13 มีนาคม 2567
2,547

One Day with แพทย์นิติเวช

“การค้นหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถเอาไปใช้ในทางคดี เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับศพที่พูดไม่ได้ให้ได้มากที่สุด นี่เป็นภารกิจของเรา” อ. พญ.หทัยชนก พึงเจริญพงศ์ หรือหมอหมิว อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ การทำงานของแพทย์สาขานิติเวชศาสตร์ 

ห้องทำงานก็คือ “ห้องผ่าศพ” หรือเรียกว่าห้องปฏิบัติการชันสูตรศพ ซึ่งเป็นห้องเก็บพยานหลักฐานต่าง ๆ ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปใช้ในทางคดีให้เกิดความยุติธรรมกับศพที่พูดไม่ได้ให้ได้มากที่สุด

การทำงานเริ่มต้นในเวลา 09.00 น. และก็ไม่แน่นอนว่าจะต้องผ่าศพกี่เคส หรือออกนอกพื้นที่กี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันนั้น ๆ บางวันอาจจะ 1 - 4 เคส บางวันอาจจะไม่มีเลย

การผ่าพิสูจน์ศพใช้เวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละเคส ในเคสปกติจะใช้เวลาเฉลี่ย 30 - 40 นาที ในเคสที่ต้องใช้ความละเอียดมากขึ้น อาจจะต้องเก็บวัตถุพยาน มีการดูบาดแผลที่ละเอียดมากขึ้น เช่น บาดแผลถูกยิงหรือถูกแทง ยิ่งมีหลายแผลก็จะใช้เวลานานมากขึ้น อาจจะใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

อ. พญ.หทัยชนก พูดถึงความคุ้นเคยของคนทั่วไปที่มองมายังการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการผ่าพิสูจน์ศพ คนอาจจะนึกไปถึงฉากหนัง ซีรีส์ในภาพยนตร์ ที่มองว่าห้องผ่าพิสูจน์ คงจะเป็นห้องมืด สลัว ๆ บรรยากาศวังเวง ชวนให้น่ากลัว ผีพร้อมจะโผล่ขึ้นมาในตอนไหนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ห้องชันสูตรศพนั้น มีแสงไฟสว่างจ้ามาก เพื่อการทำงานได้สะดวก มีทีมผู้ช่วยหลายคนช่วยกันทำงาน

เตียงจะเป็นเตียงแบบน้ำไหล ระหว่างที่ผ่าหากมีน้ำหรือเลือดผสมออกมาจะได้ง่ายต่อการล้างทำความสะอาด มีระบบกรองน้ำด้านล่างเตียง เวลาผ่าศพจะผ่าเปิด มีการชั่งน้ำหนักอวัยวะต่าง ๆ เพราะความผิดปกติของอวัยวะอาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ รวมทั้งการตรวจสารพิษในเลือดหรือปัสสาวะ 

เมื่อมีเคสผ่าพิสูจน์ เช่น กรณีที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกฟัน ถูกยิง ก็จะมีการวัดบาดแผล ถ่ายรูปภายนอก การทำงานด้านการเก็บพยานหลักฐาน อาจจะตัดเล็บไว้ด้วย เผื่อพิสูจน์ DNA เทียบกับของคนร้ายได้

ถ้ามีเสื้อ ก็เก็บเสื้อเป็นวัตถุพยานด้วย และการผ่าพิสูจน์ก็จะได้รู้ว่าถูกแทงจากจุดไหน นอกเสื้อหรือในเสื้อ เพื่อประเมินว่าเลือดออกมากแค่ไหน 

วัดบาดแผล มีการตรวจดูแผลเป็นประมาณไหน กรณีที่มีดหรือปืนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว ก็จะใช้สิ่งที่ตรวจพบในศพ เพื่อที่จะได้ตีวงแคบมากยิ่งขึ้น

ในกรณีที่เป็นการผ่าพิสูจน์เพื่อเก็บพยานหลักฐานทางคดีก็จะมีการเก็บชิ้นเนื้อชิ้นเล็ก ๆ เอาไว้ขยายลงไปถึงระดับเซลล์ เพื่อดูว่าเป็นไปตามที่สงสัยหรือไม่ หรือกรณีปอดติดเชื้อก็จะนำชิ้นเนื้อชิ้นเล็กที่เก็บตัวอย่างไว้ ส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีการอักเสบจริงหรือไม่

20240313-b-01.jpg

อีกงานที่ทางนิติวิทยาศาสตร์ต้องทำคือ การตรวจพิสูจน์ DNA เพื่อหาความสัมพันธ์เชื่อมโยง ทางสายเลือด พ่อ - แม่ - ลูก ได้ 

เมื่อขั้นตอนการผ่าพิสูจน์เสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการเขียนรายงานเพื่อส่งให้กับตำรวจ ผู้ที่เขียนรายงานคือแพทย์ Resident เป็นแพทย์ที่เรียนจบแล้วและเรียนต่อเฉพาะทางนิติเวชศาสตร์ จากนั้นก็จะมาตรวจควบคู่ไปกับรูปอวัยวะต่าง ๆ ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ตอนแรก รวมทั้งที่เก็บ DNA เพื่อไป Match กับ DNA คนร้ายและมีดต้องสงสัย 

  • เคสประทับใจ

    เคสของคุณป้าท่านหนึ่งที่สามีเสียชีวิตขณะนอนอยู่ข้าง ๆ กัน ก็เลยรู้สึกผิดที่ไม่ได้ดูแลให้ดีและสามีจากไปโดยไม่ได้บอกลากันก่อน ในเคสนี้ได้อธิบายข้อเท็จจริงทางการแพทย์ให้ฟังว่า ถึงคุณป้าตื่นขึ้นมา ขณะที่สามียังไม่เสียชีวิต ก็ไม่อาจจะช่วยอะไรไม่ได้ เพราะโรคบางชนิดพอกำเริบแล้ว จะส่งผลให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เขาก็ขอบคุณที่ทำให้ไม่ต้องโทษตัวเองอีกต่อไป


แรงบันดาลใจ 

“แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก นอกจากเป็นหมอนิติเวชแล้ว ยังเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย มีความสุขทุกวันที่ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ถ่ายทอดเพื่อให้แพทย์รุ่นต่อ ๆ ไป นำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนต่อไป 

และอีกส่วนหนึ่งคือการทำงาน เคสที่ทำให้เราอยากมาทำงานตรงนี้คือ เคสการทำร้ายร่างกาย อยากใช้ความรู้ของเราอธิบายเขา เป็นกำลังใจและให้พลังเพื่อให้เขาสู้ต่อไป” อ. พญ.หทัยชนก กล่าว


รับชมวิดีโอย้อนหลัง : https://youtu.be/jqHB-qRBAUw?si=C-B5gdvxMc2OCRV6

ติดต่อโฆษณา!