11 ตุลาคม 2564
3,524

คัดเน้นๆ 15 หุ้นไทย ROE สูง

คัดเน้นๆ 15 หุ้นไทย ROE สูง
Highlight
วิธีการเลือกหุ้นดีในการเข้าลงทุนมีหลายวิธีการ บางคนก็ใช้ปัจจัยพื้นฐาน บางคนก็ดูกราฟหรือที่เรียกว่าใช้ปัจจัยทางเทคนิก ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีต่างกันไป ซึ่งหนึ่งในตัวเลขที่นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานนิยมใช้ก็คือ ROE หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทันข่าวToday 15 หุ้นเด่น ที่มี ROE สูง มาฝากกัน

ROE หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น จะบอกแนวโน้มการทำกำไรจากเงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้า ROE อยู่ในระดับ “สูง” แปลว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี ผู้บริหารสามารถจัดสรรเงินลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นได้สูง และมีโอกาสจ่ายเงินปันผลหรือส่งผลให้ราคาหุ้นขยับขึ้นได้

20211011-a-01.jpg

แน่นอนว่าการเลือกหุ้นที่น่าลงทุน ควรเลือกหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรมากกว่าบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ในการเลือกนั้นนักลงทุนสามารถใช้ ROE หรือ Return on Equity มาช่วยในการพิจารณาขั้นต้นได้ โดย ROE แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดผลตอบแทนต่อส่วนของทุนของบริษัทว่าให้ผลเฉลี่ยในระดับใด ยิ่ง ROE มีค่ามาก หมายถึงบริษัทมีการทำกำไรที่ดีและมีโอกาสจ่ายเงินปันผล หรือราคาหุ้นมีโอกาสขยับขึ้นให้นักลงทุนได้ชื่นใจ
 
วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังระดับโลก เคยกล่าวไว้ว่า ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นจะดูก่อนว่าบริษัทนั้นมี ROE สูงหรือไม่ เพราะเชื่อว่าหาก ROE สูง จะสะท้อนว่าบริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว นั่นหมายถึงกำไรสุทธิมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ

สูตร ROE = (กำไรสุทธิของกิจการ / ส่วนของผู้ถือหุ้น) × 100

ยกตัวอย่างปี 2563 หุ้น XYZ มีกำไรสุทธิ 10,000 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 50,000 ล้านบาท (10,000 / 50,000) × 100 ดังนั้น ROE ของบริษัทจึงเท่ากับ 20% หมายความว่า บริษัทใช้ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ในการทำกำไรได้ 20 บาท
 
โดยอัตราส่วนนี้จะอธิบายว่า เงิน 100 บาทของผู้ถือหุ้น บริษัทนำไปสร้างผลตอบแทนเป็นกำไรได้กี่บาท ซึ่งโดยทั่วไปยิ่งสร้างกำไรได้มากยิ่งดี ถือว่ายิ่งคุ้มค่ากับเงิน 100 บาท และควรดู ROE ย้อนหลัง เช่น 5 ปี 10 ปี เพื่อดูอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทว่าโตอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

เงื่อนไขในการคัดกรอง
1. อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 15% ตลอด 5 ปี (2559 – 2563)
2. รายได้รวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปี (2559 – 2563)
3. กำไรสุทธิเป็นบวก (ห้ามขาดทุนสุทธิ) ตลอด 5 ปี (2559 – 2563)
 
สำหรับหุ้น 15 อันดับข้างต้นนี้ ถือว่าเป็นหุ้นที่มีการเติบโตของ ROE โดดเด่นมาก และสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ซึ่งสามารถลงทุนระยะยาวเพื่อรับเงินปันผลได้
 
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนสังเกตเห็นว่า ROE อยู่ในระดับต่ำ หรือบางบริษัทมี ROE เป็นศูนย์ (0) อาจจะต้องสอบถามไปยังนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มทุนหรือไม่ หรือถ้าเพิ่มทุนแล้วจะเร่งให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น จนทำให้ ROE เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ เพราะตัวเลขนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
 
แม้ตัวเลข ROE จะไม่ได้บอกทุกอย่าง เช่น หนี้สิน เพราะบริษัทที่มีหนี้สินมากย่อมทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง จนทำให้ ROE เติบโตขึ้น ดังนั้น ต้องดูให้ดี ๆ ว่า ROE สูง ๆ นั้นเกิดจากอะไร
 
ที่สำคัญการวิเคราะห์ ROE ถือเป็นจุดแรกในการเรียนรู้ที่จะคัดกรองหุ้นของบริษัทที่น่าสนใจ นักลงทุนจึงต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐานในประเด็นอื่น ๆ ประกอบด้วย จะได้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ที่มา : SET Invest Now
  
ติดต่อโฆษณา!