25 กุมภาพันธ์ 2565
945

ยอดขอจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ม.ค.65 สูงสุดรอบ 10 ปี คาดทั้งปีสูงถึง 7-7.5 หมื่นราย

ยอดขอจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ม.ค.65 สูงสุดรอบ 10 ปี คาดทั้งปีสูงถึง 7-7.5 หมื่นราย
Highlight

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2565 มียอดยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 7,972 ราย เพิ่มขึ้น 9% จากเดือนมกราคม 2564 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดือนธันวาคม 2564 มูลค่าทุนจดทะเบียน 29,081 ล้านบาท ธุรกิจก่อสร้างอาคาร อสังหาริมทรัพย์ และขนส่งสินค้า ขอจดทะเบียนใหม่มากที่สุด


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 914 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 318 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย คิดเป็น 3%

ขณะที่มียอดธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2565 จำนวน 999 ราย ลดลง 10% จากเดือนมกราคม 2564 และลดลง 83% จากเดือนธันวาคม 2564 คิดเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 2,447 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 89 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 47 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 27 ราย คิดเป็น 3%

ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น จำนวน 816,033 ราย คิดเป็นมูลค่าทุน 19.56 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 198,149 ราย คิดเป็น 24.28% บริษัทจำกัด จำนวน 616,566 ราย คิดเป็น 75.56% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,318 ราย คิดเป็น 0.16%

ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 483,365 ราย คิดเป็น 59.23% รวมมูลค่าทุน 0.43 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.20% 

รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 241,821 ราย คิดเป็น 29.63% รวมมูลค่าทุน 0.81 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.14% 

ช่วงถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 74,163 ราย คิดเป็น 9.09% รวมมูลค่าทุน 2.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.38%  

และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 16,684 ราย คิดเป็น 2.05% รวมมูลค่าทุน 16.29 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.28% ตามลำดับ  ลำดับ

20220225-b-01.jpg

นายทศพล กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนมกราคม 2565 สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยของการเพิ่มขึ้นในประเภทธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักของประเทศไทย คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป โดยมีสัดส่วนประมาณ 11.5% ของจำนวนธุรกิจจัดตั้งทั้งหมดในเดือนมกราคม 

และเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละธุรกิจต่อภาพรวมการจดทะเบียนโดยรวม พบว่า ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนถึง 5%

รองลงมา เป็นธุรกิจที่ได้รับผลเชิงบวกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกพืชสมุนไพร ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนประมาณ 2% ตามด้วยธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น 1.5%

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ยังคงสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการในประเทศ แต่อัตราเข้ารักษาในโรงพยาบาล และอัตราการเสียชีวิตไม่สูงเทียบเท่าสายพันธุ์อื่น จะทำให้ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวลลงได้ 

อีกทั้งการระดมฉีดวัคซีนในปีที่ผ่านมา และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และหลายธุรกิจสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงคาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 – 75,000 ราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังได้อนุญาตคนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 49 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 18 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 31 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,767 ล้านบาท
         
นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 14 ราย เงินลงทุน 2,787 ล้านบาทรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 57 ล้านบาท และฮ่องกง จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 5,819 ล้านบาท ตามลำดับ

ติดต่อโฆษณา!