01 มิถุนายน 2564
3,850

กินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

กินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
Highlight

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ชี้แจง ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ แต่ถ้ายังกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ มาทดแทน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 64) พลอากาศโทนายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ประกาศเรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน


ใจความสำคัญระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนมีหลายอย่าง เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด , ยาฉีดคุมกำเนิด , ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด ในประเทศไทย การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ และมีผลข้างเคียงน้อย ยาเม็ดคุมกำเนิดได้รับการวิจัย และพัฒนาด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี


ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพิ่มความเสี่ยงเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ (ชนิดฮอร์โมนรวม) ได้แก่ ยาเม็ด , ยาฉีดคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการนี้ แต่ภาวะนี้ พบน้อยมากในหญิงไทย และยังพบได้น้อยกว่าในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีระดับเอสโตรเจนสูงมากตามธรรมชาติ


งานวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทั่วโลก ยังไม่พบการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด


กินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ มาทดแทน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

 

แม้งานวิจัยจะยังไม่พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน หรือไม่ แต่  “ยาคุมกำเนิด” คือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงเกิด ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ดังนั้น ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดคืออะไร เกิดจากอะไร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน ออกมาอธิบายเมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 64)

 

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดคืออะไร ?

ภาวะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism) เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำ และหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่ปอด (Venous thromboembolism; VTE) เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยอย่างเฉียบพลัน และทำให้มีอัตราป่วยตายสูงได้ถึงร้อยละ 30 ผู้ป่วยที่เกิดโรคนี้

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวการณ์เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด

1. พันธุกรรม
2. ภาวะโรคมะเร็ง
3. การไม่เคลื่อนที่เป็นเวลานานๆ
4. การกินยาคุมกำเนิด
5. การได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน


“ไทย” พบผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทุก ๆ 200 – 400 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน

จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่เก็บข้อมูลผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอด ระหว่างปี 2559 – 2563 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวประมาณปีละ 12,900 – 26,800 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยประมาณ 200 – 400 รายต่อประชากรหนึ่งล้านคน

 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุก ๆ 1 ล้านคน พบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เฉลี่ย 2.5 คน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 พบว่า มีรายงานพบผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั่วโลกทั้งสิ้น 4,575 ราย จากการฉีดกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเกิดโรคนี้เพียง 2.5 รายต่อประชากรล้านคน ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่ำกว่าอัตราการเกิดในผู้ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก

 

ฉีดวัคซีนโควิด-19 Sinovac 200 ล้านโดส ยังไม่พบว่าเป็นสาเหตุการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

วัคซีนของบริษัท Sinovac นั้น มีรายงานพบ 7 ราย จากการฉีดไปมากกว่า 200 ล้านโดส และไม่พบสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสูงขึ้น หรือวัคซีนเป็นสาเหตุโดยตรง นอกจากนี้จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ภายหลังการได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac มากกว่า 2 ล้านโดสในคนไทย ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในปอดภายหลังการได้รับวัคซีนนี้

 

กรมควบคุมโรคแนะ ฉีดวัคซีน Sinovac ต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาคุมกำเนิด

ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนของบริษัท Sinovac ต่อไปได้ และผู้มารับบริการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงในการฉีดวัคซีน แต่ให้เฝ้าดูอาการ และหากมีอาการผิดปกติที่ไม่แน่ใจว่าจะมีภาวะนี้หรือไม่ เช่น อาการเหนื่อยง่าย , ใจสั่น , เจ็บหน้าอก , ไอเป็นเลือด , ปวดบวมขา หรืออาการอื่น ๆ ที่รุนแรง ให้ปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

 

กรมควบคุมโรค เดินหน้าสอบสวนการเสียชีวิตของหญิงอายุ 32 ปี ที่เสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังรับวัคซีน Sinovac

จากกรณีที่หญิงอายุ 32 ปี ชาวอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 64 ซึ่งก่อนหน้านั้น 13 วัน ได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ในวันที่ 14 พ.ค.2564 จากนั้น 5 วันต่อมา ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น ต่อมาหอบเหนื่อย และถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

 

แหล่งที่มา :

http://www.rtcog.or.th/home/ประกาศการฉีดวัคซีน-และก/5006/

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18804&deptcode=brc

ติดต่อโฆษณา!