30 มกราคม 2567
225

One Day with พยาบาลเยี่ยมบ้าน

พว.วันเพ็ญ ธรรมวิเศษ และ พว.วรรณภา เย็นศิริกุล หน่วยพยาบาลบริการผู้ป่วยที่บ้าน 1 งานการพยาบาลสนับสนุนการรักษา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

คนที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยก็คือ ญาติ บางครั้งมีเหนื่อย มีท้อ เวลาที่เจอปัญหาหรือต้องการกำลังใจ พยาบาลเยี่ยมบ้าน นอกจากจะให้ความรู้ ให้การดูแล ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือและให้กำลังใจกัน

พว.วันเพ็ญ บอกว่าในส่วนพยาบาลเยี่ยมบ้านมีหน้าที่เตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและญาติที่จะต้องไปดูแล
ต่อที่บ้าน

พยาบาลเยี่ยมบ้านจะเข้างานในเวลา 08.00 น. ของทุกวัน ตอนเช้าจะมีการประชุม สำหรับวันนี้เป็นวันอังคาร
ก็จะมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่อบรมมา พยาบาลเยี่ยมบ้านมีด้วยกัน 23 คน แบ่งเป็น 5 ทีม
ได้แก่ ทีมศัลยกรรม ทีมอายุรกรรม ทีมออร์โธปิดิกส์ ทีมกุมารเวช และทีมสูตินรีเวช

กิจกรรมที่ทำจะแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมแรกจะออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วย อีกทีมจะวางแผนการจำหน่าย และอีกส่วนจะอยู่เวรเคาน์เตอร์ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ป่วยที่มารับบริการที่หน่วย

20240515-d-01.png

อุปกรณ์ที่ต้องนำไปเยี่ยมบ้าน ประกอบด้วยอุปกรณ์ในการตรวจร่างกาย มีเครื่องวัดความดัน ตัววัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ตรวจเด็กเล็ก จากนั้นก็ออกเดินทางเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ในวันนี้จะออกเยี่ยมผู้ป่วย 2 เคส เคสแรกจะเป็นผู้ป่วยติดเตียงเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 7 ปี มีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง มีภาวะเส้นเลือดในสมองแตก มีภาวะน้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ ต้องใส่สายระบายลงสู่ช่องท้อง คนดูแลหลักเป็นคุณแม่

หลัก ๆ ในวันนี้พยาบาลเยี่ยมบ้านทั้งสองท่านจะไปติดตามอาการและประเมินเรื่องของการดูแลผู้ป่วย

บ้านผู้ป่วยเคสแรก อยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 ซึ่งจะต้องเดินเท้าเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ซึ่งในส่วนของพยาบาลเยี่ยมบ้านก็ทำงานร่วมกับทีมในการดูแลรักษาอื่น ๆ และจะติดตามประสานงานระหว่างผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านกับทางโรงพยาบาล

จะมีบางรายที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง มีอุปกรณ์เยอะ ไม่สามารถเดินทางมาได้ตลอด พยาบาลเยี่ยมบ้านก็จะติดตามไปเยี่ยมที่บ้าน ช่วยประสานงานกับโรงพยาบาล บางเคสที่ติดตามอาการถ้าเจอว่ามีปัญหาก็จะส่งข้อมูลให้กับทีม

การตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ก็จะมีการตรวจวัดความดัน ตรวจออกซิเจน ตรวจระบบทางเดินหายใจ เช่น
ปอดมีเสมหะหรือไม่ เช็กเสียง Rhonchi หรือเสียงลมที่ผ่านเข้าสู่ปอด ที่เกิดจากการมีสิ่งคัดหลั่งอุดกั้นในทางเดินหายใจบางส่วน ทำให้อากาศเข้าออก ไม่สะดวก เสียงจะมีลักษณะคล้ายเสียงกรน รวมถึงการตรวจเช็กแผลกดทับและสอบถามการจัดการอาหารให้กับผู้ป่วย

สำหรับเคสที่ 2 ที่ต้องเดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย อยู่ที่ซอยนวมินทร์ 111 เป็นผู้ป่วยวัยรุ่นชาย อายุ 17 ปี เป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีพัฒนาการถดถอย และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง คนดูแลหลักจะเป็นพี่เลี้ยง หรือ Caregiver ช่วงนี้มีปัญหาด้วยความที่เด็กเริ่มมีกระดูกสันหลังคด พลิกตะแคงตัวลำบาก มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ

ดังนั้น ในรอบนี้ก็จะไปประเมินการดูแลแผล ทำแผล และเช็กยา รวมถึงแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ การทำความสะอาดอุปกรณ์หลังการใช้งาน เช่น ต้องนำไปแช่ Hydrogen Peroxide และแนะนำผู้ดูแลผู้ป่วย

จากนั้นก็เดินทางกลับไปยังโรงพยาบาล และมีกิจกรรมต่อในช่วงบ่าย เป็นการสอนการใช้เครื่องออกซิเจน

เคสที่ส่งมาจากหน่วยเยี่ยมบ้านจะมี 2 ระบบ เป็นผู้ป่วยในคือ ส่งในระบบโปรแกรม Refer to Amb เพื่อให้ส่งต่อในการติดตามเยี่ยมบ้าน อีกส่วนจะมาจาก OPD หมายถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ จะส่งมาที่หน่วยเยี่ยมบ้าน

ในทีมจะพิจารณาดูว่าเป็นผู้ป่วยหน่วยไหน เช่น อายุรกรรม ศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ กุมารเวช หรือสูตินรีเวช ก็จะให้ทีมนั้นเป็นผู้สอน ในหนึ่งวันจะมีญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยมาเรียนประมาณ 5 - 10 ราย

  • เคสประทับใจ ในการเป็นพยาบาลเยี่ยมบ้าน

สำหรับ พว.วรรณภา กล่าวถึงเคสที่ประทับใจในการช่วยดูแลผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะประคับประคอง คุณหมอให้เสียชีวิตที่บ้าน แต่คุณแม่ไม่ค่อยมั่นใจในการดูแล แล้วเกิดเหตุสายหน้าท้องหลุด จริง ๆ สอนคุณแม่ในเรื่องการเปลี่ยนแล้ว แต่คุณแม่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เท่าที่ประเมินดู คิดว่าคุณพ่อสามารถเปลี่ยนได้ ก็ใช้วิธี Video Call ให้คุณพ่อเป็นคนทำให้ ซึ่งเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่พ่อแม่ไม่ต้องพาลูกมาที่โรงพยาบาล

ด้าน พว.วันเพ็ญ เล่าให้ฟังว่า ผู้ป่วยเด็กบางรายที่เขาไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการของเขาได้ เขาอาจจะแสดงออกด้วยอารมณ์ ส่งเสียงร้องเมื่อมีอาการเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว ก็ต้องค่อย ๆ ประเมินตามอาการหรือพัฒนาการ ว่าตอนนั้นเขามีความเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัวอย่างไร

บางทีเราเห็นผู้ป่วยมาโรงพยาบาล เขามีความเจ็บป่วยทั้งด้านร่างกายและมีความกังวลทางด้านจิตใจ พอเราเข้ามาช่วยเขาก็มีกำลังใจในการดูแลมากขึ้น เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจผู้ป่วย เวลาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล เราช่วยประสานงานในการดูแล

พยาบาลเยี่ยมบ้านเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลให้คำแนะนำกับญาติผู้ป่วยที่ต้องไปดูแลต่อที่บ้าน สิ่งสำคัญคือ ผู้ดูแลนำความรู้ที่ได้รับไปดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด” พว.วันเพ็ญ

เมื่อไหร่ที่เราทำให้คน ๆ หนึ่ง หรือครอบครัวหนึ่ง มีความสุขในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ เมื่อไหร่ที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ นั่นคือ...ความสุขของเราที่ได้แบ่งปันความสุขให้กับครอบครัวผู้ป่วย” พว.วรรณภา


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/OYz-oPntzUM?si=Wq-ae_VMkE6ZehOJ

ติดต่อโฆษณา!