07 พฤศจิกายน 2564
1,877

สรุปช่องทางการออม-ลงทุน ลดหย่อนภาษี สำหรับปี 64

สรุปช่องทางการออม-ลงทุน ลดหย่อนภาษี สำหรับปี 64
Highlight

เข้าสู่ปลายปี ก็เป็นช่วงวางแผนภาษีกันตามเคย เราคงต้องเริ่มคำนวณแล้วว่าปีนี้จะมีรายรับเท่าไร่ และหักลดหย่อนได้มากแค่ไหน ซึ่งตัวช่วยการลดหย่อนภาษียอดนิยมอย่างกองทุนและประกันชีวิต ยังเป็นสิ่งที่หลายคนมองหา ทันข่าว Today สรุปช่องทางต่างๆ มาฝากกัน


กองทุนรวม

กองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ

1. กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมให้มีระยะยาวขึ้น เรามีสิทธิซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีปฏิทิน โดยในเบื้องต้นกองทุน SSF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี  สำหรับผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563-2567 หลังจากนั้นจะถูกประเมินและทบทวนอีกครั้งโดยกระทรวงการคลัง ส่วนเงื่อนไขการลงทุน ปีไหนซื้อปีนั้นได้ลดหย่อน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนครบ 10 ปี ปฏิทิน    

2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม สำหรับเป็นเงินออมที่รองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ มีผลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ให้สามารถซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท  โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่เงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ยังคงเหมือนเดิม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม

ประกันชีวิต

ประกันชีวิต จะมี 2 ประเภทหลักๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ประกันชีวิตทั่วไป และประกันชีวิตแบบบำนาญ

1. ประกันชีวิตทั่วไป แบบประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้นั้นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยนับรวมเบี้ยประกันภัยในส่วนสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ (ถ้ามี) ได้สูงสุด 25,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563)

2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบนี้มอบความคุ้มครองชีวิตและมอบเงินคืนเป็นงวดๆ หลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และหากเราไม่ได้ซื้อประกันชีวิตทั่วไป ก็สามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนมีเงื่อนไข คือจะต้องนับรวมกองทุน SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท

เลือกประกันอย่างไรให้เหมาะสม?

ประโยชน์หลักของประกันชีวิตคือความคุ้มครองชีวิต หากมองแต่มุมของการลดหย่อนภาษี โดยไม่พิจารณาองค์ประกอบอื่นเราอาจพลาดสิ่งดีๆ ที่ควรได้รับจากประกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อประกันควรพิจารณาจากแบบประกันที่ตรงกับความจำเป็นหรือความต้องการเพื่อมาปิดความเสี่ยงที่กังวล เช่น ต้องการสร้างหลักประกันเพื่อดูแลครอบครัวต่อจากคุณ ต้องการสร้างแผนเงินออมพร้อมเป็นหลักประกันระยะยาว หรือต้องการสร้างแผนรองรับด้านสุขภาพ เป็นต้น หากเราสามารถสร้างโจทย์ได้ชัดเจนเราก็จะได้ประโยชน์จากประกันชีวิต ทั้งในแง่ความคุ้มครองและผลประโยชน์ด้านภาษี

จากแบบประกันที่มีให้เลือกหลากหลายในตลาด มักมีผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และไม่ได้ให้แค่ความคุ้มครองชีวิตหรือเงินคืนอย่างเดียว ประกันที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิต พร้อมเงินคืนทุกปี มีเงินก้อนเมื่อครบกำหนดสัญญา ทั้งยังให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรง และหากไม่เคลมโรคร้ายแรงก็คืนเบี้ยประกันภัยในส่วนโรคร้ายแรงให้อีก ลองคิดดูว่าหากเราซื้อประกันนี้แล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก เรียกว่ารับประโยชน์เต็มๆ เลยทีเดียว ส่วนนิติบุคคล เบี้ยประกันภัยที่ชำระให้พนักงาน หรือชำระให้บริษัทก็สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดในการวางแผนภาษี ควรพิจารณาในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ภาระหนี้สิน หากเป็นประกันชีวิตต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยประกอบด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าแผนของเรามีความเหมาะสม และจะไม่เป็นภาระในภายหลังจนกระทบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนที่ช่วยให้เราวางแผนภาษีได้ชัดเจนขึ้น และได้ประโยชน์ทางภาษีแบบเต็มๆ

ที่มา : SCB

ติดต่อโฆษณา!