24 ตุลาคม 2565
980

โควิด-19 กับสังคมไทย จะเป็นอย่างไรต่อ ?

Highlight

รัฐบาลออกประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั้งหมด รวมถึงกฎหมายพิเศษต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ตามมาด้วย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จริงๆแล้วการดูแลและป้องกันตัวเองในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19  ก็ยังคงต้องระมัดระวังเหมือนปกติ เพราะโรคโควิด-19 ก็ยังเป็นโรคติดต่อที่ติดง่าย และควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ๆ



20221024-b-01.jpg

โควิด-19 ที่มีการออกประกาศยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั้งหมด รวมถึงกฎหมายพิเศษต่างๆ ในระยะเวลา 2 ปี กว่าๆที่ผ่านมา ตามมาด้วยการออกประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแทน อย่างไรก็ตามตั้งแต่ทางกระทรวงสาธารณสุขมีประกาศเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค 2565 ที่ผ่านมา หลายๆคนมีความเห็น แตกต่างกันออกไป ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยฃ

ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์  กล่าวว่า จริงๆแล้วการดูแลและป้องกันตัวเองในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 นี้ ก็ยังคงต้องระมัดระวังเหมือนปกติ เพราะยังไงโรคโควิด-19 ก็ยังเป็นโรคติดต่อที่ติดง่ายอยู่ดี แต่ก็เชื่อว่า ในอนาคตทุกคนก็น่าจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงกันได้

ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มของผู้เสียชีวิตลดลง อีกทั้งประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

  • โรคติดต่ออันตราย กับ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แตกต่างกันอย่างไร

 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ 2558 เขียนไว้ว่า โรคติดต่ออันตราย หมายถึง โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ส่วนโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หมายถึงโรคติดต่อที่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ หรือ จัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง


20221024-b-03.jpg

ตัวอย่างโรคติดต่ออันตราย มีโรคอะไรบ้าง ?

เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง เชื้อไวรัสอีโบลา เป็นต้น


20221024-b-04.jpg


ตัวอย่างโรคติดต่อเฝ้าระวัง มีโรคอะไรบ้าง ?

เป็นโรคที่เราคุ้นชื่อกันดี อย่างเช่น ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดนกไข้หวัดใหญ่ โปลิโอ คอตีบ หัดเยอรมัน บาดทะยัก ซึ่งโควิด-19 ก็จะถูกรวมเข้ามาอยู่ในนี้ด้วย

20221024-b-05.jpg


20221024-b-02.jpg

ตอนนี้โควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว เบื้องต้นเราต้องทำตัวอย่างไร ?

1. ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้ปฏิบัติตาม DMHT เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น
2. ประชาชนทั่วไป สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในสถานที่ผู้คนแออัดหรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเทและตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย
3. หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยเป็นจำนวนมาก ให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

แผนปฏิบัติการควบคุมโรค รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ให้อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังหรือรุนแรงน้อย เอาไว้ 4 ระดับ มีอะไรบ้าง

1. ระดับเฝ้าระวัง เป็นสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอัตราป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 0.1% อัตราครองเตียงอยู่ระหว่างที่ 11-24% กำหนดให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคเป็นระดับอำเภอ

2. ระดับรุนแรงน้อย อัตราการป่วยเสียชีวิตขยับไปที่ 0.1-0.5% อัตราครองเตียง 25-40% กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการเป็นระดับจังหวัด และเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคขึ้นมา

3. ระดับรุนแรงปานกลาง อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 0.5% อัตราครองเตียง 41-75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข

4. ระดับรุนแรงมาก อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 1% อัตราครองเตียงมากกว่า 75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับประเทศ


การรักษาการติดโควิด มีขั้นตอนอย่างไร ?

ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย คือผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อ SARS-CoV-2 ให้ผลบวก และรวมผู้ติดเชื้อยืนยัน ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ แบ่งเป็นกลุ่มทางความรุนแรงของโรคและปัจจัยเสี่ยงได้เป็น 4 กรณี

1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี
- ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน
- ให้ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจาก ส่วนมากหายเอง

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ หรือ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ
- ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตาม DMHT อย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน

- อาจพิจารณาให้ ยาฟ้าทะลายโจร หรือ favipiravir ถ้าจะให้ควรเริ่มยาภายใน 5 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ
- ไม่แนะนําให้ใช้ยา molnupiravir, nirmatrelvir/ritonavir และ remdesivir เนื่องจากไม่มีการศึกษารองรับในผู้ป่วยกลุ่มนี้
- หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาแล้ว 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อาจไม่จําเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบ เล็กน้อยถึงปานกลาง ยังไม่ต้องให้oxygen

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่

1) อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป
2) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) (GOLD grade 2 ขึ้นไป) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
3) โรคไตเรื้อรัง (CKD) (stage 3 ขึ้นไป)
4) โรคหัวใจและหลอดเลือด (NYHA functional class 2 ขึ้นไป รวมโรคหัวใจตั้งแต่กําเนิด
5) โรคหลอดเลือดสมอง
6) โรคมะเร็ง (ไมรวมมะเร็งที่รักษาหายแล้ว)
7) เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
8) ภาวะอ้วน (น้ําหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ≥30 กก./ตร.ม.)
9) ตับแข็ง (Child-Pugh class B ขึ้นไป)
10) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เป็นโรคที่อยู่ในระหว่างได้รับยาเคมีบําบัดหรือยากดภูมิหรือ corticosteroid equivalent to
prednisolone 15 มก./วัน นาน 15 วัน ขึ้นไป)
11) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มี CD4 cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.

คําแนะนําการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มนี้ เลือกเพียง 1 ชนิด

คือ nirmatrelvia/ritonavir หรือ remdesivir หรือ molnupiravir อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นระยะเวลา 5 วัน นอกจาก remdesivir ให้ 3 วัน โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี

การให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้

1) ประวัติโรคประจําตัว
2) ข้อห้ามการใช้ยา
3) ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย
4) การบริหารเตียง
5) ความสะดวกของการบริหาร และราคายา รวมถึงปริมาณยาสำรองที่มี
6) ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา ความสะดวกของการให้ยา รวมถึงปริมาณยาสํารองที่มีในประเทศ/ในโรงพยาบาล

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดอักเสบที่มี hypoxia (resting O2 saturation ≤94% ปอดอักเสบรุนแรง ไม่เกิน 10 วัน หลังจากมีอาการ และได้รับ oxygen

แนะนําให้ remdesivir โดยเร็วที่สุด เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับให้ corticosteroid 


การพิจารณาระยะเวลาในการรักษาของผู้ป่วยโควิด ตอนนี้ดูจากอะไร ?

1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่สบายดีหรือไม่มีอาการหรือผู้ป่วยที่อาการน้อยให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก ให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำการปฏิบัติตัวสาหรับผู้ป่วย COVID-19 เน้น DMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน

2. กรณีที่เป็นผู้ป่วยใน ให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนอาการของโรคปกติ ระยะเวลาอาจจะรักษาในโรงพยาบาลไม่ถึง 5 วัน ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ และให้ปฏิบัติตนตามหลักการ DMHT อย่างน้อย 5 วัน โดยนับรวมเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่บ้านรวมกัน ตามคำแนะนำการปฏิบัติตัวสาหรับผู้ป่วยCOVID-19

3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (severe) หรือเป็น severely immunocompromised host ได้แก่

- ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบําบัดเพื่อรักษามะเร็ง
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะภายใน 1 ปี
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษาร่วมกับมี CD4 count <200 เซลล์/ลบ.มม.
- ผู้ป่วย combined primary immunodeficiency disorder
- ผู้ป่วยที่ได้รับ prednisolone >20 มก./วัน เท่ากับหรือมากกว่า 2 สัปดาห์
- ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่น ๆให้รักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้ และให้ออกจากโรงพยาบาลได้เมื่ออาการดีขึ้น โดยต้องแยกกัก(self-isolation) ต่อที่บ้านระยะเวลารวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ

4. เกณฑ์การพิจารณาจําหน่ายผู้ป่วย

- ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและภาพรังสีปอดไม่แย่ลง
- อุณหภูมิไม่เกิน 37.8°C ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง
- Respiratory rate ไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที
- SpO2 at room air มากกว่า 96% ขณะพัก

5. ไม่จําเป็นต้องทําการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR, antigen หรือ antibody test ในผู้ป่วยที่ยืนยันแล้ว ว่ามีการติดเชื้อและเมื่อจะกลับบ้านไม่ต้องตรวจซ้ำ

6. หลังจากออกจากโรงพยาบาล เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลากักตัว ให้ปฏิบัติตนตามแนววิถีชีวิตใหม่ คือ การสวมหน้ากากอนามัย การทําความสะอาดมือ การรักษาระยะห่าง การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่การระบายอากาศไม่ดี

a) ผู้ป่วยสามารถพักอยู่บ้าน หรือไปทำงานได้ตามปกติ
b) การกลับไปทำงานขึ้นอยู่กับสภาวะทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ต้องทําการตรวจหาเชื้อซ้ำก่อนกลับเข้าทํางาน แต่แนะนำให้้ปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด (New Normal)
c) หากมีอาการป่วยให้ตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามความเหมาะสม
d) ผู้ป่วยที่เพิ่งหายจาก COVID-19 ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำน้อยมาก หากไม่มีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งโดยวิธี RT-PCR และantigen หรือการตรวจ antibody จึงมีประโยชน์น้อย โดยเฉพาะผู้นั้นไม่มีอาการใดๆ
e) หากผู้ป่วยไม่มีอาการของโควิด-19 แล้ว กลับมามีอาการของการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจขึ้นมาใหม่ อาจพิจารณาตรวจหาเชื้อ SAS-CoV-2 รวมทั้งสาเหตุอื่นๆ เป็นรายๆ ไป


การขอใบรับรองแพทย์ในกรณีป่วยโควิด เพื่อลาหยุดงาน

ในกรณีที่ผู้ป่วยขอใบรับรองแพทย์ ให้ระบุ 5 วัน ถ้าจะให้พักนานกว่านั้น ควรมีเหตุผลความจําเป็นทางการแพทย์ที่ชัดเจน

โควิดอาจเกิดการระบาดเป็นฤดูกาล คล้ายไข้หวัดใหญ่ ใช่หรือไม่ ?

ช่วงที่เด็กเปิดเทอมหรือมีเทศกาลต่างๆตามฤดูกาลช่วงเวลาแบบนี้ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะอาจมีการระบาดได้  กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนเข็ม 3 กะไว้ จะปลอดภัยกว่า  


ติดต่อโฆษณา!