12 พฤษภาคม 2567
468

Gen นี้ Gen ไหน ต้องใส่ใจกระดูก


โรคกระดูกและข้อถือเป็นโรคที่พบได้บ่อย ทั้งในกลุ่ม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยน้ำหนักเกิน คนเล่นกีฬา และ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุ ที่สำคัญโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อก็สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่น้อยไปกว่าโรคอื่น ๆ เลย 


โดยเฉพาะเมื่ออายุเยอะขึ้นกระดูกนั้นก็จะมีความเสื่อมไปตามวัย หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีอาจทำให้ผู้สูงอายุหลายคนต้องเผชิญกับโรคกระดูกที่ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างเช่น ปัญหาโรคกระดูกบาง หรือ กระดูกพรุน ซึ่งก็ส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา เช่น ภาวะกระดูกที่แตกหรือหักง่ายหรืออาจจะนำไปสู่ภาวะพิการได้


โดยโรคกระดูกพรุน คือ โรคที่กระดูกมีมวลกระดูกลดน้อยลง เนื่องจากเกิดการสลายตัวของกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูก จนทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ส่งผลทำให้กระดูกแตกหรือหักได้ง่าย หากมีการหกล้มหรือการกระแทกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


อาการของโรคกระดูกพรุน

  • โรคกระดูกพรุนมักไม่มีสัญญานเตือน ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคกระดูกพรุนจนเมื่อประสบอุบัติเหตุและนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก 
  • อาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรสังเกต ได้แก่ ปวดหลังเรื้อรัง, หลังค่อม, กระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง, ความสูงลดลง หรือ กระดูกหักง่ายจากอุบัติเหตุที่อาจจะไม่รุนแรง

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น 
  • การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน 
  • การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) น้อยลง ในเพศชาย
  • พันธุกรรม
  • ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับ
  • การเจ็บป่วยบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง, ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ มะเร็งกระดูก 
  • การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ
  • การใช้ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์เร่งการสลายหรือรบกวนการสร้างกระดูก เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์

การตรวจวัดมวลกระดูก

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกาย 
  • การตรวจทางรังสี เพื่อตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก 

ทั้งนี้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density หรือ BMD) 

  • คนปกติจะอยู่ที่มากกว่า -1.0 
  • คนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5

การรักษาโรคกระดูกพรุน

จะสามารถรักษาได้ทั้งการรับประทานยาและการฉีดยา โดยแบ่งยาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ยากลุ่มยับยั้งการสลายกระดูก และยากลุ่มกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่


วิธีการเสริมสร้างความแข็งแรงและดูแลกระดูก

  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง และ วิตามินดี
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม
  • ตรวจร่างกายและวัดมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลร่างกายตัวเองร่วมกับการดูแลจากแพทย์จะช่วยให้สามารถควบคุมและลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ หากอาการที่ผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก “ทันข่าวสุขภาพ”



ติดต่อโฆษณา!