02 มีนาคม 2567
349

ปีนี้อาจร้อนจัด เตือนระวัง "ฮีตสโตรก" อันตรายถึงชีวิต !

ปีนี้อาจร้อนจัด เตือนระวัง "ฮีตสโตรก" อันตรายถึงชีวิต !


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจถึง 44.5 องศาเซลเซียส

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชนให้ระวังโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอันตรายถึงชีวิต

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยโรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากผิดปกติ 


ผู้ที่มีความเสี่ยงต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกาย ยืนเข้าแถว ฝึกทหาร หรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ร่วมกับสภาวะร่างกายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ โดยพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน 

ขอให้กลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงอยู่กลางแดดนาน ๆ ส่วนคนทำงานกลางแจ้งให้สลับเข้าที่ร่มเป็นระยะ 

▪️ อาการโรคลมแดด 

อาการมักจะเริ่มสังเกตได้เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด ตัวแดง กระสับกระส่าย คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ซึม สับสน ไม่รู้สึกตัว ชัก 

หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ จนเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 

หากเริ่มมีอาการดังกล่าว หรือพบผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว


▪️ การป้องกันโรคลมแดด 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เผยประชาชนควรวางแผนเพื่อเลือกเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เช่น ช่วงเช้ามืด หรือตอนเย็นระหว่างพระอาทิตย์ตก หากมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ 

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ปัสสาวะมาก เช่น กาแฟ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ป้องกันแดด เช่น หมวก ร่ม เป็นต้น  

นอกจากนี้การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์และจอดนิ่งกลางแจ้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคลมแดด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาทจากเครื่องยนต์  จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน 


▪️ การรักษาพยาบาล 

หากเริ่มมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรหยุดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แล้วรีบเข้าไปในพื้นที่ร่ม อากาศเย็นและมีลมถ่ายเท เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเริ่มมีอาการรุนแรงควรรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที หรือหากพบผู้ที่มีอาการต้องสงสัย โดยเฉพาะในพื้นที่กลางแจ้งและมีอากาศร้อนจัด ควรรับนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ทันที



ติดต่อโฆษณา!