21 พฤศจิกายน 2564
1,799

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ลอนดอน” กลายเป็นเมืองแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ลอนดอน” กลายเป็นเมืองแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพ
Highlight

ธุรกิจสตาร์ทอัพกำลังเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ หลังจากประเทศไทยมียูนิคอร์นล่าสุดเกิดขึ้น คือบริษัทบิทคับ กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล ซึ่งได้ขายธุรกิจ 51% ให้กับ SCBx หรือกลุ่มธนาคารไทยพานิชย์ ด้วยมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท มาดูที่กรุงลอนดอนซึ่งนอกจากจะเปรียบเสมือนศูนย์กลางของทวีปยุโรปแล้ว ล่าสุด ลอนดอนกำลังกลายเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของสตาร์ทอัพอย่างรวดเร็วติดอันดับโลก สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจขาลงในช่วง Covid-19 เป็นอย่างมาก


ข้อมูลจาก European Startups ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภายุโรป แสดงให้เห็นว่า การลงทุนในสตาร์ทอัพของประเทศอังกฤษโดยเฉพาะลอนดอนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2020 โดยมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนมากถึง 1.7 พันล้านยูโร หรือกว่า 6.7 แสนล้านบาท และหากดูจากการจัดอันดับของ CEOWORLD ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ในหัวข้อประเทศที่เป็นมิตรและดึงดูดนักลงทุนที่สนใจการสนับสนุนสตาร์ทอัพ จะพบว่าประเทศอังกฤษอยู่ในอันดับ 2 ของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาที่ครองอันดับหนึ่ง

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่ถูกพูดถึงและได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นขนาดนี้  ก็คือการมีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เพียบพร้อมและสมบูรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านทักษะแรงงานและเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

4 ปัจจัยที่ช่วยผลักดันธุรกิจสตาร์ทอัพในลอนดอนให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

จากรายงานประจำปี 2021 ของเว็บไซต์ชั้นนำที่รวบรวมข้อมูลของสตาร์ทอัพในลอนดอนอย่าง Startups of London พบว่าการ ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เพียบพร้อมจะช่วยส่งเสริมให้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยหลักที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. ระบบการศึกษาที่ดีต้องตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง

แม้ลอนดอนจะเป็นศูนย์รวมมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Impereal College หรือ King’s College London แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดพัฒนา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เริ่มให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้นักศึกษาสร้างแนวคิดทางธุรกิจตั้งแต่ตอนเรียน

ข้อมูลจากองค์กรสนับสนุนมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร หรือ Universities UK คาดการณ์ว่าบัณฑิตจบใหม่จะมีความสามารถในการจัดตั้งบริษัทด้วยตัวเองถึง 23,000 แห่งภายในปี 2026 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในเมืองอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเซาธ์เวลส์ (USW) ยังได้พัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งพร้อมที่จะกลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในวงการสตาร์ทอัพในอนาคตอย่างแน่นอน

2. โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

จากการศึกษาผ่านเว็บไซต์ Startups of London พบว่าที่ประเทศอังกฤษมีนักลงทุนกว่า 11,770 ราย ซึ่ง 4,489 ราย หรือเกือบครึ่งของตัวเลขนี้อาศัยอยู่ในลอนดอน

ยิ่งไปกว่านั้น Forbes รายงานว่า ในปี 2020 ลอนดอนเป็นเมืองแม่เหล็กอันทรงพลังที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนสูงที่สุดในทวีปยุโรป คิดเป็นจำนวนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.5 แสนล้านบาท) จากทั้งหมด 43,000 ล้านดอลลาร์ (1.4 ล้านล้านบาท) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ลอนดอนกลายเป็นศูนย์รวมของแวดวงสตาร์ทอัพที่มีความน่าเชื่อถือไปโดยปริยาย

ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดให้องค์กรระดับโลกอยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเติบโตของสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Big 4 อย่าง PwC ที่ทำโปรเจคต์ ‘PwC SCALE’ เพื่อช่วยผลักดันสตาร์ทอัพในช่วงแรกของ Post Brexit ไปจนถึงโปรแกรม Accelerator ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไม ‘ลอนดอน’ จึงเป็นปลายทางอันดับแรกของนักลงทุน

3. การสนับสนุนจากภาครัฐ

ปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษได้ช่วยส่งเสริมด้านเงินทุนให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยล่าสุด British Business Bank ซึ่งดูแล Future Fund โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ได้ออกเงินกู้ประเภทสินเชื่อแปลงสภาพ (Convertible Debt) กลายเป็นหุ้นทุนเพื่อใช้ในการระดมทุนให้แก่บริษัทถึง 1,190 แห่ง มูลค่ามากกว่า 1 พันล้านปอนด์ (4.5 หมื่นล้านบาท)

ทั้งนี้ เงินกู้แปลงสภาพ (Convertible Debt) เป็นวิธีการลงทุนทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ สำหรับในแวดวงสตาร์ทอัพ บริษัทระยะแรกเริ่ม (Seed Round) หรือระหว่างรอบ (Bridge Round) มักใช้เงินกู้แปลงสภาพเพื่อนำเงินสดเข้าบริษัทด้วยความรวดเร็ว และชะลอการประเมินมูลค่าบริษัทออกไปจนกว่าจะถึงการระดมทุนรอบหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังได้จัดทำโครงการ Start Up Loans มูลค่า 6 ร้อยล้านปอนด์ (2.7 หมื่นล้านบาท) ให้แก่บริษัทสตาร์ทอัพนอกลอนดอน โดย 40% ของ Start Up Loan ได้ช่วยผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง อีก 20% ช่วยผู้ประกอบการที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และอีกกว่า 35% นำไปช่วยบุคคลที่เคยว่างงาน  จะเห็นได้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

4. Incubator และ Accelerator ช่วยสร้างแรงผลักดัน

งานวิจัยจาก Nesta สถาบันนวัตกรรมชั้นนำแห่งสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่าความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้คำปรึกษา อบรมให้ความรู้ หรือแม้แต่เป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์ทอัพนั้นสำคัญอย่างยิ่ง โดยแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบหลักได้แก่ Incubator หรือ โครงการบ่มเพาะ กับ Accelerator หรือ โครงการสนับสนุน

จากการสำรวจสตาร์ทอัพในประเทศอังกฤษราว ๆ 73% พวกเขามีความเห็นว่า Incubator หรือ โครงการบ่มเพาะนั้นได้ให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน ซึ่งมีส่วนช่วยให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง

ความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ตามทุกย่านของกรุงลอนดอน ทำให้องค์กรต่าง ๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของแรงผลักดันเหล่านี้ จึงวางแผนที่จะขยายขอบเขตความช่วยเหลือไปยังเมืองอื่น ๆ ในอนาคตด้วยเช่นกัน

แม้ว่ากรุงเทพมหานครอาจจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ทางด้านเทคโนโลยี แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือประเทศไทยของเรานั้นก็ติดอันดับที่ 50 จากผลสำรวจในเรื่องของระบบนิเวศที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจัยที่เราได้คะแนนสูงที่สุด คือ เรื่องของโครงสร้างของผู้ประกอบการหรือ Entrepreneurial Infrastructure

ความสำเร็จของสตาร์ทอัพลอนดอนไม่ได้เป็นความสำเร็จชั่วข้ามคืน หากเราต้องการที่จะเดินตามรอยความสำเร็จของลอนดอน เพื่อจะเป็นเมืองแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพคงมีอีกหลายสิ่งที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนในประเทศ รวมไปถึงแรงสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

ที่มา : ธนาคารกรุงเทพ

ติดต่อโฆษณา!