29 กรกฎาคม 2564
6,838

เทียบข้อดีข้อเสีย ชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test vs RT-PCR

เทียบข้อดีข้อเสีย ชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test vs RT-PCR
HighLight
ทุกวันนี้ เห็นคนไทยกำลังหาซื้อจุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง ที่เรียกว่า Rapid Antigen Test กันเป็นจำนวนมาก แถมมีราคาแพง คือราคามากกว่า 300-400 บาทต่อชุด แต่หลายคนก็ยอมจ่าย เพราะจากระดับการแพร่ระบาดตอนนี้ โอกาสที่เราจะสัมผัสกับโรคโดยไม่รู้ตัว มีสูงขึ้น จึงทำให้ชุดตรวจเหล่านี้ขายดีมาก #ทันข่าวสุขภาพ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับชุดตรวจนี้ และเทียบข้อดีข้อเสียกับการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจแบบมาตรฐานด้วย

Rapid Antigen Test คืออะไร ?

การตรวจ Rapid Antigen Test ถือเป็นการตรวจชนิดหนึ่งของวิธีที่เรียกว่า Lateral Flow Test (LFT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยอุปกรณ์ทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่สามารถใช้ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ศูนย์ตรวจในชุมชน ซึ่งวิธีการทำงานของชุด Rapid Antigen Test คือจะตรวจหาสารโปรตีน Antigen ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19


ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำวิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ไว้ดังนี้
  • ใช้ไม้ Swab ป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากโพรงจมูกหรือลำคอ
  • จุ่มไม้ Swab ลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ นำไม้ Swab ออก แล้วปิดด้วยจุกฝาหลอดหยอด
  • หยอดน้ำยาลงในตลับทดสอบตามจำนวนที่ชุดตรวจกำหนด
  • รอผลหลังจากหยดน้ำยาตามช่วงเวลาที่ชุดตรวจกำหนดไว้ โดยมาก 15-30 นาที (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดไว้)
  • การอ่านผลตรวจ
    ผลบวก หรือติดเชื้อ จะมีแถบปรากฏขึ้นทั้งสองแถบคือ แทบทดสอบ (T) และแถบควบคุม (C)
    ผลลบ หรือไม่ติดเชื้อ จะปรากฏเฉพาะแถบควบคุม (C)
    ผลใช้งานไม่ได้ จะไม่มีแถบควบคุม (C) ปรากฏขึ้น มีแค่แถบทดสอบ (T)

แล้ว RT-PCR คืออะไร ?


ถ้าเราติดตามข่าว เราจะพบว่า ระบบสาธารณสุขไทย จะรับผู้ติดเชื้อเข้าระบบ เมื่อทำการทดสอบผ่านระบบ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีหลักในการตรวจสอบโควิดในปัจจุบันแล้ว RT-PCR คืออะไร ต่างจาก Rapid Antigen Test อย่างไร ?

การตรวจ RT-PCR ย่อมาจาก Real Time Polymerase Chain Reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ถือเป็นวิธีการตรวจโควิด-19 ที่แม่นยำที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยตรวจจับกรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic Acid) หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งเป็นโมเลกุลลักษณะเดียวกับดีเอ็นเอ

การตรวจ PCR ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้อง LAB) เพื่อตรวจหา RNA ที่มีปริมาณน้อยมาก และมักได้ผลออกมาภายใน 24 ชั่วโมง 

20210729-b-01

เทียบข้อดีข้อเสียของทั้งสองวิธี


แน่นอนว่า ข้อดีของ Rapid Antigen Test คือความสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกกว่า (ซึ่งหลายประเทศ รัฐบาลแจกชุดตรวจนี้ฟรี เช่น สหราชอาณาจักร) ทำให้การคัดกรองคนจำนวนมาก สามารถทำได้ง่าย และครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนป่วยที่ไม่ได้แสดงอาการ ชุดตรวจนี้ก็สามารถตรวจเจอได้

แต่ข้อเสียของ Rapid Antigen Test ก็มีเช่นกัน คือมีความคลาดเคลื่อนสูง โดยอาจมาจากชุดตรวจเอง หรือมาจากวิธีการตรวจที่ผิด รวมทั้งบางกรณี ที่ชุดตรวจด่วน ก็ไม่สามารถตรวจพบ เช่น หากผู้รับการตรวจ เพิ่งได้รับเชื้อมาหมาด ๆ หรือมีจำนวนเชื้อที่น้อยมากในร่างกาย ชุดตรวจแบบด่วนจะตรวจไม่พบ หรือมีเคสที่ตรวจด้วยชุดตรวจด่วน แล้วผลออกมาเป็นบวก แต่พอยืนยันด้วย RT-PCR แล้วผลเป็นลบ ก็มีเช่นกัน ทางกระทรวงสาธารณสุขไทย จึงต้องให้ผู้ป่วย ยืนยันผลผ่าน RT-PCR เท่านั้น ก่อนนำชื่อเข้าระบบต่อไป

นอกจากนี้ หากเราต้องการเดินทางไปต่างประเทศ หรือสมัครงาน ที่จำเป็นต้องใช้ผลการตรวจโควิด การตรวจด้วย Rapid Antigen Test ก็ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการด้วย

แน่นอนว่าข้อเสียของ RT-PCR คือใช้เวลานาน เฉพาะกระบวนการใน LAB ก็กว่า 24 ชั่วโมงแล้ว ยิ่งหากมีจำนวนผู้เข้ารับการตรวจจำนวนมาก ก็ยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่นในโรงพยาบาลเอกชนของไทย ก็คิดค่าตรวจแบบ RT-PCR ราว 3,000 บาทขึ้นไป

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว
ติดต่อโฆษณา!