15 พฤษภาคม 2564
2,405

“หมอแก้ว” สรุปเหตุการณ์ 500 วัน โควิด-19 ขอ “คนไทย” ละอัตตา รวมใจสู้ไวรัสร้าย

“หมอแก้ว” สรุปเหตุการณ์ 500 วัน โควิด-19  ขอ “คนไทย” ละอัตตา รวมใจสู้ไวรัสร้าย
Highlight

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ หรือ “หมอแก้ว” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญ ระยะเวลา 500 วัน นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่เริ่มรู้ข่าวการอุบัติโรคที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จนครบ 500 วัน  พร้อมกับขอให้ “คนไทย” ละทิ้งอัตตา รวมใจกันสู้ไวรัสร้าย

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “หมอแก้ว ผลิพัฒน์”  ใจความดังต่อปีนี้


๕๐๐ วัน กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การวิ่งมาราธอนที่คนไทยทุกคนต้องวิ่งไปด้วยกัน


จากวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ (นับเป็นวันที่ 0 หรือ Day 0) ซึ่งเป็นวันที่เราเริ่มได้ยินข่าวว่ามีโรคอะรูก็ไม่ไร้ (อะไรก็ไม่รู้) เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น มาถึงวันนี้นับได้ ๕๐๐ วันพอดี ประเทศไทยเราได้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย ขอใช้โอกาสครบรอบ 500 วัน สรุปเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าสำคัญที่เกิดขึ้น เพื่อให้หลายท่านได้ทบทวนและเรียนรู้กันพอสังเขปแล้วกันครับ


31 ธันวาคม 2562 จีนรายงานการพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุเป็นกลุ่มก้อน ต่อองค์การอนามัยโลก โดยพบผู้ป่วยแล้ว 27 คน ทั้ง 27 คน มีประวัติเกี่ยวข้องกับ Wuhan Huanan Seafood Market และระบุว่าไม่มีการแพร่โรคจากคนสู่คน


ปี 2563

3 มกราคม ปีที่แล้ว ได้แจ้งคำสั่งในเริ่มดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของกรมควบคุมโรคสำหรับโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ และได้แต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ ท่ามกลางเสียงบ่นเล็กน้อยๆ ของพวกน้องๆ ที่รู้ว่าต้องเร่ิมมาทำงานกันในวันเสาร์อาทิตย์

7 มกราคม - มีข่าวว่าเชื้อก่อโรคคือ bat SARS-like coronavirus

8 มกราคม - พบผู้ป่วยสงสัยเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผลการตรวจเบื้องต้นพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ชัดเจน

10 มกราคม - ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเชื้อ bat SARS-like coronavirus ในผู้ป่วย

11 มกราคม - จีนเปิดตัวเชื้อก่อโรค

13 มกราคม - ไทยรายงานการพบผู้ป่วยรายแรก

20 มกราคม - ทางการจีนประกาศว่าโรคโควิด 19 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

23 มกราคม - จีนเริ่มมาตรการล็อกดาวน์เมือง Wuhan ห้ามประชาชนออกจากบ้าน

27 มกราคม - รัฐบาลได้ยกระดับให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

30 มกราคม - องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ

31 มกราคม - รายงานผู้ป่วยคนไทยติดเชื้อในประเทศเป็นรายแรก

4 กุมภาพันธ์ - รับคนไทย 138 คนจากเมืองอู่ฮั่นกลับประเทศไทย โดยได้รับตัวไว้สังเกตอาการในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พบผู้ติดเชื้อ 1 คน

15 กุมภาพันธ์ - ญี่ปุ่นบริจาค Favipiravir ให้ประเทศไทย จำนวน 200 เม็ด

24 กุมภาพันธ์ - ยา Favipiravir ล็อตแรก 5,000 เม็ด ส่งถึงกรมควบคุมโรค

26 กุมภาพันธ์ - ยา Remdesivir ล็อตแรก ส่งถึงกรมควบคุมโรค

29 กุมภาพันธ์ - คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประเทศไทยรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เสียชีวิตเป็น “รายแรก”

2 มีนาคม - มีข่าวแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้เดินทางกลับประเทศ

5 มีนาคม - ประกาศพื้นที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย

6 , 8 มีนาคม - รายการมวยที่สนามมวยลุมพินี และสนามมวยราชดำเนิน

12 มีนาคม - สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

13 มีนาคม - ผู้มีชื่อเสียงที่ทำหน้าที่พิธีกรในสนามมวยประกาศตัวว่าติดเชื้อโควิด 19

13 มีนาคม - สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประกาศขอให้คนไทยที่เข้าร่วมงานดาวะห์ และผู้ติดตามใกล้ชิดเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไปพบแพทย์ทันที

17 มีนาคม - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน และให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนาชาติ สถาบันกวดวิชา ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณและโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และงดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค

21 มีนาคม - ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศกิจการและสถานที่เสี่ยงบางประเภททั่วกรุงเทพฯ เป็นเวลา 22 วัน ทำให้ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก และพบการรายงานผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ

22 มีนาคม - รายงานผู้ป่วยยืนยันสูงสุดของการระบาดในระลอกแรก จำนวน 188 คน

24 มีนาคม - ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563

31 มีนาคม - ประกาศให้สิทธิการรับบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด 19 อยู่ในขอบเขตบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

2 เมษายน - ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) และสั่งห้ามไม่ให้คนต่างชาติและคนไทยเดินทางเข้าประเทศไทย

4 เมษายน - สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ ห้ามเครื่องบินทุกประเทศและผู้โดยสารเข้าประเทศไทย 3 วัน และได้ห้ามต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

7 เมษายน - คณะรัฐมนตรีมีมติเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 63               

8 เมษายน - กระทรวงวัฒนธรรมออกประกาศห้ามจัดงานสงกรานต์

9 เมษายน - กรุงเทพมหานคร และหลายจังหวัดเริ่มประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 54 คน และหลังจากวันที่ 9 เมษายนเป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีจำนวนน้อยกว่า 100 คน มาโดยตลอด

13 เมษายน - ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไทย ได้พิจารณาออกคำสั่งปิดร้านค้าและสถานประกอบการจำหน่ายสุราเป็นการชั่วคราว

18 - 20 เมษายน - เริ่มเกิดกระแสสังคมเกี่ยวกับผู้มีจิตอาสาแจกสิ่งของ

24 เมษายน - บางจังหวัดในไทย (นครราชสีมา , น่าน) เริ่มผ่อนปรนมาตรการ ปลดล็อกสถานที่ ธุรกิจบางประเภท

27 เมษายน - รายงานผู้ป่วยเป็นเลขหลักเดียว (9 ราย) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

3 พฤษภาคม - เริ่มมาตรการผ่อนปรน โดยเริ่มจากกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน และประเมินทุก ๒ สัปดาห์

13 พฤษภาคม - ไทยไม่พบผู้ป่วย (0 ราย) ในรอบเกือบ 4 เดือน

17 พฤษภาคม - เริ่มมาตรการผ่อนปรน หรือมาตรการคลายล็อก ระยะที่ 2

25 พฤษภาคม - รายงานผู้ติดเชื้อในประเทศคนสุดท้ายของการระบาดระลอกที่ 1

1 มิถุนายน - เกิดเหตุการณ์ประชาชน ออกไปเที่ยวหาดบางแสนจนล้นหาด ทำให้เทศบาลเมืองแสนสุข  ต้องออกประกาศปิดถนน และห้ามเข้าพื้นที่ชายหาดในเวลาต่อมา

5 มิถุนายน - กระทรวงคมนาคม ได้แจ้งให้หน่วยงานในสังกัดที่ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 100 % ทั้งรถโดยสารสาธารณะ (รถทัวร์) ทั่วประเทศ รถไฟทางไกล และเครื่องบิน

9 - 10 กรกฎาคม - คณะผู้บัญชาการทหารบก สหรัฐอเมริกา เดินทางมาประเทศไทย และสามารถเข้ามาปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ต้องกักกันตัว

12 กรกฎาคม - ศบค. เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายผู้ไม่มีสัญชาติไทย เข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับกลุ่ม Medical Program (medical quarantine) โดยกำหนดเกณฑ์การเข้ามาและเลือกประเทศที่เสี่ยงต่ำถึงปานกลางก่อน

13 กรกฎาคม - เกิดเหตุการณ์ทหารอียิปต์ติดเชื้อ ไม่ให้ความร่วมมือตรวจหาเชื้อ และยังออกนอกโรงแรมกักกันโรค ที่จังหวัดระยอง และพบว่ามีการออกไปเดินห้างสรรพสินค้า และเด็กหญิงอายุ 9 ขวบลูกสาวอุปทูตติดเชื้อและเดินทางเข้ามาพักที่คอนโดส่วนตัวใน กทม.

20 - 24 กรกฎาคม - องค์การอนามัยโลกและองค์กรเครือข่ายดำเนินการสรุปบทเรียนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย และดำเนินการถ่ายทำสารคดีสะท้อนความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 1 ของประเทศไทย

11 สิงหาคม - เกิดกรณีที่มีชายชาวญี่ปุ่นติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลังเดินทางกลับจากไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งการตรวจหาเชื้อของประเทศญี่ปุ่น เป็นการตรวจที่สนามบิน โดยใช้วิธี CLEIA (ChemiLuminescent Enzyme ImmunoAssay) โดยใช้ตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งต่อมาเมื่อทำการตรวจยืนยัน ก็พบว่าผู้เดินทางคนดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อ

17 สิงหาคม - เกิดกรณีชาวมาเลเซียติดเชื้อโควิด 19 หลังเดินทางกลับจากไทย ในประเทศไทยได้ดำเนินการสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัส พบว่าผู้สัมผัสทุกรายไม่มีผู้ใดติดเชื้อ 
 15 กันยายน - ครม. อนุมัติหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ให้คนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานและ ศบค. อนุมัติให้จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดนำร่องเปิดรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาความต้องการแรงงาน และอนุญาตแรงงานกัมพูชาเป็นชุดแรกจำนวน 500 ราย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรหมู่บ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

28 กันยายน - ศบค. มีมติอนุญาตบุคคล 6 กลุ่ม เดินทางเข้าไทย เช่น นักกีฬาต่างชาติที่จะเข้ามาแข่งขันกีฬาจักรยานทางไกล นักบินและลูกเรือ ผู้ที่ถือวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวประเภทต่างๆ ผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม long stay   ผู้ถือบัตร APEC Card เป็นต้น

1 ตุลาคม - มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่สำคัญคือมีท่านปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย และอธิบดีกรมสุขภาพจิต ท่านใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

9 ตุลาคม - กรมควบคุมโรค เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่อย่างจริงจัง ด้วยการยกระดับและปรับปรุงสมรรถนะด้านต่างๆ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงแนวทางการควบคุมโรค การจัดสถานกักกันเพิ่มเติม การวางระบบเฝ้าระวังและตรวจจับในหลายระดับ การเพิ่มจำนวนหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค 3 เท่าจากที่มีอยู่ 1,000 ทีม การเตรียมความพร้อมระบบบัญชาการเหตุการณ์ทุกการขยายศักยภาพด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น

16 ตุลาคม - เริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

15 ตุลาคม - กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี ประกาศความร่วมมือกับ AstraZeneca และมหาวิทยาลัย Oxford ผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นชาติแรกในอาเซียน

17 ตุลาคม – ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ประกาศปิดกิจการที่มีความเสี่ยง จำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่เสี่ยง เพิ่มความเข้มงวดมาตรการป้องกันควบคุมโรค ปิดด่านขนส่งสินค้า และเข้มงวดป้องกันการเดินทางเข้าออกผ่านทางช่องทางธรรมชาติ

21 ตุลาคม - พบผู้ติดโรคโควิด 19 ในประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส วัย 57 ปี ซึ่งได้รับการกักตัวครบ 14 วัน ในสถานกักกันทางเลือกแล้ว คาดว่าอาจจะเป็นการติดเชื้อระหว่างที่กักกันตัวอยู่ในสถานที่กักกันทางเลือก ซึ่งนำไปสู่การเข้มงวดวิธีปฏิบัติในสถานกักกันทางเลือก

26 ตุลาคม - สถานการณ์การระบาดที่แม่สอดเริ่มดีขึ้น จังหวัดตาก จึงเริ่มมาตรการผ่อนคลาย และให้สามารถกลับมาเปิดด่านแม่สอดได้ ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่เคร่งครัด

30 ตุลาคม - พบแรงงานเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมายผ่านทางชายแดนไทย - มาเลเซีย ติดเชื้อไวรัส
โคโรนา
2019 ที่พัทลุง 1 ราย

8 พฤศจิกายน - กระทรวงสาธารณสุข มีแผนที่จะเริ่มนำร่องการกักตัว 10 วันในกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย

10 พฤศจิกายน - พบผู้ติดเชื้อในประเทศ 1 ราย อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพศชาย สัญชาติฮังการี อายุ 53 ปี อาชีพนักการทูต มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันที่เป็นชาวต่างชาติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมสถานกักกันทางเลือก (ASQ)

17 พฤศจิกายน - ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณ 6,049,723,117 บาท เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำนวนวัคซีน 26 ล้านโดส

28 พฤศจิกายน - พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ หญิงวัย 29 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ว่า จากการสอบสวนทราบว่าได้เดินทางกลับจากทำงานที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และลักลอบเดินทางเข้าไทยผ่านทาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้น ยังคงพบผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามมาจากฝั่งท่าขี้เหล็กอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทางการจัดช่องทางพิเศษให้ผู้เดินทางเข้าพักสังเกตอาการที่ local quarantine จำนวนผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าประเทศจึงค่อย ๆ ลดลง

9 ธันวาคม - ครม. มีมติอนุมัติผ่อนปรนให้ต่างด้าวที่เป็นนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa, STV) สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้โดยไม่จำกัดประเทศ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข การขอวีซ่า พร้อมแจ้งสถานที่พำนักในไทยให้ชัดเจน และยินยอมที่จะกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

17 ธันวาคม - พบผู้ติดเชื้อรายแรกในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจากการสอบสวนโรคในระยะต่อมาพบว่าได้มีการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วในสมุทรสาคร การระบาดระลอกใหม่นี้ ได้ส่งผลกระทบต่อจังหวัดที่มีผู้เดินทางเข้ามายังสมุทรสาครอย่างกว้างขวาง

19 ธันวาคม - พบผู้ติดเชื้อยืนยันเป็นจำนวนมากจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 43 ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจทั้งหมด และในวันเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ประกาศปิดตลาดกลางกุ้ง

20 ธันวาคม - พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหลักร้อยในรอบหลายเดือน โดยได้รายงานผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 576 ราย แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าว 516 ราย ติดเชื้อในประเทศ 19 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ในสถานที่กักกันแห่งรัฐ 41 ราย

25 ธันวาคม - กระทรวงสาธารณสุขเปิดโรงพยาบาลสนาม บริเวณตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยเริ่มเปิดให้บริการจำนวน 30 เตียง และสามารถขยายศักยภาพให้สามารถมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยได้สูงสุด 100 เตียง

26 ธันวาคม - สมุทรสาครเริ่มปฏิบัติการตรวจเชิงรุกเพื่อประเมินสถานการณ์ และควบคุมโรคโรค โดยตั้งเป้าที่จะตรวจโรงงานขนาดใหญ่ให้ได้ทุกแห่งภายใน ๒ สัปดาห์

30 ธันวาคม - จังหวัดสมุทรสาครเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งแรก ภายในวัดโกรกกราก

 

เริ่มต้นปี 2564

4 มกราคม - จังหวัดสมุทราสาครเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ ๒ สนามกีฬา อบจ.

8 มกราคม - อำเภอแม่สอดพบคนไทยติดโควิด 17 คน จาก 40 คน โดยคนไทยทั้ง 40 คนเป็นผู้เดินทางข้ามมาจากเมียนมา และเข้าสู่สถานที่กักกันภายในอำเภอแม่สอด

25 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ - ช่วงเวลา 10 วันที่สมุทรสาคร รายงานผู้ป่วยอย่างน้อย 733 คน

3 กุมภาพันธ์ - จังหวัดสมุทรสาครเริ่มดำเนินการควบคุมการระบาดและการจำกัดการแพร่ระบาดในโรงงานขนาดใหญ่ ๙ แห่ง โดยมีแผนจะปิดกั้นไม่ให้แรงงานของบริษัทออกมาปะปนกับประชาชนภายนอกเป็นเวลาอย่างน้อย ๔ สัปดาห์

9 กุมภาพันธ์ - พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในตลาดพรพัฒน์ ปทุมธานี

22 กุมภาพันธ์ - นักท่องเที่ยวจากยุโรปกลุ่มแรก 59 คน เดินทางถึง จ.ภูเก็ต พร้อมตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้ากักตัวใน Villa Quarantine ที่โรงแรมศรีพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ภายใต้มาตรการสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด

24 กุมภาพันธ์ - วัคซีน Sinovac 200,000 โดสแรก ขนส่งถึงประเทศไทย

28 กุมภาพันธ์ - ประเทศไทยเริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 254 คน ที่สถาบันบำราศนราดูร 95 คน และที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร 159 คน

1 มีนาคม - กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สมุทรปราการ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเริ่มการฉีดวัคซีนเข็มแรกของจังหวัด ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งปิดศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 โครงการวัฒนาแฟคตอรี่

2 มีนาคม - ครม. อนุมัติงบประมาณ 6,387,285,900 บาทเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 จำนวน 35 ล้านโดส

3 มีนาคม - จังหวัดสมุทรสาครออกคำสั่งเรื่อง ผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19 โดยลดระดับจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

8 มีนาคม - วัคซีนบริษัท AstraZeneca ส่งถึงไทย จำนวน 117,000 โดส ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำการเปิดศูนย์ห่วงใหญ่คนสาคร แห่งที่ 10 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม

12 มีนาคม - นายกรัฐมนตรีเลื่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากมีกระแสข่าวกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca เป็นการชั่วคราว หลังมีรายงานกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับวัคซีนบางราย ในวันเดียวกัน ในกรุงเทพมหานครได้มีการตรวจพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในตลาดบางแค

16 มีนาคม - นายกรัฐมนตรีได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัท AstraZeneca

17 มีนาคม - อนุมัติและเริ่มฉีดวัคซีนฉุกเฉินในกลุ่มเสี่ยงที่มีความเกี่ยวข้องกับ Cluster บางแค โดยได้มีการเตรียมวัคซีนรองรับไว้ 6,000 โดส

3 เมษายน - สำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 13 คน ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ 3 แห่ง ได้แก่ Krystal Club, ลาบลาบาร์ และ Beer House ย่านทองหล่อ-เอกมัย นับเป็นการระบาดระลอกที่ ๓ ของประเทศไทย ซึ่งการแพร่ระบาดก่อนช่วงสงกรานต์ ซึ่งต่อมาได้ก่อให้เกิดการระบาดแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงจนถึงปัจจุบัน

27 เมษายน - เริ่มพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนคลองเตย

30 เมษายน - กระทรวงสาธารณสุขเปิดศูนย์แรกรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาคารนิมิตบุตร เพื่อช่วย กทม. ในการจัดการผู้ติดเชื้อ

4 พฤษภาคม - เริ่มฉีดวัคซีนเพื่อหวังผลในการควบคุมโรคในชุมชนคลองเตย

14 พฤษภาคม - วันที่ 500 - Day 500 - นายกรัฐมนตรีเปิดโรงพยาบาลสนามขนาด 5,200 เตียง ภายในอาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง


500 วันผ่านไปแล้ว

สถานการณ์เดินมาจนถึงวันนี้

วันที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยถือได้ว่า

อยู่ในระดับที่ “รุนแรงที่สุด” เท่าที่เราเผชิญมา

ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วครับ

ที่ทุกคนจะต้องลุกขึ้นสู้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่


ตอนที่ไฟไหม้ เราควรจะเร่งรีบดับไฟ

ไม่ใช่ไปยืนด่าไฟที่กำลังไหม้

หรือกล่าวโทษใครบางคนหรืออะไรบางอย่างที่เราคิดไปเองว่าอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้

หากการทะเลาะกัน ทำให้การดับไฟทำได้ช้าลง

หยุดทะเลาะกันแล้วหันมาร่วมมือกันดับไฟก่อนดีกว่ามั้ยครับ

น้ำลายดับไฟไม่ได้ครับ

หยุดพูดแล้วเริ่มลงมือทำ

บางคนอาจต้องวางมือจากสิ่งที่กำลังจดจ่ออยู่ตรงหน้า

มาช่วยกันดับไฟก่อนเถอะครับ

ละทิ้งตัวตน ละทิ้งอัตตา

แล้วมาช่วยกัน


จริงๆ แล้วคนไทยทุกคนกำลังอยู่ในช่วงสงคราม

และเราก็มีศัตรูตัวเดียวกัน

แม้บางคนอาจจะหลงลืมความจริงข้อนี้ไปชั่วขณะ

แทนที่จะจัดการศัตรู กลับหันไปส่งเสริมศัตรู-หยุดเถอะครับ

จะทำอย่างไรจึงจะจัดการกับศัตรูได้

มาถึงวันนี้ แทบไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้ครับ

เหลือแค่ลงมือทำ เริ่มที่ตัวเรา ทำในส่วนที่เราทำได้ ทำให้ดีที่สุด

จากนั้น จึงเริ่มสนับสนุนคนอื่นที่กำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์

ถึงเวลาต้องรวมใจเป็นหนึ่ง

ถึงเวลาที่เราต้องรวมแรงร่วมใจกันอีกครั้งครับ


ผมมั่นใจเสมอว่าถ้าเราสามัคคีกัน ช่วยกันจริงๆ #เราจะชนะไปด้วยกัน


#NeverNeverNeverGiveUp #พวกเราทีมไทย

#สำหรับประเทศไทยน้อยกว่านี้ได้ยังไง #แด่มดงานเพื่อนร่วมอุดมการณ์

#ศิษย์มีวันนี้เพราะมีครู

#TPWork #TPlife #I_Love_What_I_Do

#บทเรียนไว้เรียนรู้ #ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=3732839260159081&id=100002991325094
ติดต่อโฆษณา!