02 มิถุนายน 2567
420

บุหรี่ไฟฟ้า เพชรฆาตอาบน้ำหวาน

บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic Cigarette) เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดควันและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป จึงทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นติดตัวผู้สูบ แต่อย่างไรก็ดีควันที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังคงมีสารเคมีที่จะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้แม้จะไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรีมวนและก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพและร่างของของผู้สูบรวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดด้วยเช่นกัน

 

สารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า

  • สารนิโคติน - เป็นสารที่สามารถทำร้ายสมองและทําให้เซลล์สมองอักเสบ ยิ่งการได้รับนิโคตินในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 25 ปี จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองได้
  • สารฟอร์มาลดีไฮด์ - เป็นหนึ่งในสารที่ทำอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและเซลล์เยื่อบุทั่วร่างกาย เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหากได้รับสารต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • สารโพรไพลีนไกลคอน - เป็นสารที่สามารถทําร้ายดวงตา ทําลายชั้นของเหลวบนผิวดวงตา อาจทําให้จอประสาทตาเสื่อมได้
  • สารกลีเซอลีน - เป็นสารที่สามารถแทรกซึมเข้ากระแสเลือด ทําให้เกิดอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ ปวดหัวเฉียบพลันได้
  • สารหนู - เป็นสารที่ส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด หากได้รับปริมาณมาก มีผลต่อการขยายและการแข็งตัวของหลอดเลือด เสี่ยงภาวะเลือดไหลไม่หยุด

 

นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าสารพิษและควันจากบุหรี่ไฟฟ้าก็สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและการเจ็บป่วยได้ดังนี้

 

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • ปอดอักเสบ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • โรคหอบหืด
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคกระเพาะอาหาร
  • โรคกรดไหลย้อน
  • ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง
  • ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง - มะเร็งปอด ช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน
  • โรคเบาหวาน

 

แนวทางการเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) แนะนำแนวทางการเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้

  • “เลือกวัน” - กำหนดวันที่จะเลิกบุหรี่ที่แน่นอน ยิ่งผู้สูบสามารถทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดีต่อตัวผู้สูบเท่านั้น
  • “ลั่นวาจา” - แจ้งเพื่อน คนในครอบครัว หรือ บุคคลใกล้ชิด เพื่อขอกำลังใจ และแรงสนับสนุน
  • “ลาอุปกรณ์” - กำจัดบุหรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการสูบทั้งหมด
  • “คิดก่อนลงมือ” - วางแผนรับมือกับอาการถอนนิโคตินในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังหยุดสูบบุหรี่

 

บุหรี่ไฟฟ้าถือภัยต่อสุขภาพที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด ในบางประเทศบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ในบางประเทศอย่างเช่นในประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้ในทางการแพทย์ยังมีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นรองรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้สูบและผู้ที่ใกล้ชิดไม่ต่างจากบุหรี่มวน เพราะฉะนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือเลิกบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ หากอาการที่ผิดปกติทางร่างกายและสุขภาพจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก “ทันข่าวสุขภาพ”


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/jfl_bRannoQ?si=u-ZX9Z6fRe1Nnvw6

ติดต่อโฆษณา!