24 ธันวาคม 2564
1,607

โอมิครอนส่อแววเสี่ยง กระทบสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปี 65

โอมิครอนส่อแววเสี่ยง กระทบสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปี 65
Highlight
ปี 2565 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 กลับมาอีกครั้งในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีนัยต่อเนื่องมายังการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากว่าไทยสามารถตีกรอบควบคุมการระบาดของโอมิครอนได้ดีและทันท่วงที ธนาคารพาณิชย์ก็จะยังคงมีเวลาที่จะสามารถพลิกฟื้นรายได้จากธุรกิจหลัก และผลการดำเนินงานในภาพรวมกลับมาได้ 

แต่ระดับกำไรสุทธิ และมาตรวัดความสามารถในการทำกำไร อาทิ ROA และ NIM จะฟื้นตัวในกรอบจำกัด และจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนโควิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 1.86 แสนล้านบาทในปี 2565 ต่ำกว่าระดับกำไรสุทธิเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ทำได้สูงกว่า 2.00 แสนล้านบาทต่อปี

โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตในกรอบที่ชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 4.0-5.5% จากที่คาดว่าจะปิดสิ้นปี 2564 ที่ 6.0% แต่การเติบโตของสินเชื่อจะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดีคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่า สัดส่วน NPLs ในปี 2565 จะขยับขึ้นไปที่กรอบ 3.20-3.50% ต่อสินเชื่อรวม แม้ว่าจะยังคงได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.

ในช่วงหลังจากนี้ คงต้องติดตามระดับความเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด โดยหากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มสูงขึ้น และมาตรการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานกว่าช่วงต้นปี 2565 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังรายได้จากธุรกิจหลัก และภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นในปี 2565 จะเป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องเดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง และต้องเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม สินเชื่อดิจิทัล และการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกการเงินยุคดิจิทัล

อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดต่อโฆษณา!