17 ธันวาคม 2564
1,904

รัฐบาลหนุน EEC เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ สู่คุณภาพชีวิต ภาคเอกชนเป็นกังวลกรณีขาดแคลนแรงงาน

รัฐบาลหนุน EEC เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ สู่คุณภาพชีวิต ภาคเอกชนเป็นกังวลกรณีขาดแคลนแรงงาน
Highlight
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หากแต่ไม่ใช่เพียงแค่การเน้นไปที่วัตถุหรือเทคโนโลยี ที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับการรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ ต้องดูแลไม่ให้สุจริตชนได้รับความเดือดร้อน

ในงานสัมมนา "แนวทางการร่วมบูรณาการเพื่อพัฒนา EEC สู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ" นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ ส.ส.ระยอง 4 สมัย กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ โครงข่ายรถไฟ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งตนเองได้เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุข เช่น การปรับปรุงโรงพยาบาลปลวกแดงในจังหวัดระยองที่เตรียมเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) เป็นเวลา 30 ปี การจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความทันสมัยมีระบบขนส่งผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์

ทางด้าน น.ส.พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะในพื้นที่ EEC จะมีทั้งสองส่วน คือ เมืองเดิมที่มีอยู่ กับเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ โดยจะมีการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาในเรื่องต่างๆ เช่น การประหยัดพลังงาน

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความสำคัญของเมืองน่าอยู่อัจฉริยะว่า “คงต้องดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยทุกคนต้องเคารพในสิทธิและหน้าที่ แต่การพัฒนาอาจไม่ราบรื่นเพราะมีการอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลต้องตัดสินให้รอบคอบ ไม่มีทุจริต และชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ ความเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ต้องมองพร้อมกันไป ไม่ใช่พัฒนาแค่วัตถุ หรือเทคโนโลยี ซึ่งในที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนที่ต้องรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ ต้องดูแลไม่ให้สุจริตชนได้รับความเดือดร้อน"  

ในตอนท้าย นายชวน หลีกภัย ยังฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเรื่องสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ EEC โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ การตัดแต่งต้นไม้ การควบคุมฝุ่น PM2.5 เป็นต้น 

สำหรับหน่วยงานของเอกชนอย่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ในฐานะประธานกรรมการ ให้มุมมองไว้ว่า “พื้นที่ EEC จะเป็นเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงที่มีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแทนกำลังคน มีการวางโครงข่ายถนนและโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังพื้นที่ภาคอีสาน การพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะเพื่อรองรับการย้ายถิ่น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่พร้อมจนเกิดปัญหาชุมชนแออัดตามมา สิ่งที่น่าเป็นห่วงและต้องเร่งแก้ไขคือการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ในอัตราต่ำเพียงปีละประมาณ 6 แสนคนเท่านั้น จากปกติปีละ 1.2 ล้านคน ซึ่งอัตราการเกิดดังกล่าวลดลง 50% จากเมื่อ 20 ปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และค่านิยมของคนไทยที่เปลี่ยนไปจากเดิม เรื่องนี้ต้องเสนอเป็นวาระแห่งชาติเพื่อเร่งแก้ไข”

ในตอนท้าย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงประเด็นเรื่องข้อห่วงใยของคนในพื้นที่ EEC ว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่พูดถึงอย่างมาก ประธาน (ส.อ.ท.) ชี้แจ้งประเด็นนี้ไว้ว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมแนวใหม่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และคำนึงถึงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากตามแนวทาง BCG ในทางกลับกันคิดว่าคนที่อื่นคงต้องอิจฉาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ EEC มากกว่า

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/iq03/3282262 

ติดต่อโฆษณา!