30 มีนาคม 2567
3,752

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ภัยเงียบของวัยทำงาน


สำหรับอาการปวดบริเวณข้อมือ นิ้วมือ โดยเฉพาะบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ  เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยสำหรับคนที่ทำงานออฟฟิศ ใช้แรงข้อมือในการยกของแบกของ หรือแม้กระทั่งการเล่นโทรศัพท์มือถือในท่าเดิม ๆ นาน ๆ ติดต่อกัน ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือหรือนิ้วมือ 

หากเกิดอาการแบบนี้เรื้อรังไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิด “โรคโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ” ซึ่งเอ็นข้อมือเป็นส่วนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อมือ เมื่อเกิดอาการเจ็บปวดจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน และการทำงาน เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการบาดเจ็บควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือถึงแนวทางการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

ลัดคิวหมอรามา รายการวารไรตี้เพื่อสุขภาพที่ติดตามได้ทุกเพศทุกวัย ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบที่ถูกต้อง ชัดเจน วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ภัยเงียบของวัยทำงาน” โดย ผศ. พญ.ศิริสุชา โศภณคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ อ. พญ.ทรงสุดา รุ่งใสวัฒนา ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางป้องกัน และวิธีรักษาอาการเมื่อป่วยเป็นโรคปลอกข้อมืออักเสบ ภัยเงียบในวัยทำงาน เป็นความรู้ติดตัวเราไปปรับใช้เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า 


20240330-b-01.jpg


▪️ อาการปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นบริเวณเอ็นข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง เอ็นจะมีอยู่รอบๆข้อมือ แต่เอ็นหัวแม่มือ เป็นเอ็นที่ต้องใข้งานเป็นหลัก และใช้งานค่อนข้างบ่อยในกิจกรรมที่เราต้อง จับ กำ เกร็ง ใช้มือออกแรง ดังนั้นจึงพบเจออาการบาดเจ็บได้ง่ายที่สุด 

เบื้องต้นถ้าอาการไม่เยอะมาก จะรู้สึกเจ็บบริเวณข้อมือ บางคนจะมีอาการเจ็บรอบ ๆ นิ้วโป้ง เวลาใช้งน เช่น เกร็ง กำ หรือกระดกข้อมือลง เวลาเป็นเยอะขึ้นก็จะเจ็บตลอดเวลา บางคนอาจเกิดภาวะอักเสบเรื้อรัง 
 
- ปวด บวม แดง ร้อนโคนนิ้วโป้ง
- ขยับข้อมือหรือนิ้วโป้งลำบาก
- ปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้ข้อมือ
- อาจปวดร้าวไปข้อศอกและชาหลังนิ้วหัวแม่มือ



▪️ สาเหตุของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ 

สาเหตุมาจากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ การเกร็ง กำ หรือใช้งานมือหรือนิ้วโป้งเยอะ ๆ มักเกิดกับพนักงานออฟฟิศที่ต้องพิมพ์คอมพิวเตอร์นาน ๆ หรืออาชีพที่ต้องใช้มือบ่อย ๆ เช่น แม่บ้าน การทำงานในห้องครัว หรือ ช่าง ที่ต้องใช้งานมือเยอะ ๆ ไม่จำเป็นต้องออกแรงเยอะหรือยกของหนักแต่เป็นการกระดกข้อมือบ่อย ๆ

คนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ภาวะการตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง จะเป็นกลุ่มที่เอ็นข้อมืออักเสบได้ง่าย 



▪️ แนวทางการตรวจวินิจฉัยและการรักษา 

ถ้าสงสัยว่ามีอาการป่วย ก็ค่อนข้างสังเกตได้ง่ายตามอาการที่ปรากฏ เช่น ปวด แดง ร้อน แพทย์สามารถรักษาได้เลย ในรายที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง ก็จะต้องฃหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น แพทย์อาจจะทำอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งอาจจะเจออาการบวมของเส้นเอ็น รวมทั้งมีน้ำในปลอกหุ้มเอ็นได้ ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นบวม เมื่อมีการทำงานเยอะ ๆ อายุที่เยอะขึ้น ทำให้เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย ทำให้อักเสบง่ายขึ้น 

ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการในเบื้องต้น หรือเป็นใหม่ๆ แนะนำควรประคบเย็นในช่วง 1 - 2 วันแรก โดยประคบครั้งละ 15 - 20 นาที ทำบ่อย ๆ 3 - 4 ครั้งต่อวัน เพื่อลดอาการอักเสบลดบวม รวมถึงการรับประทานยาแก้อักเสบร่วมด้วย 

ในกรณีที่เป็นมาแล้วระยะหนึ่ง หรือปวดข้อมือบ่อย ๆ หรือเจ็บเวลาขยับข้อมือ  แนะนำเป็นแช่น้ำอุ่น ครั้งละ 5 - 10 นาที หรือใช้ถุงร้อน โดยทำในช่วงเช้า หรือก่อนนอน ประคบให้ถึงบริเวณข้อมือ นวดคลึงเบา ๆ บริเวณที่ไม่เจ็บ เพื่อให้ปลอกหุ้มเอ็นคลายตึงลง และแนะนำให้ใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือ เพื่อพักการใช้งานนิ้วโป้ง ประมาณ 1 สัปดาห์ 

ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล ซึ่งมีเครื่องมือหลากหายที่ช่วยลดเอ็นอักเสบ เช่น เครื่องมืออัลตร้าซาวนด์ เครื่องมือเลเซอร์ เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น 

ในกรณีที่ไม่ดีขึ้นจริงๆ ก็ต้องผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็น เพื่อลดอาการอักเสบ อาการปวด ซึ่งเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หากผู้ป่วยไม่สามารถพักการใช้งานมือได้ ก็อาจจะต้องฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะจุด แต่ก็จะใช้กรณีจำเป็นจริงๆเท่านั้น เนื่องจากจะมีผลข้างเคียงทำให้เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยง่ายขึ้น ในแต่ละปีไม่ควรฉีดสเตียรอยด์เกิน 3 ครั้ง อย่างไรก็ตามหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้ 


20240330-b-02.jpg

▪️ การรักษา 

- ประคบเย็น เลี่ยงการใช้นิ้วหัวแม่มือ
- ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้ว เพื่อลดการเคลื่อนไหว
- กินยา เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ผ่าตัด
- คลื่นอัลตราซาวนด์ ทางกายภาพบำบัด
- ยาสเตียรอยด์ ฉีดเฉพาะจุด


20240330-b-03.jpg


▪️ วิธีกายภาพ ปลอกหุ้มข้อมืออักเสบ  

ในช่วงที่ยังมีอาการเจ็บอยู่บ้าง ผู้ป่วยอาจทำกายภาพบำบัดควบคู่กันไป เพื่อให้การยืดเหยียดปกติ การขยับข้อเป็นปกติ คนที่ยังไม่มีอาการก็สามารถทำกายภาพได้ 

- กำมือ กระดกข้อมือลง ค้างไว้ 10 วินาที 10 รอบ
- หงายมือ กระดกข้อมือลง ค้างไว้ 10 วินาที 10 รอบ 
- กำมือ กระดกข้อมือขึ้นไปทางนิ้วโป้ง กำ 10 รอบ
- กำลูกบอล กระดกข้อมือขึ้น - ลง 10 รอบ 
- กำมือ - แบมือ กำ 10 รอบ


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/MmYSawGPML0?si=K58k4xpuiSxdW-qY




ติดต่อโฆษณา!