27 ตุลาคม 2564
4,139

ไขข้อสงสัย ทำไมงบดีแต่ราคาหุ้นลง ?

ไขข้อสงสัย ทำไมงบดีแต่ราคาหุ้นลง ?
Highlight
หนึ่งในคำถามยอดฮิตของคนลงทุนในหุ้นโดยเฉพาะมือใหม่ คือ ซื้อหุ้นมาแล้ว กิจการของบริษัทก็ดี งบประกาศออกมา ก็ดูดี แต่ทำไมราคาหุ้นไม่ไปไหน หรือบางทีราคาลงเสียด้วยซ้ำ ทันข่าว Today วันนี้มาไขข้อข้องใจกัน


ฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะเป็นช่วงที่นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร และเก็บหุ้นที่ทำผลงานได้ดีอย่างคึกคัก แต่หลายครั้งสงสัยไหมว่าทำไมบางบริษัทงบดี กำไรเติบโต ราคาหุ้นกลับลง แต่อีกบริษัทงบออกมาแย่ หุ้นกลับขึ้นซะงั้น ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วใคร ๆ ก็อยากได้หุ้นพื้นฐานดีกันทั้งนั้น
 
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เราขอแบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลัก ๆ ประการแรก คือ ความคาดหวังของตลาด ประการที่สอง คือ งบการเงินที่คิดว่าดี อาจจะไม่ได้ดีจริง ๆ อย่างที่คิด
 
ราคาหุ้นมาจากความคาดหวังของตลาด

แม้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะสะท้อนมาจากปัจจัยพื้นฐาน แต่อีกปัจจัยที่กำหนดราคาหุ้นคือ "ความคาดหวังของนักลงทุน" หากส่วนใหญ่มองว่าเป็นช่วงที่หุ้นน่าเข้าซื้อ ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่นักลงทุนยอมซื้อหุ้นในวันนี้ เพราะหวังว่าจะสร้างกำไรในอนาคต ทำให้สรุปสาเหตุว่าทำไมงบออกมาดี แต่หุ้นกลับลง ได้ดังนี้
 
1. เกิดการ sell on fact ราคาหุ้นขึ้นไปตั้งนานแล้ว

การที่เราซื้อหุ้นเมื่อข่าวออก บางครั้งอาจจะช้าเกินไป เพราะทุกคนรู้แล้วว่าดี พอผลประกอบการออกมาตามที่ตลาดประเมินไว้ จึงเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "Sell on Fact" คือ การขายทำกำไรเมื่อมีข่าวดี เนื่องจากราคาหุ้นอาจจะปรับเพิ่มขึ้นจนใกล้เต็มมูลค่าแล้วนั่นเอง
 
2. งบออกมาโตน้อยกว่าที่คาด

ก่อนที่งบจริงจะออก จะมีการประเมินผลประกอบการล่วงหน้าจากวิเคราะห์การลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งหุ้นบางตัวงบออกมาดีจริง กำไรโต 20% เป็นต้น แต่ถ้าตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะโตถึง 50% แบบนี้แสดงว่าหุ้นทำให้ตลาดผิดหวัง นักลงทุนก็พร้อมจะเทขายได้เช่นกัน เพราะอย่างที่รู้กันว่าตลาดหุ้นคือตลาดแห่งความคาดหวัง
 
งบที่มองว่าดี อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิด

งบการเงินเป็นเหมือนสมุดพกที่บอกฝีมือของการดำเนินธุรกิจ หากเข้าใจข้อมูลสำคัญในงบการเงินได้ถูกต้อง จะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนสมเหตุสมผลขึ้น แต่หากดูไม่ละเอียดเพียงพอ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ตัดสินลงทุนผิดพลาดได้เช่นกัน วิธีอ่านงบการเงินที่ถูกต้องนั้น ควรมองให้ครบทุกมิติ สามารถแยกออกเป็น 5 ส่วนประกอบ ได้แก่
 
1. งบแสดงฐานะการเงิน

แสดงถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความมั่งคั่งของกิจการ ณ ช่วงใดช่วงหนึ่ง สิ่งที่ควรโฟกัสมีด้วยด้วย 3 ตัวเลข คือ 1. สินทรัพย์ ว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนหรือไม่หมุนเวียน เงินสดเยอะไหม ขนาดของสินทรัพย์เป้นเท่าไหร่ 2. หนี้สิน เป็นหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาว อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้เหมาะสมไหม 3. ทุน สัดส่วนทุนเมื่อเทียบกับหนี้สินเป็นอย่างไร ทุนเพิ่มขึ้นจากอะไร เป็นต้น
 
2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ

เป็นส่วนที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ซึ่งบอกว่าผลการดำเนินงานในรอบบัญชีนั้นของบริษัทดีแค่ไหน โครงสร้างของการอ่านงบกำไรขาดทุน แนะให้เริ่มจาก "รายได้" "ต้นทุน" แล้วค่อยไล่ลงไปดูในส่วนของ "กำไร" ทั้ง กำไรขั้นต้น กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) และกำไรสุทธิ

โดยต้องเปรียบเทียบกำไรกับปีที่แล้ว (YoY) เพราะบางธุรกิจมี seasonal รวมถึงเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้วด้วย (QoQ) เพื่อให้เห็นพัฒนาการเติบโต อีกจุดสังเกตคือกำไรที่เห็น เป็นกำไรคุณภาพหรือไม่? ซึ่งต้องเกิดจากการดำเนินธุรกิจหลัก ไม่ใช่กำไรพิเศษที่เกิดเพียงครั้งเดียว
 
3. งบกระแสเงินสด

เงินสดเป็นดั่งเส้นเลือดของธุรกิจ โดยงบส่วนนี้จะแสดงเงินสดที่รับมาและจ่ายออกไป ซึ่งการที่บริษัทมีกำไรเติบโตมาก ๆ ใช่ว่าจะมั่นคงเสมอไป นักลงทุนควรดูกระแสสดประกอบสดประกอบด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจติดขัด
 
4. หมายเหตุประกอบงบ

แสดงรายการทางบัญชีที่สำคัญเพื่อให้นักลงทุนตรวจสอบความโปร่งใสในงบการเงิน ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ อาทิ นโยบายของกิจการ เหตุการณ์ที่ผิดปกติ และสาระสำคัญที่ไม่ได้แสดงในงบ ซึ่งเราสามารถดูรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีประกอบการพิจารณา หากเจอสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล จะได้ระวังตัวได้ทัน
 
5. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น

เป็นส่วนที่แสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น เอาไว้ดูเคลื่อนไหวของทุนว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากรายการไหนบ้างในระหว่างปี
 
ทุกคนจะเห็นเลยว่าการเข้าใจส่วนต่าง ๆ ในงบการเงิน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจและสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น
 
สุดท้ายนี้จะเห็นว่าการเลือกหุ้นลงทุนนั้น จะดูเพียงกำไรสุทธิที่อยู่บรรทัดสุดท้ายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องไล่เรียงอยู่งบอย่างละเอียดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ภาพรวมธุรกิจแข็งแกร่งจริงหรือเปล่า รวมถึงประเมินความคาดหวังของตลาดประกอบด้วย เพื่อที่จะได้พบหุ้นดีในราคาเหมาะสม

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดต่อโฆษณา!