21 มกราคม 2567
13,052

มะเร็งลำไส้ “ภัยร้าย ใกล้ตัว”



หากเอ่ยถึง “โรคระบบทางเดินอาหาร” บางชนิดร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต บ้างสร้างความรำคาญ และส่งผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในคนไทย เช่น

  1. โรคกระเพาะอาหาร
  2. ลำไส้แปรปรวน  
  3. โรคกรดไหลย้อน
  4. มะเร็งลำไส้ใหญ่ 


ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) ที่สำคัญแนวโน้มของผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้เฉลี่ยวันละ 15 คน หรือปีละ 5,476 คน 


ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • พฤติกรรมการกิน - การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง, เนื้อแดง, เนื้อแปรรูป, อาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และ กินอาหารที่มีเส้นใยน้อย
  • มีประวัติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้
  • การขับถ่ายที่ไม่สมดุล - มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือ ภาวะลำไส้แปรปรวน
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม - การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ การไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยขยับตัว

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือเคลือบอุจจาระ
  • ท้องผูกสลับท้องเสีย
  • คลำพบก้อนที่บริเวณแนวลำไส้ใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแข็ง ขยับได้ และกดไม่เจ็บ
  • ไม่ผายลมเพราะก้อนมะเร็งอุดตันลำไส้ทำให้ลมไม่สามารถผ่านออกมาได้
  • อาการอื่น ๆ ที่อาจจะพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง ท้องอืด หรืออาเจียน 

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

(สำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีอาการไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าวแนะนำให้เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี)

  • ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ปีละครั้ง
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ปี
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography)

แนวทางการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การผ่าตัด - การรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การผ่าตัด เอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป
  • รังสีรักษา - การรักษาร่วมกับการผ่าตัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัดได้ มักใช้ระยะเวลาประมาณ 5 - 6 สัปดาห์
  • เคมีบำบัด - การให้ยาเคมี ซึ่งแพทย์อาจให้ก่อนการผ่าตัดและ/หรือหลังผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย

แนวทางการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • กินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่
  • กินอาหารที่มีกากไยสูงเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม, เนื้อแปรรูป หรืออาหารที่มีไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับการตรวจคัดกรองตามเกณฑ์ 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทย การตรวจคัดกรองหรือเฝ้าระวังที่ดีและถูกต้องจะช่วยให้ตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งระยะแรกทำให้สามารถป้องกันหรือให้การรักษาโรคได้อย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายจากโรคได้มากขึ้น



รับชมวิดิโอ : https://youtu.be/G6lXmNYvXDc?si=nkKiVmsn-FWeeE1e



ติดต่อโฆษณา!