14 มกราคม 2567
992

เจาะลึกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ดูแลผู้ป่วยเมื่อความเจ็บปวดมาเยือน



กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงานออฟฟิศ ที่มีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม จึงทำให้มีการเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า อาจทำให้มีอาการเมื่อยหรือชาได้ โดยเฉพาะบริเวณคอ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ


ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมได้ในทุกเพศ ทุกวัย ไม่ได้แต่เฉพาะคนในวัยทำงานเท่านั้น ซึ่งก็เป็นผลมาการใช้งานกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นเดิม ๆ ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็น เด็กๆ ที่เรียนหนังสือ - เล่นเกมออนไลน์ เป็นเวลานาน ๆ หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันก็มีการเล่นสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น และไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบทในเวลาที่เหมาะสม


สาเหตุการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม

  • การใช้ท่าทางหรืออิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น ไม่พิงพนักเก้าอี้ นั่งหลังค่อม ห่อไหล่ คอยื่นเป็นเวลานาน ๆ หรือ ก้มคอเป็นเวลานานโดยไม่ขยับเปลี่ยนท่าทางเลย นั่งไขว้ห้าง รวมถึงการกระดกข้อมือมาก ๆ ในการพิมพ์งาน การใช้เมาส์  หรือ สะพายกระเป๋าที่หนักเกินไป เป็นต้น
  • สภาพแวดล้อมที่ทำงานไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หน้าจอคอมพิวเตอร์ อยู่ในระดับความสูงที่ไม่พอดีกับความสูงของผู้ทำงาน เก้าอี้ไม่มีพนักพิง ที่วางแขน หรือที่รองข้อมือให้มีการถ่ายเทน้ำหนักที่เหมาะสม หรือแม้แต่กระทั่งแสงสว่างในบริเวณที่ทำงานไม่เพียงพอ 
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะเครียดสะสมจากนการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ โภชนาการบกพร่อง โรคประจำตัวบางอย่าง หรือ การขาดการออกกำลังกาย

อาการออฟฟิศซินโดรม 

  • จะมีอาการเริ่มจากอาการปวดกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก หลังส่วนบนหรือส่วนล่าง
  • อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียง หรือชาลงมาที่แขนร่วมด้วยได้
  • อาจมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น วูบ เย็น ชา หรือเหงื่อออกจากบริเวณที่ปวดร้าวได้ หากเป็นบริเวณลำคอ อาจมีอาการตาพร่า หรือ ปวดศีรษะ โดยอาการปวดศีรษะอาจจะร้าวไปถึงตา คล้ายปวดศีรษะไมเกรนได้

การรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม

  • การรักษาด้วยยา - แพทย์จะสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยา หรือ การฉีดยา ซึ่งอาจจะช่วยให้ทุเลาลงได้ แต่จะไม่ได้ทำอาการหายไป ผู้ป่วยอาจจะกลับมามีอาการได้อีกหากยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือท่าทางให้ถูกต้องได้
  • การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด - การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยการกายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่ต้นเหตุช่วยปรับโครงสร้างร่างกายในส่วนที่มีปัญหา ให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน 
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม - ผู้ป่วยควรจะต้องปรับท่าทางให้มีความเหมาะสม และการฝึกการยืดเหยียดร่างกายเมื่อต้องมีท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานานๆ

การป้องกันการเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม

  • ออกกำลังกาย เพื่อยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา หรือปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย เป็นต้น
  • พักการใช้งานกล้ามเนื้อเป็นระยะ ๆ ในช่วงระหว่างวัน เช่น ในระหว่างทำงานควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและแขน โดยการบริหารต้นคอ สะบัก ไหล่ แขนมือ เอวหลัง และขา

กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเป็นอาการที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมให้ถูกต้อง และ หากเกิดสัญญาณเตือนของอาการ ผู้ป่วยไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะการแก้ไขปัญหาหรืออาการที่เกิดขึ้นโดยเร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการเจ็บปวดเรื้อรังจากออฟฟิศซินโดรมได้

รับชมวิดิโอเพิ่มเติม : https://fb.watch/psu9lwbug0/
ติดต่อโฆษณา!