13 พฤษภาคม 2564
1,916

หมอ 3 สถาบัน ไขปม “วัคซีนโควิด-19”

หมอ 3 สถาบัน ไขปม “วัคซีนโควิด-19”
Highlight

แพทย์จาก 3 สถาบัน “รามาธิบดี - ศิริราช – จุฬาฯ” ออกมาไขปมคาใจของ “คนไทย” ที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ยืนยัน ยังไม่มี “คนไทย” เสียชีวิต หรือ พิการถาวร เพราะฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมย้ำเป็นเสียงเดียวกัน วิกฤตครั้งนี้จะยุติได้ ก็ด้วยการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด รวดเร็วที่สุด

ท่ามกลางข้อกังขาคาใจ รวมถึงความเชื่อมั่นของจากประชาชนคนไทยทั่วประเทศที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ Sinovac และ AstraZeneca 

แพทย์จาก 3 สถาบัน จึงออกมาอธิบายผ่าน YouTube ช่อง RAMA Channel ในหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ 3 สถาบัน”  ซึ่งแพทย์ทั้ง 6 คน จาก 3 สถาบัน ได้แก่ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ  หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และ รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รอง หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์  จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 ถาม – ตอบ ปม “วัคซีนโควิด-19”


1. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ “เสียชีวิต” หรือไม่?

ตอบ :  สถิติ “คนไทย” ฉีดวัคซีนแล้ว 1.7 ล้านคน “ไม่มีคนเสียชีวิต” จากการฉีดวัคซีน แต่ทุกวัน มีผู้เสียชีวิต 1 – 2 คน จากผู้ติดเชื้อ 100 คน

 

2. อาการผลข้างเคียงเป็นอย่างไร?

ตอบ : พบอาการแพ้ 1 ในแสนคน ส่วนอาการ “ไข้ ปวดบวม แดง ร้อน” พบไม่ถึง 10 % ยิ่งไข้ขึ้นสูง ยิ่งสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี อายุน้อยหรือผู้หญิง อัตราการเป็นไข้สูง มักเป็น 1 - 2 วัน ก่อนหายเป็นปกติ


3. อาการชาครึ่งตัว เกิดขึ้นเพราะอะไร?

ตอบ : อาจเกิดจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย หรือความกลัว อาการชาเกิดขึ้นชั่วคราว หายเป็นปกติได้ภายใน 1 -3 วัน บางคนไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไม่มีใครพิการถาวรเรื้อรัง

 

4. วัคซีนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันไหม?

ตอบ : วัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ แต่พบน้อยมาก และไม่ยังพบในคนไทย แต่การติดโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า

 

5. ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน?

ตอบ : แต่ละยี่ห้อทดสอบในเวลาต่างกัน ประชากรต่างกัน เมื่อใช้งานจริง ประสิทธิภาพในการป้องกัน ใกล้เคียงกัน สิ่งที่ดีที่สุด คือการระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”


6. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ฉีดยี่ห้อ Sinovac ได้ไหม?

ตอบ : ก่อนหน้านี้ แม้ไม่ได้ออกเป็นข้อห้าม แต่ที่ไม่กำหนดให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinovac เพราะยังไม่มีผลการศึกษาทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุออกมา แต่เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว ยืนยันว่า “ปลอดภัย” ผู้สูงอายุจึงสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ทั้ง AstraZeneca และ Sinovac

 

7. รอก่อนดีไหม?

ตอบ : ทั่วโลกฉีดไปแล้ว 1.3 พันล้านโดส เป้าหมายทั่วโลกเบื้องต้น 1 หมื่นล้านโดส ไทยก็ต้องรีบฉีดให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 50 – 70 % ของจำนวนประชากร เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่มีประชากรใกล้เคียงกัน ที่อังกฤษมีการใช้วัคซีน Pfizer ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น AstraZeneca ประชากรได้ฉีดเข็มแรกครอบคลุมกว่า 70% ซึ่งวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า “ผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์” ในขณะที่ฝรั่งเศส มีความกังวลผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือด จึงทำให้ชะลอการฉีดวัคซีนไประยะหนึ่ง ประชากรที่ได้ฉีดเข็มแรกจึงอยู่ที่ 34% ทำให้พบผู้ป่วยโควิด-19 มากถึง 1-2 หมื่นคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตอีก 200 - 300 คนต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่า ไทยต้องรีบฉีดให้ได้มากที่สุดและไวที่สุด วัคซีนเท่านั้น ที่จะยุติภัยพิบัตินี้ไว้ได้

 

8. วัคซีนหยุดยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ไหม ประสิทธิภาพต่ำลงหรือไม่?

ตอบ : เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่สายพันธุ์อังกฤษ ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาหรือบราซิล อาจจะมีผลบ้าง แต่สายพันธุ์อินเดียยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพปกป้องคนส่วนใหญ่ได้ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

9. หญิงมีประจำเดือน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?

ตอบ : ฉีดได้ตามปกติ


10. กรณีไหน? ห้ามฉีดวัคซีนโควิด-19

ตอบ : 3 กรณี ได้แก่

1. ผู้ที่มีเจ็บป่วยโรคต่างๆ เช่น เป็นไข้ ให้หายป่วยสนิทก่อน จึงเข้ารับการฉีด

2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ถ้ากำลังอาการหนัก ควบคุมอาการไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งรีบฉีด เช่น ภาวะหัวใจวาย หัวใจกำลังเต้นผิดจังหวะ ต้องให้แพทย์ประจำตัวประเมินอาการก่อน

3. หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ แต่ถ้าฉีดวัคซีนไปแล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่าตั้งครรภ์ ก็ให้นับไปอีก 12 สัปดาห์ จากนั้นจึงเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

 

11. การเปลี่ยนยี่ห้อ เข็ม 2 ทำได้ไหม?

ตอบ : ทำได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น อยากให้ฉีดยี่ห้อเดิมก่อน เนื่องจากผู้ที่มีอาการแพ้หลังจากฉีดเข็มแรก เข็ม 2 อาการแพ้จะลดลง แต่ถ้าเริ่มฉีดยี่ห้อใหม่ กลับเพิ่มความเสี่ยงว่าจะแพ้วัคซีนเข็มแรกของยี่ห้อใหม่หรือไม่ ที่สำคัญ ระบบจองเข็มที่ 2 ให้โดยอัตโนมัติ การเปลี่ยนจะทำให้ล่าช้าออกไป    

 

12. “คนไทย” จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อไหร่?

ตอบ : ถ้าอยากกลับมาสู่ภาวะปกติ การตั้งเป้า 100 ล้านโดส ภายในระยะเวลาที่สั้นสุดนั้น ถ้าฉีดวันละ 3 แสนโดส ก็จะได้ 10 ล้านโดส ใน 1 เดือน ก็ใช้เวลานานถึง 10 เดือน  ควรขยับขึ้นมา 4 -5 แสนโดสต่อเดือน ให้ปลดล็อกภายในสิ้นปี หรือระยะสั้นภายใน 4 เดือน ก็จะเปิดประเทศได้เร็ว

 

แหล่งที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=WukvH65mtnE

ติดต่อโฆษณา!