18 พฤศจิกายน 2564
1,320

เรากำลังเจอภาวะ Stagflation หรือไม่?

เรากำลังเจอภาวะ Stagflation หรือไม่?
Highlight
ในเวลานี้ หนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่เรากำลังเจอ คือเรื่องเงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าพุ่งสูง ขณะเดียวกันประเทศไทย ก็กำลังเจอภาวะเศรษฐกิจโตช้า ซึ่งปกติแล้ว หากเงินเฟ้อพุ่งสูงแต่เศรษฐกิจตกต่ำ เราจะเรียกว่าเป็นภาวะ Stagflation ซึ่งในเวลานี้ เรากำลังเจอปัญหานี้หรือเปล่า แล้วมันน่ากลัวแค่ไหน เรามีมุมมองของ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ มาฝากกัน


เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งไป 6.2% เงินเฟ้อยุโรปพุ่งไป 4.1% สูงสุดในรอบ 30 ปี คนเลยตั้งคำถามว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาให้เศรษฐกิจโลกในรอบนี้ หรือไม่

เงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่คนกังวล พูดถึงเสมอ เป็นโรคร้ายทางเศรษฐกิจ ที่คอยกัดกินมูลค่าของเงิน จากตอนเด็กๆ เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละบาท ตอนนี้ชามละ 30-40 บาท จากแบงค์สิบ ตอนนี้เหลือแค่เหรียญสิบ แม้กระทั่งเหรียญบาทที่แต่ก่อนขนาดพอเหมาะพอสม ปัจจุบันเหรียญบาทถูกเงินเฟ้อกัดกินขนาดจิ๋วเล็กจนจำไม่ได้

วันนี้ จึงขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินเฟ้อลักษณะต่างๆ ก่อนที่มาตอบว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรอบนี้ จะเป็นปัญหาหรือไม่

ปกติแล้ว เงินเฟ้อในประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0-15% ต่อปี ประเทศพัฒนาแล้วเงินเฟ้อต่ำ 
ประเทศกำลังพัฒนาเงินเฟ้อสูง แต่ในหลายๆ ประเทศที่เงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ จะไม่อยู่ในช่วงนี้กลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

แบบที่หนึ่ง เงินเฟ้อสูงมากมาก (Hyper Inflation)

สามารถเพิ่มได้ปีละหลายๆ ล้านเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดที่เกิดขึ้นก็ไม่นานมานี้ ที่ซิมบับเว้ในปี 2550 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปที่ 2.2 ล้านเปอร์เซนต์ อีกกรณี คือ เยอรมัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่ากันว่าถ้าจะสั่งเบียร์ก็ต้องสั่ง 2 แก้ว เพราะถ้ารอไปสั่งอีกครั้งราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปแล้ว ท้ายสุดเงินเฟ้อลักษณะนี้จะจบลงด้วยการที่ธนบัตรจะกลายเป็นเศษกระดาษ กลายเป็นแบงก์กงเต็กใหญ่สุดที่เคยเห็นก็ต้องแบงก์ของฮังการีในปี 2489 ไม่มากไม่น้อยแค่ 100 ล้านล้านล้านเพงโกเท่านั้นเอง

แบบที่สอง เงินเฟ้อสูง (Moderate Inflation) 

ที่เพิ่มประมาณปีละ 20-25% ขึ้นไป ในกลุ่มนี้เงินเฟ้อจะฝังรากลึกเป็นที่รู้กันว่าราคาทุกอย่าง รวมถึงค่าจ้างเงินเดือนจะขึ้นกันแบบยกแผง สิ้นปีขึ้นกันปีละ 20-25% ถ้วนหน้า ทำให้เงินเฟ้อยากจะลงมา 
กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังแก้ไม่ขาด ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกามักมีปัญหานี้

แบบที่สาม เงินเฟ้อติดลบ (Deflation)

บางครั้งคนก็จะเรียกว่าเงินฝืด ราคาของที่ปกติเพิ่มกลับลด จากเศรษฐกิจที่ไปไม่ได้ ไม่มีกำลังซื้อ ราคาที่ลดยิ่งซ้ำเติมทำให้ทำกำไรยิ่งยาก ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราญี่ปุ่นต้องประสบอยู่นับสิบปี (2533-2543) หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก

แบบสุดท้าย เงินเฟ้อ Stagflation

เป็นสิ่งที่คนถามว่า กำลังเกิดขึ้นอยู่ใช่หรือไม่ ปกติเงินเฟ้อจะมากจะน้อย ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจคึกคักแค่ไหน ขยายตัวมากเงินเฟ้อสูง ขยายตัวน้อยเงินเฟ้อต่ำ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็เงินฝืดเงินเฟ้อติดลบ แต่ Stagflation แปลกกว่าเพื่อน คือ เศรษฐกิจซบเซากลับเงินเฟ้อพุ่งสูง เรื่องนี้มักเกิดจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น Stagflation ครั้งสำคัญเกิดช่วงวิกฤตน้ำมันขาดแคลน (2516-2525)

จะเห็นว่าถ้าบริหารไม่ดี เงินเฟ้อก็จะแผลงฤทธิ์

สำหรับรอบนี้ เงินเฟ้อเกิดจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นคนแย่งกันสั่งของ จนวัตถุดิบราคาเพิ่ม คนที่ปิดกิจการ คนที่เอา Stock สินค้าไปหาสภาพคล่อง คนที่เคยสั่งของเข้าร้านแต่น้อยอย่างระวังเท่าที่จำเป็น แต่พอโควิดเริ่มดีขึ้น คนกล้าออกจากบ้าน เริ่มจับจ่ายก็เปิดร้านอีกรอบ สั่งของมาจำนวนมากหลังหยุดมาเกือบครึ่งปี สั่งสินค้าเพิ่มเพราะรู้ว่านี่คือจังหวะที่ดีของการทำธุรกิจ ไม่น่าแปลกใจของจึงขาดตลาด ราคาเพิ่มเพราะแย่งกันซื้อ แม้ราคาจะสูงกว่าเดิมก็ยอมจ่ายเพราะคิดว่าทำกำไรได้

แบบนี้ ไม่ใช่ Stagflation แน่นอน แต่เป็นปกติของการปรับตัวเป็นเงินเฟ้อช่วงเศรษฐกิจฟื้น หลังวิกฤตใหญ่ๆ เมื่อเวลาผ่านไป Stock ของ กันพอแล้ว ผ่านช่วงปรับตัว ซึ่งน่าจะประมาณ 1-2 ปี เศรษฐกิจก็จะขยายตัวตามปกติเงินเฟ้อ ราคาของต่างๆ ก็จะกลับเป็นปกติเช่นกัน

ติดต่อโฆษณา!