวรับรอบนี้ที่ 1,635 จุด เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยรอบใหม่

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า แม้ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้จะผันผวน แต่มองเป็นจังหวะเข้าลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาว เพราะจากสถิติในอดีต SET Index สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีราว 8-16% ในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ประเมินกรอบแนวรับในกรณีฐานที่ 1,650 จุด และในกรณีเลวร้ายที่สุด 1,600-1,620 จุด โดยการจัดพอร์ตลงทุน สำหรับพอร์ตความเสี่ยงระดับกลาง แนะนำถือหุ้น 60-65% ขณะที่หุ้นเด่นแนะนำลงทุน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร KBANK กลุ่มค้าปลีก CPALL กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ AP และ SC กลุ่มไฟแนนซ์ TIDLOR กลุ่มพลังงาน GPSC กลุ่มโรงพยาบาล BDMS และกลุ่มเหล็ก BM

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า สำหรับการบุกรุกที่จำกัดในขณะนี้ ฝ่ายวิจัยให้แนวรับหลักที่ 1,650-1,680 จุด ขณะที่การลงทุน แนะนำซื้อเมื่อย่อตัวในกลุ่มพลังงาน เพราะเชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะเป็นบวกต่อกลุ่ม ได้แก่ BCP ราคาเหมาะสม 31.25 บาทต่อหุ้น PTT 43.10 บาทต่อหุ้น PTTEP 130.00 บาทต่อหุ้น และ TOP 60.80 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ดี หากมีการทำข้อตกลงทางการทูต นักลงทุนอาจเปลี่ยนไปซื้อหุ้นกลุ่มที่เคยเสียประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น (Anti-commodities) และขายกลุ่มพลังงาน ได้แก่ AVV ราคาเหมาะสม 3.51 บาทต่อหุ้น BA 12.58 บาทต่อหุ้น BGRIM 61.00 บาทต่อหุ้น 

CBG 111.00 บาทต่อหุ้น EPG 12.00 บาทต่อหุ้น GPSC 85.00 บาทต่อหุ้น GULF 46.75 บาทต่อหุ้น OR 30.70 บาทต่อหุ้น OSP 39.00 บาทต่อหุ้น PTG 18.70 บาทต่อหุ้น PTTGC 60.50 บาทต่อหุ้น RBF 20.50 บาทต่อหุ้น SCC และ TOA 33.00 บาทต่อหุ้น

บล.ทิสโก้ มองหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบ 1,660 -1,700 จุด โดยถูกกดดันจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกที่รุนแรง การระบาดของโควิดโอมิครอนในประเทศที่อยู่ระดับสูงและเลื่อนระดับเตือนภัยเป็นระดับ 4 ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าหนุนหุ้นขนาดใหญ่ในประเทศ และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจีดีพี 4Q64 โต 1.9% ดีกว่าเราคาดที่ 0.7% Top pick คือ BCH ราคาเป้าหมาย 20.40 บาท และ COM7 ราคาเป้าหมาย 84.50 บาท

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า กล่าวว่า ย้อนดูสงครามที่เกิดขึ้นในอดีต 3 ครั้งล่าสุด ได้แก่ 911(2001), Iraq War(2003) และ Crimea Crisis (2014) 

พบว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นในช่วงแรกของความตึงเครียด โดยตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวลง -11.60%, -10.98% และ -4.20% ตามลำดับ ขณะที่ SET INDEX ปรับตัวลง -17.20%, -0.42%, -2.15% ตามลำดับ 

เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น SET INDEX จะปรับตัวลงน้อยกว่า S&P 500 มีเพียงเหตุการณ์ 911 ที่ปรับตัวลงแรงกว่า ถูกกัดดันจากความกังวลในการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

ขณะที่ ช่วงเวลาใกล้จุด Peak(ปะทะกัน) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วทั้ง 3 เหตุการณ์ ทั้งนี้ตลาดจะใช้ระยะเวลาไม่นานในการฟื้นตัวกลับมาที่จุดเดิม เช่น ตลาด S&P 500 ใช้เวลาฟื้นตัวกลับสู่จุดเดิม ในแต่ละเหตุการณ์ใช้เวลาประมาณ 1-1.5 เดือน

ด้วยเงื่อนไขที่ต่างกันของไครเมียและยูเครน โดยรัฐบาลยูเครนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัสเซียและอยากเข้าร่วมกับนาโต้ จึงทำให้สถานการณ์มีโอกาสยืดเยื้อกว่ารอบก่อน ซึ่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุนก็มีโอกาสรุนแรงกว่ารอบก่อนเช่นกัน เราจึงประเมินความเป็นไปได้ใน 3 กรณีคือ

1. ดีที่สุด(โอกาส 50%) – ปะทะแล้วกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาอย่างรวดเร็ว ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังจะผ่านจุดต่ำสุด และจะฟื้นกลับมาที่จุดเดิมภายใน 1-1.5 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งตลาดหุ้นสำคัญในสหรัฐฯและยุโรป ณ ปัจจุบันปรับฐานมาแล้วกว่า -10% นับตั้งแต่เริ่มกังวลสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ Pattern ในอดีตแล้ว  

2. ยืดเยื้อ(โอกาส 40%) – ปะทะในวงจำกัดระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือประเทศใกล้เคียงเพื่อปกป้องตัวเอง โดยไม่มีกองกำลังจากนาโต้เข้ามาขยายวงกว้าง (แต่ให้การสนับสนุนด้านอื่นแทน) ตลาดหุ้นทั่วโลกจะแกว่ง Sideway down มีฟื้นสลับเป็นระยะตามพัฒนาการของความขัดแย้งและการเจรจา แต่จะใช้เวลาฟื้นกลับที่จุดเดิมนานกว่า Pattern ในอดีต

3. แย่ที่สุด(โอกาส 10%) – ปะทะรุนแรงระหว่างรัสเซียและกองกำลังของนาโต้ ตลาดการเงินทั่วโลกจะเข้าสู่โหมด Risk off จากความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขณะที่ Downside ของตลาดหุ้นสำคัญจะเปิดกว้างกว่าปัจจุบัน ซึ่งต้องประเมินจุด Bottom ตามพัฒนาการของความขัดแย้งอีกครั้ง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของไทย ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังถือว่าค่อนข้างจำกัด เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับรัสเซียหรือยูเครนไม่มาก ขณะที่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวยังถูกกดดันจากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เร่งตัวขึ้น แต่ผลกระทบทางอ้อมเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานที่ไปหนุนให้เงินเฟ้อมีโอกาสยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด

กล่าวโดยสรุป หยวนค้าประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด และแนวรับในกรอบ 1,630-1,650 จุด คาดว่ายังทำงานได้ดี เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเข้าใกล้จุด Peak เมื่ออิง Pattern ในอดีต ภายใต้สมมติฐานของเราที่คาดว่ารัสเซีย ยูเครน และนาโต้จะกลับเข้าสู่แนวทางการเจรจาในไม่ช้า ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทางตรงยังไม่มาก 

แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องติดตามราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปัจจัยด้านเงินเฟ้อกลับมาเป็นตัวแปรกดดันเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนในระยะถัดไป 

สำหรับชุดหุ้นที่น่าสนใจในช่วงนี้ แม้กลุ่มพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็กและโลหะ รวมถึงการลงทุนในกองทุนทองคำและน้ำมัน จะดูน่าสนใจในระยะสั้น แต่พฤติกรรมในอดีตบ่งชี้ว่า เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งคลายตัวลง ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นจะทรุดกลับมาที่จุดเดิมอย่างรวดเร็ว 

“เราจึงให้น้ำหนักเพียง Trading รายวันตามข้อมูลข่าวสารที่เข้ามากระทบเท่านั้น” นายณัฐพล กล่าว 

ขณะที่ กลุ่ม 3D คือ Domestic, Defensive, และ Dividend Play เราคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ทนแรงเสียดทานในช่วงที่ภาพรวมตลาดมีความผันผวนสูงได้ดีกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบจากภาวะสงครามจำกัด และเป็นกลุ่มที่มีความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวรับเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคตได้ดี 

เช่น ค้าปลีก สื่อสาร บันเทิง การแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีหุ้นที่เข้าธีมดังกล่าวและ Valuation ยังไม่แพงคือ MAKRO, CPALL, DTAC, BDMS, OSP, TISCO, PSH เป็นต้น

ติดต่อโฆษณา!