25 ตุลาคม 2565
1,795

ไทยเข้มสกัดอีโบลา หลังองค์การอนามัยโลกยกระดับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ

ไทยเข้มสกัดอีโบลา หลังองค์การอนามัยโลกยกระดับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ
Highlight

การระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน กลับมาระบาดอีกครั้งที่ประเทศยูกันดา ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงและมีอัตราการตายสูง เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคโดยตรง ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้ว 44 รายคิดเป็น 49% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด แม้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ดำเนินการคัดกรองผู้ป่วยอย่างเข้มข้นจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะยูกันดาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา และยืนยันว่าจะไม่กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว



นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค ได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ หลังมีการระบาดไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดานทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศยูกันดา

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศทวีปแอฟริกาที่ เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 โดยมีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย 

การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) สำหรับการระบาดในครั้งนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น แม้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สธ. ได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น ซึ่งกรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส อีโบลาแต่อย่างใด และยกระดับมาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดังนี้

  1. ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกราย โดยการตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ พร้อมให้แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากประเทศคองโก
  2. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง
  3. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมกับมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
  4. กองโรคติดต่อทั่วไป จะประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลการคัดกรอง ผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกสัปดาห์ และทำการประเมินสถานการณ์โรค
  5. ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายในระดับพื้นที่ ทางกรมควบคุมโรคจะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ตลอดจนสื่อสารไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขกรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แล้วมีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ให้รีบแจ้งมาที่กรมควบคุมโรค เบอร์ 1422

“องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ” นพ.โสภณ กล่าว

รู้จักเชื้อไวรัสอีโบลา

การระบาดของอีโบลาบนโลกครั้งแรกพบในปี 1976 พร้อมๆ กันสองแห่งคือ ในเมือง Nzara ประเทศซูดาน และในเมือง Yambuku ประเทศคองโก ในกรณีหลังเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของโรคนี้ในที่สุด ซึ่งการแพร่กระจ่ายนั้นเป็นการติดต่อจากการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งหรือของเหลวอื่นๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการเกี่ยวข้องสัมผัสกับชิมแปนซี กอริลล่า ค้างคาวผลไม้ ลิง แอนทีโลปป่า (forest antelope) และเม่น ซึ่งป่วยหรือตาย หรืออยู่ในป่าฝน

อีโบลาเป็นเชื้อจากสัตว์สู่คน และเริ่มแพร่กระจายจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรง ผ่านผิวหนังที่ถลอกหรือผ่านเยื่อบุ เลือด สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือของเหลวอื่นๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านั้น

สัญญาณติดเชื้อ

เชื้อไวรัสอีโบลาก่อโรคแบบเฉียบพลันและรุนแรงมีไข้การรู้สึกไม่สบายหรือร่างกายอ่อนแออย่างมาก ระยะฟักตัว หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-21วัน

ระยะแรกจะมีอาการ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะอย่างมาก ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงซึ่งอาจจะมีเลือดออกทางเดินอาหาร ถ่ายเป็นเลือด มีผื่นนูน ไอ เจ็บหน้าอก จุกแน่นบริเวณกระเพาะอาหาร น้ำหนักลด มีเลือดออกทางจมูก ปาก ทวาร หู ตา บวมอวัยวะเพศ ไตและตับล้มเหลว

ในบางกรณีอาจพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดต่ำลง และมีเอนไซม์ตับเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่จะเดินทางสามารถเดินทางไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ
  5. หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ
  6. อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที
ติดต่อโฆษณา!