12 พฤศจิกายน 2564
1,715

ลงทุนโค้งสุดท้ายปลายปี 64 กับกองทุน SSF และ RMF ตัวท็อป จาก Phillip Fund SuperMart

Highlight
เข้าสู่ช่วงปลายปี ก็เป็นฤดูกาลเลือกลงทุนกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี ที่พวกเราก็ต้องมาคิดกันทุกปีว่าจะซื้อกองไหนดี หรือจะเลือกกองทุนอย่างไรให้เหมาะกับเรา วันนี้ ทันข่าว Today นำหลักการเลือกกองทุน และกองทุนที่น่าสนใจ ที่แนะนำโดย บมจ. หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) มาฝากกันครับ


มีกองทุนอะไรบ้างที่ช่วยลดหย่อนภาษี?

คุณสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล ผู้บริหารฝ่ายบริหารเงินลงทุน บมจ. หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำว่า ปัจจุบันเรามีกองทุน 2 ประเภทที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ คือกองทุน SSF และกองทุน RMF ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์เพียงแค่การวางแผนภาษี แต่ยังช่วยตอบโจทย์คนที่ต้องการวางแผนการเงินระยะยาว โดยเฉพาะการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยได้ประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติม

ใครบ้างที่เหมาะกับกองทุนนี้?

ทุกคนที่ต้องเสียภาษี สามารถซื้อกองทุนนี้และนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์เต็มๆ จากการลงทุนในกองทุน SSF-RMF ดังนั้น เราควรประเมินก่อนว่าตัวเองอยู่ระดับอัตราภาษีฐานใด ถ้าอัตราภาษีไม่สูง อาจจะยังไม่เหมาะ เช่น เสียภาษี เพียง 5% แบบนี้ ต้องคิดก่อนจะลงทุน เพราะ SSF-RMF มีเงื่อนไขการลงทุนระยะยาวผูกมัดอยู่

อย่างเช่น SSF ต้องลงทุน 10 ปีเต็ม ส่วน RMF ต้องลงทุนถึงอายุ 55 ปี โดยต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถขายออกก่อนครบกำหนด

ดังนั้น นักลงทุนต้องพิจารณาการลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี ว่าคุ้มค่ากับการที่ลงทุนระยะยาวหรือไม่ แนะนำว่า นักลงทุนที่มีเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้ฐาน 10% ขึ้นไป เหมาะที่จะลงทุนในกองทุน SSF-RMF ถ้าฐานภาษีน้อยกว่านี้ อาจจะยังไม่คุ้มที่จะลงทุน ควรลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปจะเหมาะกว่า ถ้าอัตราภาษีเงินได้สุทธิถึง 10% แล้ว ค่อยเลือกลงทุน SSF-RMF

เลือก SSF หรือ RMF ดี?

ฟิลลิป แนะนำหลักการเลือกลงทุน SSF หรือ RMF คือ ให้แบ่งที่อายุ 45 ปี ถ้าอายุน้อยกว่า 45 ปี เหมาะกับการลงทุน SSF เพราะลงทุน 10 ปี ก็สามารถขายออกได้ แต่ถ้าเราอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เหมาะกับการลงทุน RMF มากกว่า เพราะไม่ต้องลงทุนถึง 10 ปี เทียบกันแลเว ซื้อ RMF จะใช้เวลาในการถือน้อยกว่า เพราะแค่ซื้อ RMF ต่อเนื่อง 5 ปี และถือถึงอายุ 55 ปี ก็สามารถขายออกได้แล้ว

นอกจากนี้ ยังอยู่ที่ลักษณะรายได้เราด้วย อย่างคนที่มีรายได้ไม่ประจำ เหมาะกับกองทุน SSF เพราะวางแผนการเงินได้ยืดหยุ่นกว่า RMF เนื่องจากปีไหนมีรายได้เยอะก็ซื้อ ปีไหนไม่มีรายได้ หรือไม่ต้องเสียภาษี ก็ไม่ต้องซื้อ ส่วนคนที่มีรายได้ประจำ เหมาะกับกองทุน RMF เพราะต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

นอกจากนี้ กองทุน SSF เป็นกองทุนน้องใหม่ มีสินทรัพย์ลงทุนให้เลือกยังไม่มากเท่ากอง RMF ที่มีหลากหลายประเภทกว่า

แต่โดยสรุป การเลือกว่าจะลงทุนใน SSF หรือ RMF ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว นักลงทุนที่อายุไม่ถึง 45 ปี แต่อยากลงทุน RMF ก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องมั่นใจว่าจะลงทุนระยะยาวไปถึงอายุ 55 ปีได้ และไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้ ต้องวางแผนการเงินระยะยาวให้ดี

เลือกกองทุนไหนดี?

วิธีการเลือกกองทุน คือ ต้องสำรวจตัวเองว่าเป้าหมายของเราเป็นอย่างไร รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนที่มีผลตอบแทนอันดับหนึ่งตลอด แต่ควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีเหมาะกับเป้าหมายตัวเองมากกว่า การเลือกกองทุนแบบที่เลือกเฉพาะกองที่สร้างผลตอบแทนอันดับหนึ่ง อาจไม่เหมาะกับเป้าหมายและความเสี่ยงของคุณก็ได้

Phillip Fund SuperMart จะแนะนำนักลงทุนให้จัด Portfolio ให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงของนักลงทุน แล้วค่อยมาเลือกต่อว่า กองทุนอะไรบ้าง เหมาะกับพอร์ตหรือเป้าหมายของนักลงทุน

กองทุน SSF ที่แนะนำ คือ

1. UGQG-SSF เน้นการลงทุนกระจายทั่วโลก เหมาะกับการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้

2. MCHINASSF ลงทุนในหุ้นจีน A-Share เป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจจีนยังเติบโตต่อเนื่อง และปีนี้ราคาหุ้นปรับลงมาก แนะนำให้ถือระยะยาว ราคาหุ้นกลุ่ม A-Share ถือว่าไม่แพง เพราะผ่านสถานการณ์วิกฤติมาแล้ว และบริษัทจีนยังสามารถเติบโตและมีผลกำไรต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

กองทุน RMF ที่แนะนำ คือ

1. PWINRMF ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Innovation ทั่วโลก หากลงทุนใน RMF, SSF จะมองเรื่อง Mega Trends เป็นหลัก เหมาะกับการลงทุนระยะยาว และผลตอบแทนคุ้มค่ากับระดับความเสี่ยง

2. อีกธีมที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการเกษียณ แนะนำกลุ่ม Healthcare ซึ่งจะเติบโตไปพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ การดูแลรักษาสุขภาพ กองที่แนะนำ คือ KGHRMF ลงทุนหุ้นกลุ่ม Healthcare Technology และ Traditional เป็นการกระจายการลงทุนที่ค่อนข้างกว้าง

การเลือกกองทุน SSF-RMF ไม่ควรดูเฉพาะผลตอบแทนสูงในระยะสั้น เพราะทำให้เรามักได้ซื้อของแพง ทำให้เราอาจซื้อกองทุนในราคาสูงเกินไป และมีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะตกด้วย ควรพิจารณาจากเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เลือกกองทุนที่มีคุณภาพไม่ใช่ดูแค่ผลตอบแทนอย่างเดียว ต้องเลือกกองทุน โดยพิจารณาด้วยว่าลงทุนในสินทรัพย์อะไรอยู่ เราเข้าใจมั้ย จะช่วยให้เราเลือกกองทุนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับบทบาทของนักวิเคราะห์ เราจะพิจารณาทั้งเรื่องผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงควบคู่กัน แล้วคัดเลือกกองทุนขึ้นมาให้อยู่ใน Universe สำหรับแนะนำลูกค้า เมื่อนักวิเคราะห์เข้าใจกองทุนนั้นๆ เป็นอย่างดี ก็สามารถเลือกแนะนำกองทุนที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าได้

ติดต่อโฆษณา!