28 พฤษภาคม 2564
6,014

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สั่ง “Sinopharm” “ไม่ฟรี” เป็น “วัคซีนทางเลือก” เน้นฉีดกลุ่มองค์กร

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สั่ง “Sinopharm”  “ไม่ฟรี” เป็น “วัคซีนทางเลือก” เน้นฉีดกลุ่มองค์กร
HighLight

“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สั่งวัคซีนโควิด-19 “Sinopharmนำเข้า “ไทย” ล็อตแรก 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ย้ำว่าเป็น “วัคซีนทางเลือก” ไม่ใช่วัคซีนฟรี เบื้องต้น จัดสรรการขายต่อกลุ่มองค์กร แบบไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อการกระจายการฉีดวัคซีน ควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด


วันนี้ (28 พ.ค. 2564) ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือ แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 “ทางเลือก” ของ “Sinopharm” (ซิโนฟาร์ม) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

วัคซีนทางเลือก “Sinopharm” จะนำเข้า “ไทย” เมื่อไหร่ ?
         เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด จะนำเข้า วัคซีน “Sinopharm” เข้าไทย ล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่จะมาถึงเมื่อไหร่ และอย่างไรนั้น ดูเรื่องโลจิสติกส์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ย้ำ “Sinopharm” เป็นวัคซีนทางเลือก  
        วัคซีน Sinopharm จัดหามาจากงบประมาณรายได้ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ้ามีหน่วยงานใดต้องการจะขอซื้อ สามารถมาติดต่อที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้  ขณะนี้ที่ติดต่อมาแล้ว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนหน่วยงานราชการแต่ละจังหวัด ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ ซึ่งขณะนี้มี อบจ. บางจังหวัด ติดต่อเข้ามาแล้ว ซึ่งจะไม่ไปปนกับวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนทั่วไปฉีดฟรี

กำหนดราคาวัคซีนทางเลือก “Sinopharm” กี่บาท
        ต้องรอดูต้นทุนที่ซื้อ , ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะไม่แสวงหากำไร

ถ้ามีผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทางเลือก หน่วยงานไหนรับผิดชอบ ?  
        ถ้าฉีดวัคซีน Sinopharm แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียง ยืนยันว่า มีการรวมค่าประกันอยู่ในราคาจำหน่ายวัคซีนนี้อยู่แล้ว

ประชาชนเดินทางมาฉีดวัคซีนทางเลือกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้หรือไม่ ?  
        เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ยังไม่มีแนวคิดนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีการตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนฟรีของรัฐบาลอยู่ ถ้ามีประชาชนเดินทางมาติดต่อขอฉีดวัคซีนแบบมีค่าใช้จ่าย ก็เกรงว่าจะเกิดความสับสนกัน แต่ในอนาคตก็อาจจะมีการจัดจุดฉีดวัคซีนแยกของ Sinopharm โดยเฉพาะ

กลุ่มองค์กรที่ซื้อวัคซีน Sinopharm ต่อ จะฉีดวัคซีนที่ไหน ?
        หน่วยงานที่ซื้อวัคซีน Sinopharm สามารถนำไปฉีดวัคซีนในจุดฉีดที่ดำเนินการถูกต้องตามมาตรฐาน จะต้องมีหลักแหล่งที่แน่นอน เพื่อป้องกันวัคซีนหลุดรอด ถูกนำไปขายเก็งกำไร

สรุป คนลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะได้ฉีดวัคซีนอะไร ?
        คนที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะได้ฉีดวัคซีนฟรีที่รัฐบาลจัดสรร นั่นก็คือ Sinovac หรือ AstraZeneca ไม่ใช่วัคซีนทางเลือก Sinopharm

การนำเข้า Sinopharm ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้เอกชนสามารถนำวัคซีนทางเลือกเข้ามาได้หรือไม่         
        เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ย้ำว่า ไม่ได้ห้าม แต่เอกชนติดต่อกันเองไม่ได้ เนื่องจากผู้ผลิตไม่เจรจาด้วย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทำได้ เพราะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาล ในการเป็นตัวแทนในการจัดหาวัคซีนทางเลือก

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น นอกจาก Sinopharm ไหม ?   
        “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เป็นสถาบันวิจัย ศึกษาหาข้อมูลตลอดเวลา ว่าจะมีวัคซีนชนิดไหน ที่เหมาะสมกับเชื้อที่อาจจะระบาดในอนาคตข้างหน้า คาดว่ามีความเป็นไปได้ในการติดต่อซื้อยี่ห้ออื่นในอนาคต

Sinopharm ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. ไทย เป็นรายการที่ 5 แล้ว  
        นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติ ขึ้นทะเบียนวัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่ง Sinopharm ผลิตขึ้นโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Product Co.LTD) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต “ชนิดเชื้อตาย” โดยการฉีดจะกำหนดให้ใช้ 2 เข็มในระยะห่างกัน 28 วัน โดยวัคซีนนี้ได้รับการรับรองให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO EUL) แล้ว

ติดต่อโฆษณา!