23 พฤศจิกายน 2565
1,249

องค์การอนามัยโลกแนะจับตา 9 เชื้อโรคอันตราย เสี่ยงจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง

องค์การอนามัยโลกแนะจับตา 9 เชื้อโรคอันตราย เสี่ยงจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง
Highlight

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะจับตามองเชื้อโรคชุดใหม่ 9 ประเภทที่ถือเป็นเชื้อโรคอันตรายถึงชีวิต ที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง โดยทั้ง  9 โรคอันตราย ได้แก่ เชื้อโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19, เชื้อไวรัสอีโบลา, เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก, เชื้อไข้เลือดออกลาสซา, เชื้อโรคเมอร์ส, เชื้อโรคซาร์ส , เชื้อไวรัสนิปาห์, เชื้อไวรัสซิกา และเชื้อโรค Disease X


องค์การอนามัยโลก (WHO) มีความกังวลต่อโรคติดต่ออันตราย ที่เหมือนจะหยุดพักการระบาดชั่วคราว แต่อาจจะกลับมาระบาดใหญ่ได้อีก โดยในแต่ละโรคอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ ควบคุมได้ยาก และยังมีโรคใหม่ที่เรียกกันว่า Disease X

คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กว่า 300 คน ได้วิเคราะห์ตรวจสอบเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจำนวนกว่า 25 ชนิด เพื่ออัพเดท เชื้อโรคอันตรายเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิจัยพัฒนา และการลงทุนเพื่อจัดหาวัคซีน รวมทั้งทดลองและหาแนวทางรักษาเชื้อโรคเหล่านี้

เชื้อโรคลึกลับที่มีชื่อว่า Disease X เพราะยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด แต่ WHO เชื่อว่า มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ทั่วโลกได้

"ไมเคิล ไรอัน" ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า การระบุเจาะจงเชื้อโรคและไวรัสอันตรายเพื่อเน้นทำการวิจัยและพัฒนาหาแนวทางต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือการระบาดใหญ่ในอนาคต 

"หากไม่มีการลงทุนเพื่อวิจัยพัฒนาในลักษณะนี้ ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็คงไม่มีโอกาสที่จะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้" ไรอัน กล่าว

ในส่วนของเชื้อโรคที่ถูกระบุไว้ในรายชื่อเชื้อโรคอันตรายล่าสุดของ WHO คือ เชื้อโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19, เชื้อไวรัสอีโบลา, เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก, เชื้อไข้เลือดออกลาสซา, เชื้อโรคเมอร์ส, เชื้อโรคซาร์ส , เชื้อไวรัสนิปาห์, เชื้อไวรัสซิกา และเชื้อโรค Disease X

WHO มีกำหนดจะเปิดเผยรายชื่อเชื้อโรคที่จัดทำใหม่นี้อย่างเป็นทางการก่อนเดือนเม.ย.ปีหน้า

WHO มีกำหนดประชุมร่วมกันในวันที่ 5-7 ธ.ค.นี้  เพื่อร่างข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการเตรียมตัวและรับมือโรคระบาด ที่อาจนำมาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับประเทศต่าง ๆ ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามจากโรคระบาดอีกครั้ง

ทั้ง 9 โรคอันตราย มีที่มาและ อาการอย่างไรบ้าง

โรคโควิด-19

โรคโควิด 19 คือโรคติดต่อซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนา โรคอุบัติใหม่นี้ไม่เป็นที่รู้จักเลย ก่อนที่จะมีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในเดือนธันวาคมปี 2019 ขณะนี้โรคโควิด-19 มีการระบาดใหญ่ไปทั่วส่งผลกระทบแก่หลาย ประเทศทั่วโลก

อีโบลา (Ebola)

หรือโรคอีโบลา เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) ซึ่งเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต พบว่ามีการระบาดครั้งแรก คือที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกากลาง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย ไวรัสก็จะสร้างความเสียหายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ในที่สุดแล้วจะทำให้ระดับเซลล์การแข็งตัวของเลือด (Blood-Clotting Cells) ต่ำลงและนำไปสู่ภาวะเลือดออกที่รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้

เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก

ไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus disease ; MVD) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้และเลือดออก ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ตั้งชื่อตามเมืองมาร์เบิร์กในประเทศเยอรมนี โดยมีค้างคาวผลไม้ (fruit bat) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Rousettus aegyptiacus ถือว่าเป็นสัตว์รังโรคของไวรัส และสัมผัสกับคนโดยการเข้าถ้ำไปขุดเหมืองที่มีค้างคาวผลไม้อยู่เป็นเวลานาน

เชื้อไข้เลือดออกลาสซา

ไข้ลาสซาเป็นไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสแพร่เชื้อจากสัตว์ประเภทหนู โดยการสัมผัสละอองฝอยลมหายใจ หรือสัมผัสอุจจาระของหนูที่ติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ดื่มนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไข้ลาสซา เป็น 1 ใน 6 โรคติดต่ออันตราย และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

เชื้อโรคเมอร์ส

โรคเมอร์ส คือโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรน่า (MERS Corona Virus : MERS-CoV) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเยื่อหุ้มปอดและหลอดลม เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 2012 และต่อมาได้แพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี จอร์แดน ตูนีเซีย และกาตาร์

เชื้อโรคซาร์ส

โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ในช่วงแรกผู้ที่ติดเชื้อมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่   การรายงานเกี่ยวกับโรคซาร์สเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2002 ที่ประเทศจีน แพร่กระจายไปมากกว่า 20 ประเทศในทวีปเอเชียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมถึงยุโรป และไม่พบรายงานการระบาดของโรคอีกตั้งแต่ปี 2004 โรคซาร์สเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ผู้ที่ติดเชื้อ 90% จะฟื้นตัวจากโรคได้ นั่นหมายความว่าผู้ที่ติดเชื้ออีก 10% ไม่สามารถฟื้นตัวจากโรคและเสียชีวิตในที่สุด

เชื้อไวรัสนิปาห์

โรคสมองอักเสบนิปาห์เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่มีรายงานเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 เชื้อไวรัสนิปาห์สามารถทำให้เกิดโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ สมองอักเสบและทำให้ตายได้ ที่ผ่านมาเคยมีรายงานการระบาดของโรคนี้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บังคลาเทศ และอินเดียเท่านั้น

โรคไข้ซิกา

โรคไข้ซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง

สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกาติดและช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์

Disease X

Disease X มีรายงานการค้นพบไวรัสตัวใหม่เป็นครั้งแรก ในทวีปแอฟริกา แถบป่าฝนเขตร้อน โดยผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยหญิง 1 ราย อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อาการเบื้องต้นของโรคคล้ายคลึงกับโรคไข้เลือดออก แต่พอได้ตรวจเชื้อไวรัสอีโบลาผลกลับออกมาเป็นลบ จนกลายเป็นข้อสงสัยถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ ไวรัสตัวใหม่ที่ยังไม่ทราบที่มาแน่ชัดสามารถแพร่ระบาดได้เร็วเท่ากับโควิด-19 และร้ายแรงเท่ากับเชื้อไวรัสอีโบลา ทางองค์กรอนามัยโลกจึงเพิ่ม Disease X เข้าเป็นอันดับ 9 ของโรคร้ายแรงที่เป็นภัยต่อโลก แต่ก็มีการสันนิษฐานกันว่า สาเหตุของโรคอาจจะมาจากการกลายพันธุ์ทางชีวภาพ ที่ติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ หรือเกิดขึ้นโดยมนุษย์เอง เช่น การเกิดอุบัติเหตุในห้องทดลอง หรือการก่อการร้ายโดยใช้อาวุธชีวภาพ เป็นต้น อีกทั้ง องค์กรอนามัยโลกยังระบุว่า Disease X เป็นแค่การตั้งสมมติฐานเท่านั้น และอยากแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของโรคนี้ เพื่อหวังให้ประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมสอดส่องการแพร่ระบาด และเพิ่มการรักษาตามพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น

อ้างอิง : เอเอฟพี, VOA, bumrungrad.com,pobpad.com

ติดต่อโฆษณา!