19 ตุลาคม 2566
370

สธ.เตือน ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มาแล้ว เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

สธ.เตือน ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มาแล้ว  เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มาแล้ว หลายพื้นที่อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มักเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังสุขภาพ 

ทั้งนี้แนวโน้มความกดอากาศที่สูงขึ้น อากาศไม่ถ่ายเท จะทำให้จะมีฝุ่นละอองสะสม จากการคาดการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จะในระดับสีส้มจะคงอยู่อีก 1-2 วัน 

เว็บไซต์ Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ  รายงานสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน ในหลายพื้นที่

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐาน 5 พื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 37.5 มคก.ต่อลบ.ม.) ได้แก่

ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 
ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย 
ต.ในเมืองอ.เมือง จ.ยโสธร 
ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร 
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม

ในพื้นที่ภาคกลาง ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 

ส่วนในกทม. และปริมณฑล มีเกินมาตรฐานระดับสีส้ม 13 พื้นที่ ดังนี้

1. แขวงคลองเตย เขตคลองเตย
2. ริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย
3. ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่
4. ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน
5. ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ
6. ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา
7. ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา
8. แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร
9. ริมถนนนราธิวาส เขตบางรัก
10. ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน
11. ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง
12. สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม
13. ริมถนนดินแดง เขตดินแดง

▪️ กระทรวงสาธารณสุขเตือนเช็กค่าฝุ่นพบระดับสีส้ม

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มักเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 

กระทรวงสาธารณสุข จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังสุขภาพได้อย่างทันท่วงที

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 ในหลายจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น ในระดับปานกลางหรือสีเหลือง ไปจนถึงระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีส้ม 

โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครพนม มุกดาหาร ยโสธร หนองคาย อุบลราชธานี

ขณะที่พื้นที่ กทม.พบค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับสีส้มหลายพื้นที่เช่นกัน อาทิ ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน ริมถนนดินแดง เขตดินแดง แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม  ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน
 
▪️ เช็กเกณฑ์ฝุ่นพิษจิ่วแบบไหนอันตราย

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เมื่อจะต้องออกจากบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์และค่าฝุ่น PM 2.5 จากแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ

หรือข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยดาวเทียม ผ่านแอปพลิเคชันเช็กฝุ่น หรือ https://pm25gistda.or.th  และปฏิบัติตนตามคำแนะนำจากระดับสีคุณภาพอากาศ ดังนี้

สีฟ้า ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 0-25 ระดับดีมาก ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ

สีเขียว ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 26 –50 ระดับดี ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรม นอกบ้านได้ตามปกติ ส่วนกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก กลางแจ้ง เป็นเวลานาน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง

สีเหลือง ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 51 –100 ระดับปานกลาง ประชาชนทั่วไปเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือ การออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก กลางแจ้งเป็นเวลานาน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 

กลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมภายนอกอาคาร และการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก กลางแจ้ง ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

สีส้ม ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 101–200 ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมภายนอกอาคาร หรือ การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงลด

จำกัดระยะเวลาการทำกิจกรรม ภายนอกอาคาร และการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม

สีแดง ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) 201 ขึ้นไป ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรลด จำกัดระยะเวลา การทำกิจกรรมภายนอกอาคาร และการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกลางแจ้ง เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน


คำแนะนำ ออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ กลุ่มเสี่ยงงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง  ส่วนผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำรองเผื่อไว้อย่างน้อย 5 วัน
ติดต่อโฆษณา!