16 มกราคม 2567
873

One Day with อาจารย์แพทย์สาขาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์)


วันนี้ One Day with Me by RAMA Channel พามารู้จักกับ อ. ดร.เบญริตา จิตอารีย์ หรืออาจารย์ส้ม อาจารย์สาขาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์) โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

“อาชีพของเราในวันนี้คือ การสร้างสิ่งที่ดีต่อสังคม ต่อให้ไม่ได้เป็นแพทย์ผ่าตัดเอง แต่เราในฐานะคนที่เตรียมร่าง ดูแลร่างอาจารย์ใหญ่ไปให้แพทย์เฉพาะทางหรือให้นักศึกษาใช้ คือ หน้าที่ที่เราควรจะทำให้ดีที่สุดในการพัฒนาวงการแพทย์” อ. ดร.เบญริตา กล่าว

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในวันทำงานปกติก็จะมีการสอน โดยในช่วงเช้าจะเป็น Lecture ตอนบ่ายจะเป็นเข้าห้อง LAB 

07.00 น. เดินทางมาถึงที่ทำงาน เช้าวันนี้อาจารย์ส้มไม่มีสอน Lecture ช่วงเช้า แต่จะไปเช็กการทำงานของเจ้าหน้าที่ตรงเอกสารของวันนี้ก่อน จากนั้นไปเปลี่ยนชุดเพื่อไปดูเจ้าหน้าที่ว่าวันนี้ทำงานอะไรกันบ้าง

08.00 น. เริ่มปฏิบัติหน้าที่ประจำวัน แวะไปห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นห้องบริจาคร่างกาย

วันนี้เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีเคสบริจาคร่างกาย และเมื่อวานเพิ่งไปรับร่างอาจารย์ใหญ่มาซึ่งฉีดน้ำยาเรียบร้อยแล้ว
ในแผนกนี้มีเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยสองคนที่ดูแลในเรื่องการรับบริจาคร่างกายและออกไปรับร่างอาจารย์ใหญ่ 

09.00 น. อาจารย์ส้มพาเราไปที่ห้อง LAB หรือห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy Class Room) และใช้ห้องนี้ในการทำงานวิจัยไปด้วย 

งานวิจัยหลัก ๆ ของอาจารย์ส้ม เป็นการศึกษาโครงสร้างกายวิภาคศาสตร์ ขั้นตอนในการทำวิจัยจะต้องเขียนโครงร่าง และขอจริยธรรมในมนุษย์ให้เสร็จก่อนถึงจะเริ่มเก็บข้อมูลได้ 

ขั้นตอนการเก็บข้อมูลจากการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ จะผ่าร่างของอาจารย์ใหญ่อย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อมูลวิจัย

ช่วงบ่ายมีสอน ซึ่งจะจัดเป็น Integrated Classroom มีทั้งร่างอาจารย์ใหญ่และส่วนที่เป็น Virtual Reality หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับนักศึกษา 

สำหรับ Classroom ในวันนี้จะเวียน Station มีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาให้นักศึกษาใช้ ก่อนที่จะเจอร่างอาจารย์ใหญ่จริง ๆ

อาจารย์สาขาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์) ของโรงพยาบาลรามาธิบดีได้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง ในส่วนของการ Scan Model เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เป็นสิ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจมาก ๆ 


อีกอย่างที่ใช้ในการเรียนการสอนเหมือนกัน เรียกว่า Anatomage Table ขนาดเท่ากับโครงสร้างมนุษย์ เสมือนเตียงอาจารย์ใหญ่ของจริง ภาพสามมิติที่อยู่บนเตียงเป็นภาพที่สแกนมาจากร่างผู้บริจาคของต่างประเทศ โดยโต๊ะนี้มีความพิเศษคือ สามารถผ่าได้เสมือนจริง

จะมีเทคโนโลยีอีกหนึ่งแบบ เรียกว่า zSpace เป็นลักษณะภาพ Diagram ที่วาดขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเหมาะกับการที่ให้นักศึกษาทบทวนความรู้ ศึกษาดูก่อนจนกว่าจะแม่นยำถึงจะไปผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ จะต้องใช้แว่นเหมือนเราไปดูหนังสี่มิติในโรงหนัง และสามารถดึง Model ร่างกายมนุษย์ให้พ็อปอัปขึ้นได้ 

เมื่อนักศึกษามีความรู้แน่นเพียงพอแล้วก็จะไปผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ของจริง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ท้าทายสำหรับนักศึกษาแพทย์ เพราะว่าร่างอาจารย์ใหญ่ทุกร่างไม่เหมือนกัน

ปกติเมื่อมีการเรียนการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ จะมีเช็กลิสต์ข้อมูลสิ่งที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาดูโครงสร้างว่าครบหรือไม่

20240319-b-01.jpg

ในคาบเรียนทุกกลุ่มจะมีอาจารย์ประจำคอยแนะนำ เพื่อช่วยชี้แนะนักศึกษา หากมีคำถามสามารถสอบถามอาจารย์ได้ตลอดเวลา 

  • เคสประทับใจ 

    ในฐานะอาจารย์สาขาพรีคลินิก (กายวิภาคศาสตร์) มีโอกาสได้ทำบุญให้กับอาจารย์ใหญ่ มีญาติมาพูดกับเราว่า เขามางานทำบุญอาจารย์ใหญ่ของคุณแม่ เขาบอกว่า “แม่คือผู้ให้” ผู้ให้ตั้งแต่เขายังมีชีวิต จนวันนี้ที่เขาเสียชีวิต เขาก็ยังเป็นผู้ให้ สิ่งมีค่าที่สุดสิ่งสุดท้ายคือ “ร่างกาย” ให้นักศึกษาได้เรียน 

พอเราฟังประโยคนี้ เรารู้สึกว่าการที่คน ๆ หนึ่งจะบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ เขามีพระคุณกับทางเรามาก
 
ในฐานะคนที่ดูแลกายวิภาคศาสตร์ การที่เราได้ร่างกายมาหนึ่งร่าง เราต้องดูแลร่างให้ดีที่สุด และนำร่างอาจารย์ใหญ่ไปให้นักศึกษาแพทย์เรียน ให้แพทย์เฉพาะทางศึกษาพัฒนาการเรียนรู้ หรือทำงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อให้ได้คุณค่าต่อหนึ่งร่างมากที่สุดและเกิดการพัฒนาต่อวงการแพทย์มากที่สุด เป็นสิ่งที่ได้ฟังและประทับใจ


ถ้าอยากจะมาเป็นอาจารย์สอนกายวิภาคศาสตร์ ต้องทำอย่างไร

อันดับแรกต้องไม่กลัว คนที่กลัวก็คือ กลัวมาก สำหรับตัวอาจารย์ส้มเอง เวลาอยู่ในห้องอาจารย์ใหญ่ รู้สึกชอบ มีความสุขที่เราได้นั่งผ่า เหมือนได้โฟกัสกับตัวเอง เคยอยู่ดึกสุดถึงเที่ยงคืนก็อยู่ได้ อยู่คนเดียวได้ไม่มีปัญหา 

ไม่จำเป็นต้องเรียนแพทย์มาก็ได้ เรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพก็ได้เช่นกัน และมาเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ หลังจากนั้นสามารถเข้าไปเรียนในโรงเรียนแพทย์หรือคณะต่าง ๆ
ที่มีการเรียนการสอนของกายวิภาคศาสตร์ ถ้าใครมีความชอบด้านนี้ก็สามารถเรียนได้ 

การบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่มีความสำคัญต่อวงการแพทย์มาก อยากเชิญชวนให้ทุกท่านเข้ามาบริจาคร่างกาย เพื่อนำไปใช้ฝึกความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางหรือแม้แต่งานวิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ ร่างกายของท่านมีคุณค่าในการพัฒนาวงการแพทย์ต่อไป


รับชมวิดิโอ : https://youtu.be/dXbLmI8soEY?si=cs9W91xh_5uRCByJ

 

ติดต่อโฆษณา!