19 มิถุนายน 2564
2,330

WHO ชี้ โควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกใน “อินเดีย” กำลังจะครองโลก

WHO ชี้ โควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกใน “อินเดีย” กำลังจะครองโลก
HighLight : 

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่กำลังจะครอบงำไปทั่วโลก สอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่พบว่า สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ Alpha มากถึง 60%

 

การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Dr. Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 ตามเวลาท้องถิ่น ระบุว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นสายพันธุ์ที่กำลังจะครอบงำไปทั่วโลก Dr. Soumya ให้เหตุผลว่า นั่นก็เพราะ “การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” สอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า สายพันธุ์ Delta สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ Alpha มากถึง 60% ซึ่ง Alpha เป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร และติดต่อกันได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปี 2562
 
Dr. Soumya กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ทั่วโลกแปรปรวนมาก เนื่องจากสายพันธุ์นี้ที่กำลังแพร่ระบาด
 
10% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐฯ คือ สายพันธุ์ Delta
ย้อนไปเมื่อวันพุธที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ได้แพร่ระบาดอย่างน้อย 80 ประเทศ และยังคงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก อย่างที่สหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Delta คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งขยับจากอัตราร้อยละ 6 ที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
 
CDC สหรัฐฯ เริ่มกังวล แต่มั่นใจวัคซีนที่ใช้ในสหรัฐฯ ยังป้องกันสายพันธุ์ Delta ได้
Dr. Rochelle Walensky ผู้อำนวยการ CDC เรียกร้องให้ชาวอเมริกันเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเธอคาดว่า สายพันธุ์ Delta จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลในสหรัฐฯ  แต่เธอก็บอกผ่านรายการ
“Good Morning America” ทางช่อง ABC ว่า “แม้สายพันธุ์ Delta แพร่กระจายเร็วจนน่าเป็นห่วง แต่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพที่จะรับมือได้ ดังนั้น ถ้าคุณฉีดวัคซีน คุณก็จะได้รับการปกป้องจากสายพันธุ์นี้” (วัคซีนโควิด-19 ที่ อย. สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ ยี่ห้อ Moderna , Johnson & Johnson และ Pfizer) 
 
ส่วนสถานการณ์ที่สหราชอาณาจักร ก็พบว่า สายพันธุ์ Delta กลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดหนัก แซงหน้าสายพันธุ์ Alpha ที่เคยพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Delta คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนที่แล้ว องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta เป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวลซึ่งปัจจัยที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์นี้น่าวิตกกังวล ก็คือ ถ้าพบว่าเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงกว่า หรือดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน หรือยากแก่การรักษาพยาบาลมากขึ้น
 
WHO พบสัญญาณบ่งบอกสายพันธุ์ Delta อาจรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น 
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ WHO รายงานว่า สายพันธุ์ Delta ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น มีสัญญาณที่บ่งบอกว่าสายพันธุ์ Delta สามารถกระตุ้นอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันข้อสรุปเหล่านั้น ซึ่ง Dr. Soumya กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่านักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์นี้ รวมถึงผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 อย่างเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา CureVac บริษัทสัญชาติเยอรมัน ก็ได้อ้างถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ชนิดกลายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงเหลือเพียง 47% จากการทดลองทางคลินิก ในกลุ่มอาสาสมัคร 40,000 คน
 
อังกฤษ ยันผลวิจัยวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca มีประสิทธิภาพ ถ้าฉีดครบ 2 โดส
ส่วนการวิเคราะห์จากองค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (Public Health England) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14 มิ.ย. 64) พบว่า วัคซีนยี่ห้อ Pfizer และวัคซีน AstraZeneca ถ้าฉีดครบจำนวน 2 โดสนั้น มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจาก สายพันธุ์ Delta 
 
Dr. Soumya กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อกี่ราย และในจำนวนนี้ มีกี่คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และป่วยหนัก นี่คือสิ่งที่เรากำลังจับตาดูอย่างระมัดระวัง
 
แหล่งที่มา :
 
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

 

ติดต่อโฆษณา!