03 สิงหาคม 2564
3,246

ติดโควิด แต่หาเตียงไม่ได้ ทำอย่างไรให้รอด

ติดโควิด แต่หาเตียงไม่ได้ ทำอย่างไรให้รอด
HighLight
สถานการณ์โควิดที่บ้านเราประสบอยู่ตอนนี้ ถือว่าหนักหนาสาหัสอย่างมาก โดยเฉพาะกับระบบสาธารณสุข ที่อาจรองรับไม่ไหว ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ “ติดโควิดแต่หาเตียงไม่ได้” ซึ่งแม้ภาครัฐจะมีสายด่วนให้ติดต่อ แต่ก็ใช่ว่าจะได้เตียงอย่างทันท่วงที ครั้นจะไปพึ่งพาโรงพยาบาลเอกชน ก็อาจมีค่าใช้จ่ายมากเกินรับไหว และอาจต้องวางเงินมัดจำจำนวนมากเพื่อจองเตียงด้วยทันข่าวสุขภาพ วันนี้เตรียมข้อมูลการดูแลตัวเอง ในช่วงที่ยังหาเตียงไม่ได้ เผื่อช่วยผ่อนหนักเป็นเบามาฝากกัน


แน่นอนว่า เมื่อติดโควิดแล้ว คงต้องติดต่อเพื่อนำรายชื่อของเราเข้าสู่ระบบของ สปสช. ให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้แปลว่า เราจะหาเตียงได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือการดูแลตนเองอย่างดีที่สุด เพื่อลดโอกาสการป่วยในระดับสีเหลือหรือสีแดงลงให้ได้ ซึ่งเรารวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลวิชัยเวช มาฝาก

2021080-b-01.jpg
 
หากมีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส

  • พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ดื่มน้ำมากๆ แนะนำว่าควรดื่มน้ำเรื่อย ๆ เมื่อดื่มน้ำเพียงพอ เมื่อสังเกตสีของปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน
  • รับประทานยาพาราเซตตามอลทุก 4-6 ชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด
  • เช็ดตัวบริเวณคอ หรือข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดความร้อน
 
หากมีอาการไอ
  • หลีกเลี่ยงการนอนราบ ให้นอนตะแคง หรือ นอนหมอนสูง
  • รับประทานยาแก้ไอ หรือยาอมบรรเทาอาการไอ
  • จิบน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (ห้ามให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือนเด็ดขาด)
 
หากมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่สะดวก
  • เปิดหน้าต่าง หรืออยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • หายใจช้า ๆ ลึกๆ ทางจมูกและปาก เหมือนกำลังจะเป่าเทียน
  • นั่งตัวตรง ไม่นั่งหลังค่อม ผ่อนคลายบริเวณหัวไหล่
  • เอนตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย โดยใช้มือวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง และหายใจลึก ๆ ยาว ๆ จะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
  • พยายามอย่าเครียด ตื่นตกใจ
  • เวลานอนให้นอนตะแคง หรือนอนหมอนสูง
 
หากมีอาการท้องเสีย หรืออาเจียน
  • ให้งดอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผลไม้สด และอาหารย่อยยาก
  • ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด สามารถจิบได้เรื่อย ๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์)
  • ถ้ารับประทานอาหารไม่ได้ ให้รับประทานน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ

นอกจากนี้แนวทางการปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อที่ต้องทำ
 
1. ล้างมือบ่อย ๆ ให้บ่อยมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของตัวเอง เพื่อป้องกันเชื้อสะสมและติดภายในบริเวณบ้าน
 
2. ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนสัมผัสจุดสัมผัสร่วมภายในบ้าน เช่น ลูกบิดประตู ตู้เย็น ก๊อกน้ำ หรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ฉีดบริเวณจุดสัมผัสร่วมทั้งก่อนและหลังจับ
 
3. อย่าพบปะผู้คน งดให้ผู้คนมาเยี่ยมที่บ้าน

4. อยู่ในห้อง แยกจากครอบครัว โดยแยกห้องนอน หากแยกห้องนอนไม่ได้ ควรมีแผ่นพลาสติกแบ่งสัดส่วน
 
5. หากต้องใช้ห้องน้ำร่วมภายในบ้าน เมื่อใช้ห้องน้ำ ผู้ที่ป่วยโควิด-19 ควรปิดฝาโถลงก่อนกดทำความสะอาดทุกครั้ง ควรทำความสะอาดพื้นหลังใช้งานทุกครั้งด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อฆ่าเชื้อโรค และควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายของวัน
 
6. ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แม้จะอยู่ภายในบ้าน
 
7. หลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนในบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องเว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตร
 
8. ไม่อยู่ใกล้เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
 
9. หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อจะไอหรือจามควรใช้ต้นแขนในการปิด
 
10. แยกของใช้ส่วนตัว จาน ชาม ช้อนแก้ว หรือภาชนะต่าง ๆ ไม่ใช้ปะปนกับคนอื่น
 
11. ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น
 
12. แยกทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนด้วยสบู่หรือผงซักฟอก หรือซักร่วมกับน้ำร้อน
 
13. ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90%
 
14. มีถังขยะติดเชื้อแยกเฉพาะ ให้เก็บรวบรวม มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งและล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ
 
แหล่งที่มา : โรงพยาบาลวิชัยเวช

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!