17 มกราคม 2567
509

เตือนพบโควิดสายพันธุ์ JN.1 ระบาดในไทยแล้ว 40 ราย ไข้เลือดออกครองแชมป์โรคระบาดปี 66

เตือนพบโควิดสายพันธุ์ JN.1 ระบาดในไทยแล้ว 40 ราย  ไข้เลือดออกครองแชมป์โรคระบาดปี 66
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผย ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ ช่วงเดือนพ.ย. 66-15 ม.ค. 67 พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.9.2 ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของ JN.1 เพิ่มมากขึ้น

สายพันธุ์ JN.1 เริ่มพบในประเทศไทยตั้งแต่เดือนต.ค. 66 และพบเพิ่มมากขึ้นในเดือนธ.ค. 66 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลัก แทนที่ XBB.1.9.2

จากข้อมูลปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อ JN.1 ในพื้นที่เขตสุขภาพ 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, และ 13 

อาการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 มีลักษณะต่อไปนี้ 

อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น  มีไข้  ไอ  มีเสมหะ เป็นต้น และยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 

ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ JN.1 ในประเทศไทย จำนวน 40 ราย ซึ่งยังไม่มีชนิดกลายพันธุ์ 2 ตำแหน่ง

นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 65 พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ในตระกูล ปัจจุบันสายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์หลัก ที่แพร่กระจายในประเทศ

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้ความสำคัญกับการติดตาม Omicron จำนวน 10 สายพันธุ์ จากพื้นฐานของข้อมูลการเพิ่มความชุกหรือความได้เปรียบด้านอัตราการเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ และการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการได้เปรียบในการก่อโรค ได้แก่

สายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5, BA.2.86, และ JN.1

สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM) 5 สายพันธุ์ ได้แก่ DV.7, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และ XBB.2.3

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 66 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดสายพันธุ์ JN.1 เป็น VOI สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86 ที่มีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามที่ต่างจาก BA.2.86 คือ L455S (กรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 455 เปลี่ยนจากลิวซีนเป็นซีรีน) เพิ่มความสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ JN.1 มีความได้เปรียบในการเติบโตสูงกว่า XBB.1.9.2 ถึง 73%

“การป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุข ยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ สำหรับอาการและความรุนแรง มักขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวมของบุคคล มากกว่าชนิดสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ

ด้านกรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคติดต่อที่มีการระบาดในไทยปี 2566 ที่ผ่านมา โดยจากสถิติ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 13 ธ.ค. 66 พบมีการระบาด และมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รวม 147,412 ราย 

อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ รวม 174 รายจาก 57 จังหวัด อัตราป่วยตาย 0.12% โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 – 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และภาวะอ้วน

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อว่า เชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus; DENV) และมีหลายสายพันธุ์ใดหากเป็นสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ดังนั่นผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำอีก
ติดต่อโฆษณา!