10 มิถุนายน 2564
2,780

นักระบาดวิทยาอังกฤษ ชี้ พันธุ์ Delta แพร่เร็วกว่าโควิด-19 พันธุ์ Alpha มากถึง 60%

นักระบาดวิทยาอังกฤษ ชี้ พันธุ์ Delta แพร่เร็วกว่าโควิด-19 พันธุ์ Alpha มากถึง 60%
Highlight

นักระบาดวิทยาชื่อดังของสหราชอาณาจักร ระบุว่า โควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในอินเดีย เชื่อกันว่าแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ Alpha ที่เคยพบในอังกฤษก่อนหน้านี้ ถึง 60% ส่วน “ไทย” พบผู้ติดเชื้อ สายพันธุ์ Delta เพิ่มเป็น 348 คน แล้ว

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (9 มิ.ย. 64) Neil Ferguson นักระบาดวิทยาชื่อดังจาก Imperial College London เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว Reuters ว่า ข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ สามารถประเมินได้ว่า โควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในอินเดีย แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ Alpha ถึง 60%

 

Neil Ferguson นักระบาดวิทยาอังกฤษ กล่าวว่า การสร้างแบบจำลองบ่งชี้ว่าการระบาดระลอกที่ 3

ในสหราชอาณาจักร จากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) หนักหน่วงพอ ๆ กับ การระบาดระลอก 2 ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Alpha ที่พบครั้งแรกในเมืองเคนต์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ

 

แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าการรักษาในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่า วัคซีนสามารถป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์ Delta ได้ดีแค่ไหน

 

อังกฤษเตรียมปลดล็อกดาวน์ 21 มิ.ย. 64 แต่อาจ “เลื่อน”

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า การปลดล็อกดาวน์โควิด-19 เพื่อเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของอังกฤษ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 21 มิถุนายน 2564 “อาจเลื่อนออกไป” เนื่องจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta (อินเดีย)

 

75% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ที่อังกฤษ ฉีดวัคซีนโดสแรกแล้ว

สถิติล่าสุด สหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 กว่า 127,000 คน ภายในเวลา 28 วัน

ขณะเดียวกัน ประชากรวัยผู้ใหญ่มากกว่า 3 ใน 4 ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดสแรกแล้ว

 

สาธารณสุขอังกฤษ ชี้ Delta ลดประสิทธิภาพ Pfizer และ AstraZeneca เข็มแรก !

องค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (PHE) ได้แสดงให้เห็นว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ลดประสิทธิภาพวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ในโดสแรก แต่ก็วัคซีน 2 ยี่ห้อนี้ ก็ยังมีประสิทธิภาพการป้องกันสูง เมื่อได้รับการฉีดครบ 2 โดส


“ไทย” พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 348 คน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด ซึ่งผลจากการการสุ่มตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสซาร์-โค-วี-2 (SARS-CoV-2) ตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 รวมจำนวน 4,185 คน พบ สายพันธุ์ต่าง ๆ เรียงตามลำดับ ดังนี้

1. สายพันธุ์ Alpha (อังกฤษ) พบ 3,703 คน คิดเป็นร้อยละ 88.48
2. สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) 348 คน คิดเป็นร้อยละ 8.32
3. สายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1(dade G), B.1(dade GH), B.1.1.1 (dade GR) 98 คน คิดเป็นร้อยละ 2.34
4. สายพันธุ์ Beta (แอฟริกาใต้) 26 คน คิดเป็นร้อยละ 0.62
5. สายพันธุ์ B.1.524 พบ 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.24


Delta แพร่กระจายเร็วกว่า Alpha แต่ยังไม่พบว่ารุนแรงกว่า

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลรายงานขององค์กรสาธารณสุขประเทศอังกฤษ (Public Health England) และองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสายพันธุ์ Alpha เป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายง่าย ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้

 

ส่วนสายพันธุ์ Delta พบว่ามีการแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ Alpha อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ Alpha แต่อย่างใด วัคซีนที่ใช้ในประเทศยังสามารถใช้ได้กับสายพันธุ์นี้

 

ส่วนสายพันธุ์ Beta พบว่ามีการแพร่กระจายได้ช้ากว่าสายพันธุ์อื่น แต่ทำให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

ข้อมูลล่าสุด (วันที่ 9 มิถุนายน 2564) มีการรายงานพบสายพันธุ์ Delta ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 348 คน

1. กรุงเทพมหานคร 318 คน
2. อุดรธานี 17 คน
3. สระบุรี 2 คน
4. นนทบุรี 2 คน
5. ขอนแก่น 2 คน
6. ชัยภูมิ 2 คน
7. พิษณุโลก 1 คน
8. ร้อยเอ็ด 1 คน
9. อุบลราชธานี 1 คน
10. บุรีรัมย์ 1 คน
11. สมุทรสาคร 1 คน

 

แหล่งที่มา :

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/delta-coronavirus-variant-believed-have-60-transmission-advantage-uk-2021-06-09/

https://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/1153

ติดต่อโฆษณา!