24 มกราคม 2567
433

One Day with พยาบาลห้องผ่าตัด

การเป็นพยาบาลห้องผ่าตัด ต้องพร้อมเสียสละเวลา ต้องช่วยผู้ป่วยให้ถึงที่สุด ต้องแข่งกับเวลา ต้องไวที่สุด
ชีวิตคน ๆ หนึ่ง เวลาเพียงไม่กี่วินาที อาจจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมารอดชีวิตได้” พว.พศวีย์ ดลเศรษฐพงศ์ หรือคุณกอล์ฟ ห้องผ่าตัดอาคารสิริกิติ์ งานพยาบาลห้องผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว


พยาบาลห้องผ่าตัดคือ ทีมงานผู้ช่วยแพทย์ที่สำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยในห้องเวลาวิกฤติ วันนี้ One Day with Me by RAMA Channel จะพาไปติดตามภารกิจการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลห้องผ่าตัด ว่าทำงานอย่างไรและมีความท้าทายขนาดไหน 

06.45 น. คุณกอล์ฟ เดินทางมาถึงโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนชุดเตรียมตัวปฏิบัติงานในเวลา 07.00 น. เนื่องจากห้องผ่าตัดเป็นพื้นที่ควบคุม จากนั้นก็ไปเตรียมของในห้องผ่าตัด 

ห้องผ่าตัด จะแบ่งเป็น ห้องผ่าตัดธรรมดา ห้องผ่าตัดพิเศษ ซึ่งจะมีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด มีห้องเตรียมเครื่องมือและผ้าปลอดเชื้อ จะมีเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดทั้งหมด


20240417-b-01.png

ซึ่งในการทำงานในตอนเช้าก็จะมาเตรียมห้อง เตรียมเตียงผ่าตัด เตรียมโคมไฟผ่าตัด รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการผ่าตัด จะต้องเตรียมพร้อมก่อนผู้ป่วยจะเข้ามาผ่าตัด 1 ชั่วโมง 

อุปกรณ์ในการผ่าตัดหลัก ๆ ได้แก่ แพ็กผ้าที่ปลอดเชื้อและมีอุปกรณ์ผ่าตัดต่าง ๆ ที่เป็นเฉพาะในแต่ละเคส 

สำหรับการผ่าตัดที่มีกล้อง มีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด รวมถึงอุปกรณ์ Hybrid นั้น สิ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มจากเครื่องมือผ่าตัดทั่วไป ก็จะมีการเตรียม Station ซึ่งจะมีเครื่องฉายภาพและจอมอนิเตอร์สำหรับให้แพทย์และพยาบาลผ่าตัดดู มีลักษณะคล้ายจอทีวี ใช้สำหรับฉายภาพจากกล้อง

สิ่งที่เพิ่มมาคือ ตัวเลนส์ที่ยังอยู่ในซอง Sterile หรือซองปลอดเชื้อ การผ่าตัดแบบส่องกล้องบางครั้งอาจจะเร็วกว่า มองเห็นภาพภายใน ใช้เวลาผ่าตัดน้อยลง แผลเล็กลง เสียเลือดน้อยลง อาจจะดีกว่าผ่าตัดแบบเปิด

นอกจากส่องกล้องธรรมดาแล้ว ยังมีการส่องกล้องแบบการใช้หุ่นยนต์ช่วย สำหรับด้านในห้องจะเป็นแพทย์ผ่าตัดที่คอยควบคุมหุ่นยนต์นี้อยู่ ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์คือ หุ่นยนต์จะมีความนิ่งในการใช้อุปกรณ์ในการผ่าตัด รวมทั้งเครื่องจี้หรือการถือกล้องของหุ่นยนต์มีความนิ่งมากกว่าคน 

สำหรับห้อง Hybrid คือ ห้องที่สามารถผ่าตัดโดยใช้รังสีร่วมกับการผ่าตัดแบบเปิด 

สิ่งที่เห็นในห้องนี้มีทั้ง Vital Sign (สัญญาณชีพ) ของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่สามารถดูรังสีในจอ ห้องนี้ไม่ใช่ห้องที่มีรังสีเอกซเรย์ แต่ห้องด้านในจะเป็นห้องที่ใช้รังสีในการผ่าตัดและมีห้องที่ใช้ภาพรังสีจากจากเอกซเรย์เพื่อมาดูว่า จุดที่จะผ่าตัดอยู่ประมาณไหน ก็จะมีแพทย์ที่ควบคุมในห้องนี้และแพทย์ที่ผ่าตัดที่อยู่ด้านใน ส่วนห้อง 5 กับห้อง 6 คือห้องผ่าตัดหัวใจ จะเป็นห้องประจำสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจและทรวงอก 

สำหรับชุดที่เจ้าหน้าที่สวมใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น ชุดป้องกันรังสีหรือชุดตะกั่ว มีหลายชุด ให้เจ้าหน้าที่เลือกตามขนาดหรือสีที่ต้องการ 

09.00 น. ได้เวลาเริ่มงาน หลังจากที่ได้เตรียมอุปกรณ์ใช้งานพร้อมแล้ว การเข้าผ่าตัดวันนี้ ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง ก็ได้เวลาพักกลางวัน 

พักกลางวันแล้วก็กลับมาเปลี่ยนชุดอีกครั้งเพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงบ่ายต่อ ซึ่งก็ทำงานอีก 4 ชั่วโมงซึ่งจะเลิกในเวลา 16.00 น. หลัง 4 โมงเย็นก็จะรับผ่าตัดเฉพาะเคสฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในวันนี้ คุณกอล์ฟเข้าเวรบ่าย จาก
16.00  - 08.00 น. ของวันใหม่ 

เมื่อเวลาผ่านเลยช่วงทำการปกติแล้ว พยาบาลก็เตรียมความพร้อมสำหรับเคสฉุกเฉิน ในระหว่างที่ไม่มีการผ่าตัด ก็สามารถพักในห้องเวรส่วนตัว ซึ่งเป็นห้องพักของพยาบาล สำหรับห้องเวรก็จะมีที่นอน ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำในตัว 

  • ถ้าอยากเป็นพยาบาลห้องผ่าตัดต้องทำอย่างไร ?

    จบพยาบาลศาสตร์บัณฑิต 4 ปี เบื้องต้นก่อน มีการสัมภาษณ์ดูทักษะว่าสามารถเป็นพยาบาลห้องผ่าตัดได้ไหม เนื่องจากพยาบาลห้องผ่าตัดจะต้องคิดไว ทำไว ตัดสินใจไว และสามารถประยุกต์อุปกรณ์ผ่าตัดให้เข้ากับเคสได้

    พยาบาลห้องผ่าตัดเหมือนฉีกแนวของการเรียนพยาบาล ใช้เวลา Trainning 1 - 3 ปี จึงจะเข้าเคสของที่นี่ได้ เนื่องจากเคสของที่นี่เป็นเคส Special และ Complicated มีความยุ่งยาก ซับซ้อน

 

การเป็นพยาบาลห้องผ่าตัด จะต้องกล้าคิด กล้าตัดสินใจ ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และมีความซื่อสัตย์ นี่คือสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพนี้ เนื่องจากการผ่าตัดต้องใช้อุปกรณ์ในการผ่าหลายชั้น จึงต้องมีความรอบคอบอย่างมาก” พว.พศวีย์ ระบุ 



  • เคสที่จดจำและประทับใจ

    เป็นเคสที่ยาวนานที่สุดที่เคยเข้าผ่าตัดมา ใช้เวลา 34 ชั่วโมง เป็นผู้ป่วยที่มีก้อนในช่องท้องและเหมือนจะลุกลามไปทุก ๆ อวัยวะ ต้องใช้แพทย์ผ่าตัดหลายทีม เคสนี้ต้องใช้ทีมพยาบาล 3 - 4 ทีม


ส่วนอีกเคสหนึ่งที่มีความประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจให้เป็นพยาบาลห้องผ่าตัดจนถึงทุกวันนี้คือ เคสผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้เด็กคือ การผ่าตัดตับบางส่วนของพ่อแม่เด็กเอามาให้เด็ก ซึ่งตับมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ ออร์แกนของตับสามารถเจริญเติบโตได้ 

ภาพจำในวันนั้นคือ แม่ที่อุ้มเด็กน้อยขึ้นเตียง ส่งมอบให้ทีมผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล คุณแม่พยายามจะเล่นกับลูก แต่พอหันหลังให้ลูกคือ น้ำตาซึม รู้สึกเป็นเคสที่สะเทือนใจและประทับใจ เป็นการให้กำลังใจในทุก ๆ ครั้งที่เราท้อ ก็จะนึกถึงเคสนี้ว่าเราได้ช่วยเด็กคนหนึ่งให้มีชีวิตดีขึ้น


รับชมวิดิโอ : https://youtu.be/wRQm2en_lkc?si=tIIT0VCx0v7njmyr





ติดต่อโฆษณา!