18 พฤษภาคม 2567
525

ไขปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ


พบหมอรามา วันนี้จะเน้นไปที่เรื่องกระดูกและข้อ และวิธีชะลอความเสื่อมให้ใช้งานได้นานขึ้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผศ. นพ.สรวุฒิ ธรรมยงค์กิจ ศัลยกรรมกระดูกและข้อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มาให้ความรู้และคำแนะนำ

พบกับคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจน กับคำถามที่เราได้ยินมา “เรื่องนี้จริงมั้ย” และเรื่องฮิตประเด็นดัง “หยิบข่าวมาเล่า” ทันโลก ทันกระแสด้านสุขภาพ ทุกคำถาม มีคำตอบ กับพบหมอรามา 


▪️ เรื่องนี้จริงมั้ย 

กินนมเยอะ ๆ จะช่วยให้สูงปรู๊ดปร๊าด จริงหรือไม่ 

คำตอบคือ : ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องกรรมพันธุ์ เช่น พ่อแม่ มีความสูง 190 เซ็นติเมตร แม้ลูกไม่ดื่มนมเลย ก็ยังสูงอยู่ดี แต่ว่าลูกก็จะต้องได้รับอาหารเพียงพอ และมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ด้านกิจกรรม เช่น การออกกำลังกายก็จะกระตุ้นกระดูกได้ดี  ด้านอาหาร เช่น การดื่มนมก็ช่วยให้การเติบโตดีขึ้น นมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น  ทั้งนี้ แม้พ่อแม่ ไม่สูง ลูกก็สามารถสูงได้ จากปัจจัยแวดล้อมทั้งการออกกำลังกาย และ อาหาร 

เตะตะกร้อบ่อย ๆ ทำให้สะโพกเสื่อม จริงหรือไม่ 

คำตอบคือ : การเล่นกีฬาอย่างถูกวิธี โดยทั่วๆไปไม่ทำให้ข้อเสื่อม อย่างไรก็ตาม หากมีการบาดเจ็บ เช่น เนื้อเยื่อขอบเบ้าสะโพกฉีกขาดมีผล หรือมีการกระแทกแรงๆ จนกระดูกอ่อนสะโพก บาดเจ็บ ร้าว หรือเป็นแผล จะทำให้กระดูกสะโพกเสื่อมได้เร็ว แต่ถ้าเราเล่นไม่ถูกวิธี ท่าทางไม่ถูกวิธี อาจจะมีผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสื่อมได้ 

ดื่มน้ำอัดลมเยอะ ๆ จะทำให้กระดูกพรุน 

จริงๆ แล้วมีข่าวเหล่านี้ออกมาเรื่อยนี้กระดูกพรุนหมายถึงมวลกระดูกลดลง ดื่มน้ำอัดลมมีผลอยู่ 2 อย่างคือ ประการแรกน้ำอัดลมจะลดการดูดซึมของแคลเซียม และประการต่อมาน้ำอัดลมมีกรดฟอสฟอรัส จะไปจับกับแคลเซียม จะดึงแคลเซียมออกจากกระดูกได้ถ้าเรากินปริมาณเยอะๆ เพราะฉะนั้น โดยทฤษฎีจะส่งผลต่อแคลเซียมของร่างกายของเรา ที่จะทำให้กระดูกพรุนได้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการดื่มในปริมาณปกติทั่วไป จะมีผลให้กระดูกพรุนหรือไม่ คำแนะนำไม่ควรดื่มมากเกินไป เป็นระยะเวลานานๆ 

ดูแลกระดูกของเรา อย่างไรให้ปลอดภัย 

การเล่นกีฬา ต้องระมัดระวังไม่ให้บาดเจ็บ ศึกษาวิธีการเล่นอย่างถูกวิธี การป้องกันการบาดเจ็บทำอย่างไรได้บ้าง การป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่ใช้เวลาสะสมค่อนข้างระยะยาว กินแคลเซียมให้เพียงพอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และรับวิตามินดีจากแสงแดดบ้าง



กระดูกสันหลังคด จากข่าวดาราดัง กระดูกสันหลังคด 14 องศา ไม่เป็นอันตราย จริงหรือไม่ ?

คำตอบคือ : ไม่อันตรายจริง กระดูกคดอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มาจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดความผิดปกติของระบบประสาท ถ้าคดน้อย ๆ ก็ไม่อันตราย โดยที่ไม่รู้ตัว แต่ถ้าคดมาก ๆ จะมีผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน 

ในเด็กหากกระดูกคดเกิน 20 - 25 องศาขึ้นไป แพทย์จะทำการรักษา เพราะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นกระดูกจะคดเพิ่มขึ้น อาจจะใส่เสื้อเกราะ หรือทำการผ่าตัด

กลุ่มที่อายุเยอะ ที่มีความเสื่อมของกระดูกสันหลัง เช่นอาจจะโค้งไปข้างหน้า หรือโค้งไปด้านข้าง 

วิธีการแก้ไข ทำอย่างไร ให้กระการจัดกระดูกกลับมาเหมือนเดิม การจัดกระดูกจะแก้ปัญหากระดูกสันหลังคดได้หรือไม่ ในเรื่องนี้แพทย์อาจจะต้องพิจารณาว่า กระดูกที่คดนั้นถ้าไม่มากที่จะต้องผ่าตัด ซึ่งมีความเสี่ยง ก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรก็ได้ 


คู่รักเกษียณอายุ ใช้วิธีอาศัยอยู่บนเรือสำราญยาวนานถึง 450 วัน ทั้งคู่ใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพใด ๆ เขาทำได้อย่างไร 

โดยทั้งคู่เปิดเผยว่า การล่องเรือสำราญ อาศัยอยู่บนเรือ ได้ทำกิจกรรมตลอด เช่นออกกำลังกาย เต้นรำ แวะพักจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ สุขภาพแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องความเสื่อมของกระดูก หรือกระดูกพรุน

ในเรื่องนี้ เป็นไปได้ว่า คู่รักวัยเกษียณคู่นี้ เป็นคนที่สุขภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องมวลกระดูก ข้อกระดูกเสื่อม และไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ดูแลสุขภาพตัวทำให้เองได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่บนเรือได้นานนับปี ในขณะที่พักอยู่บนเรือสำราญทั้งคู่ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการออกกำลังกาย และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี 

คำแนะนำด้านสุขภาพ ในช่วงวัยก่อนการเกษียณอายุ ทุกคนควรกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างมวลกระดูกให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขได้ 


▪️ ผู้หญิงวัย 48 ปี ปวดคอเรื้อรัง พบแพทย์ด้วยอาการอ่อนแรง หลังไปจัดกระดูก เกิดอาการบาดเจ็บตามมา จากการเอ็กเรย์และทำ MRI พบว่ากระดูกคอ ซี 5 ซี 6 หัก มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทไขสันหลังทำให้อ่อนแรง มีการฉีกขาดของเส้นเยื่อหุ้มประสาท กระดูกสันหลังมีภาวะกระดูกสันหลังแข็ง 

สิ่งเหล่านี้คือผลข้างเคียงจากการจัดกระดูก หรือ Chiropractic ไม่ว่าจะเป็นการดึง การดัด ของบริเวณกระดูกเพื่อช่วยแก้อาการปวดเมื่อย การทำสิ่งนี้จะต้องมีความรู้ ความชำชาญว่าทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย และต้องรู้ว่ากรณีไหนทำได้หรือทำไม่ได้ 

ในกรณนี้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องภาวะกระดูกสันหลังแข็งอยู่ก่อนแล้ว จึงมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก  เรื่องการจัดกระดูกอาจส่งผลต่อโครงสร้างที่สำคัญทั้งระบบประสาท เส้นเลือด หากมีปัญหา จะทำให้มีผลต่อร่างกายในอนาคต

ดังนั้นต้องวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน รักษาให้ตรงจุด มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง 

อาการปวดคออาจมีสาเหตุจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป อาจจะต้องพักบ้าง อาการออฟฟิศซินโดรม  เพื่อลดปัญหาการอักเสบเรื้อรัง ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ยืดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นปัญหาบ่อยๆ และประเมินว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้น ก็ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและเข้าสู่การรักษาต่อไป 

▪️ ตูน บอดี้สแลม พักงาน 1 เดือน เข้ารับการผ่าตัดอาการหมอนรองกระดูก กดทับเส้นประสาท ที่บริเวณคอ 

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดขึ้นจากการที่หมอนรองกระดูกเมื่อถูกใช้ไปนาน ๆ มีการฉีก แตก บริเวณเยื่อหุ้มรอบๆ ได้ ดังนั้นเมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนออกมาและไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวด หรือชาได้ 

อาการของโรค อาจจะมาจากการใช้งาน เช่นการโยกศรีษะแรงๆ ถ้าหากบาดเจ็บสะสมไปเรื่อย ๆ นาน ๆ จะมีโอกาสเกิดอาการปวดที่รุนแรงได้ 

อันตรายจากโรคนี้ ถ้าหากเป็นน้อยๆ ก็อาจจะเพียงกินยา ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด ก็จะหายไปเองได้ หรือถ้ามีอาการไปกดเส้นประสาทเยอะๆ เริ่มมีอาการชา อ่อนแรงมักจะต้องผ่าตัด  

นอกจากนี้พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่นเกิดจากการกระแทก หรือสะบัดคอ รุนแรงก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ 


▪️ กาแฟ เป็นตัวการทำกระดูกพรุนจริงหรือไม่ ?

จากกรณีข่าวระบุว่า การดื่มกาแฟทำให้การดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง ทำให้เกิดกระดูกพรุน จะมีผลต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ มากกว่าวัยหนุ่มสาว

คำตอบคือ การดื่มกาแฟเราจะได้รับคาเฟอีน จะมีการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น หลังการดื่มกาแฟเข้าไป อาจจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ หรือขาดแคลเซียมได้

นอกจากนี้ กาแฟจะขัดขวางการดูดซึม ถ้าเราดื่มในปริมาณมากหรือเกิน 4 แก้วต่อวัน เป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นจะมีผลต่อมวลกระดูกโดยรวมได้เช่นเดียวกัน 


▪️ อัตราการเกิดมะเร็งกระดูก เกิดขึ้นได้ 0.2% ของการเกิดมะเร็งทั้งหมด ทุกๆปีทั่วโลกจะมี 2,890 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกระดูก และ 1,410 คนถูกระบุว่าเสียชีวิตด้วยโรคนี้ โดยที่เนื้องอกกระดูกพบได้ 30% ของมะเร็งกระดูก อัตราการเกิดมะเร็งกระดูกในวันรุ่นมีค่อนข้างสูง ช่วงอายุที่เกิดส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 10-20 ปี 

มะเร็งกระดูกไม่ค่อยเจอบ่อยในคนทั่วไป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางยีนส์หรือกรรมพันธุ์ โดยถ่ายทอดจากพ่อแม่ เป็นต้น ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะพบได้ เช่น เพศ อายุ ซึ่งจะพบในช่วงอายุน้อย กับอายุเยอะ ในช่วงอายุกลาง ๆ จะพบได้น้อย หรือการได้รับสารเคมีที่อาจจะกระตุ้นในเกิดมะเร็งกระดูกได้ หรือรวมๆ กันหลายปัจจัย

ค่อนข้างยากที่จะหาปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งกระดูก แต่ที่น่าสนใจคือ หากพบประวัติคนในครอบครัวเป็น ก็มักจะเกิดขึ้นกับทายาทได้ โดยอาการที่สังเกตได้ เช่น มีอาการปวดลึก ๆ ตามข้อ หรือถ้าเป็นมาระยะหนึ่งแล้วจะคลำได้ก้อนแข็ง ๆ ที่ปูดขึ้นมา 


▪️ จากกรณีเด็กถูกครูทำโทษให้ลุกนั่ง 150 ครั้ง ปรากฏว่าขาอักเสบและกระดูกขาซ้ายหัก เพราะว่าเด็กมีน้ำหนักถึง 80 กิโลกรัม 

กรณีที่การลุกนั่ง จะทำให้กระดูกหักได้จริงหรือไม่ ในเรื่องนี้ ผศ. นพ.สรวุฒิ อธิบายว่า ปกติแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะกระดูกขาค่อนข้างแข็งแรง เพราะฉะนั้น การลุกนั่งธรรมดา ไม่ค่อยพบว่าจะทำให้กระดูกหักได้ ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของกระดูกมาก่อน หรือเป็นบางโรคที่ทำให้กระดูกบางก็เป็นไปได้ ซึ่งการกระแทกซ้ำๆ ก็เป็นไปได้เช่นกัน ประกอบกับน้ำหนักตัวเยอะอาจจะทำให้บาดเจ็บได้มากกว่าคนน้ำหนักปกติ 


▪️ การปวดข้อเข่า ข้อเข่าอักเสบ อาการที่ไม่ควรมองข้าม 

การใช้งานข้อเข่า ถ้าใช้ไปนาน ๆ จะเริ่มสึก เริ่มเสื่อม และหากใช้งานผิดวิธี เช่นนั่งยองๆ คุกเข่า นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ เป็นเวลานาน ๆ ทำให้กระดูกถูกกดเป็นนาน ทั้งสะบ้าชิ้นบน ชิ้นล่าง จะทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมเร็ว นอกจากนี้กิจกรรมที่กระแทกแรง ๆ ก็จะทำให้บาดเจ็บได้ จึงควรหลีกเลี่ยงท่านั่งที่เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าอักเสบ
 


▪️ แนะนำวิธีเพิ่มแคลเซียม หลีกเลี่ยงโรคกระดูกพรุน 

- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน
- ออกกำลังกาย 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์
- นอนหลับวันละ 6 - 8  ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการโหมงาน จนร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ
- เลี่ยงการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- ลดการดื่มกาแฟ บุหรี่ แอลกอฮอล์ มากจนเกินไป 
- อาหารเสริม แคลเซียมเสริม
- ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรค



รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/qGqcJ8w96ZY?si=3y7nFdLYlHJ73xmN

ติดต่อโฆษณา!