10 ตุลาคม 2565
1,495

ปวดหลัง ภัยใกล้ตัวของทุกเพศทุกวัย

Highlight

โรคปวดหลังพบเจอกันมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นได้ทุกเพศทุกวัย อาจจะพบได้มากในกลุ่มผู้สูงวัย ที่อาจเกิดจากโรคกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะบางเร็วกว่าปกติ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ระมัดระวัง เช่น การก้ม การยกของหนัก นอกจากนี้อาการปวดหลังปวดคอที่เริ่มมีมากขึ้นที่เรียกว่าโรค Text Neck Syndrome, Office Syndrome ที่มาจากการล้าของกระดูกคอและกระดูกสันหลังหลังจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่นานเกินไป หากไม่สามารถหายเองได้ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา


20221010-c-01.jpg

ปวดหลัง ภัยใกล้ตัวของทุกเพศทุกวัย รู้และป้องกันอย่างถูกวิธีก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย


หากมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดบริเวณอื่นๆ ร่วมด้วย คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดา เพราะอาการปวดหลังในแต่ละแบบนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกความผิดปกติของร่างกาย หรือโรคต่างๆได้

ร่วมไขปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอาการ ปวดหลัง ภัยใกล้ตัวทุกเพศทุกวัย กับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ รศ. นพ.พรเทพ ตั่นเผ่าพงษ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร
และ อ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา แผนกออโธปิดิกส์ สาขากระดูกสันหลัง สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

อาการปวดหลังที่จะชี้วัดว่าเป็นอาการปวดหลังแล้วไม่ดีขึ้นเอง เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือปวดแล้วรบกวนการนอน อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกปวด ปวดจนทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่เหมือนเดิม หรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกระทบมีผลต่อเส้นประสาท กระดูกสันหลังอยู่ใกล้เคียงกับเส้นประสาท ดังนั้นปัญหาที่กระดูกสันหลัง ก็จะทำให้เส้นประสาทมีความผิดปกติได้

ถ้ามีอาการชา อ่อนแรง มีการทรงตัวลำบาก มีการขับถ่ายที่ผิดปกติ อาการเหล่านี้เป็นอาการเตือนว่าอาจจะมีความน่ากังวลซ่อนอยู่ แนะนำว่าควรเข้ามาหาแพทย์เพื่อตรวจเช็คถึงสาเหตุที่แน่ชัด

การปวดหลังโดยทั่วไป เช่นนั่งรถเป็นเวลานาน และสามารถหายเองได้ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้  เป็นอาการที่พบเจอได้จากการใช้งานในชีวิตประจำวัน อาจจะไม่เป็นรุนแรง แต่ถ้าเป็นบ่อยอาจทำให้ใช้ชีวิตไม่มีความสุขได้ อาจมีวิธีปรับอื่นๆ เช่น การปรับท่านั่ง เพื่อลดอาการปวด ลดความถี่ และความรุนแรงให้น้อยที่สุด

20221010-c-02.jpg

สาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดโรคปวดหลัง

สาเหตุหลักมาจากสรีระร่างกายที่มีน้ำหนักมากเกินไป หรือภาวะอ้วน ส่งผลค่อนข้างมาก การรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังซึ่งเป็นเป็นอวัยวะแกนกลางของร่างกาย รวมทั้งข้อต่อกระดูก หมอนรองกระดูก พออายุมากขึ้นความสามารถในการรับน้ำหนักจะลดลง จะมีโอกาสปวดมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หรือรูปร่างที่เปลี่ยนไป กล้ามเนื้อลำตัว หรือกล้ามเนื้อสันหลังไม่แข็งแรงทจะทำให้กระดูกแกนกลาง หรือหมอนรองกระดูกในแกนกลาง รับน้ำหนักค่อนข้างเยอะ กล้ามเนื้อก็จะต้องมาช่วยพยุง เมื่อกล้ามเนื้อไม่แข็งแรงก็พยุงได้ไม่เต็มที่

กล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อสันหลังมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงกระดูกสันหลังรับน้ำหนักตัว ดังนั้นการออกกำลังกายที่มีส่วนช่วยสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนนี้คือ คอ บอดี้ exercise

การบริหารร่างกายเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง เช่น การทำแพลงกิ้ง, Sit-up จะช่วยให้กล้ามเนื้อลำตัวมาพยุงสันหลัง และลดอาการปวดได้  การทำแพลง จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อลำตัวแข็งแรง ค่อยๆทำท่าที่เราทำแล้วไม่เจ็บ และค่อยๆเพิ่มความถี่ และความนานในแต่ละเซ็ทในการทำ

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ปวดหลังเช่น อายุมากขึ้น กระดูกเสื่อมมากขึ้น จะทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังมีความหลวมได้ กระดูกสันหลังของคนเรามีข้อต่อหลายๆ ข้อ พอเวลาเราขยับตัวข้อต่อหลายๆจะยึดไปด้วยกัน

อาการปวดหลังพบมากในวัยใด

สำหรับคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศเยอะๆ ก็จะปวดหลังง่ายกว่าคนทั่วไป ยิ่งกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง พบว่าจะปวดหลังมากขึ้น ในช่วงของคนอายุน้อย คนปวดหัวหลังส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่นั่งทำงานในออฟฟิศเยอะๆ สาเหตุไม่ได้รุนแรงมาก แต่ว่ามักจะเป็นสาเหตุที่มีอาการปวดเรื้อรัง และรบกวนชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่เกิดจากกล้ามเนื้อ นั่งอยู่ในท่าเดิมๆ นานๆ ทำให้กล้ามเนื้อมัดเดิมถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง เกิดความเมื่อยล้าได้

อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ใช้หลังเยอะ ต้องยกของหนัก ก้มเยอะ ทำให้หมอนรองกระดูกถูกใช้งานเยอะไป ทำให้เสื่อมเร็ว บางครั้งมีการยกของหรือก้มตัวที่ไม่ถูกท่า จะทำให้เกิดการฉีกขาดภายในได้ ทำให้เข้าสู่วงจรการปวดเรื้อรัง

การยกของหนักที่ถูกวิธี คือถ้าหากเป็นท่ายืนให้ ให้ยืนตรงเกร็งลำตัว แล้วค่อยๆย่อเข่าคล้ายนั่งจองๆ จากนั้นค่อยๆยกตัวขึ้นมา

ท่าที่เสี่ยงที่สุดคือท่าก้ม ไม่ว่าจะยืนแล้วก้มลงแล้วยกของ  หรือนั่งอยู่แล้วก้มยกของจากพื้น 2 ท่านี้ ทำให้สันหลังรับน้ำหนักเยอะ และมีความเสี่ยงต่อโรคที่จะเกิดขึ้นบริเวณหมอนรองกระดูกได้

การนวดจะทำให้เกิดปัญหาโรคปวดหลังหรือไม่

การนวดเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปคู่กับคนไทย การนวดจะเพิ่มอาการปวดหลังหรือไม่ ถ้าหากไม่ได้นวดกับผู้เชี่ยวชาญหรือนักกายภาพบำบัด จริงๆแล้วก็สามารถนวดได้ แต่มีสิ่งที่ต้องระวังด้วย เราต้องรู้ตัวเอง ถ้าเป็นผู้สูงวัยและมีกระดูกพรุนหรือกระดูกไม่ค่อยแข็งแรง มีการบิดตัวเยอะอาจเสี่ยงทำให้กระดูกหักได้ง่าย บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นอุบัติเหตุแรงๆ ที่จะทำให้กระดูกหักง่าย ถ้าเป็นกรณีผู้สูงอายุ ก็มีความเสี่ยงการนวดจึงต้องระวัง  แต่ถ้าเราปวดกล้ามเนื้อและมีการกดจุดที่เราเจ็บเบาๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อก็สามารถทำได้ โดยอาจจะทำประคบอุ่นบริเวณที่เราปวดก็ได้

การกดแรงๆ หนักๆที่จุดกลางกระดูกสันหลัง หรือผู้สูงอายุที่กดจุดบริเวณคอหรือจับบิด ซึ่งกระดูกเริ่มเสื่อมแล้ว อาจจะมีความเสี่ยงได้ มีโอกาสที่เส้นประสาทเกิดการกระแทกได้  บริเวณเส้นประสาทจะมีโพรงประสาทอยู่ บางคนมีช่องของเส้นประสาทตีบแคบอยู่เดิม หากไปกระแทกก็อาจจะทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บได้ง่าย

เครื่องนวด ปืนยิงสำหรับการนวด รวมถึงเก้าอี้นวด เป็นอันตรายหรือไม่

กรณีการใช้เครื่องมือช่วยนวด เช่นการใช้ปืนนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะจุด ซึ่งมักจะใช้กันวงการกีฬา ซึ่งมีหลายระดับความแรง สามารถใช้ได้ แต่แนะนำว่า ควรใช้เฉพาะจุด บริเวณที่ปวด ค่อยๆ เพิ่มความแรงขึ้น และค่อยเบามือเมื่อรู้สึกว่าเริ่มเจ็บ

ตำแหน่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นประสาท ถ้าเส้นประสาทอยู่บริวเวณผิวๆ ก็อาจจะบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ก็มีบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหน้า และบริเวณเข่าบริเวณใต้ข้อเข่า เป็นส่วนที่มีเส้นประสาทมาพาดอยู่ มีหน้าที่ในการดระดกข้อเท้า หากใช้ความแรงนานๆ อาจจะเสี่ยง หลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง

การนวดโดยการเหยียบหลัง อันตรายหรือไม่

อันที่จริงไม่ควรเหยียบหลัง เพราะเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าเหยียบเบาๆ เหยียบเพื่อผ่อนคลายก็ได้

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตัว แต่ละที่อาจพรุนไม่เท่ากัน โดยทั่วไปที่ทางการแพทย์ตรวจ ก็จะตรวจในตำแหน่งที่ถ้ามันพรุนหรือหักแล้วจะทำให้ทุพพลภาพ ทำให้ดำรงชีวิตประจำวันไม่ได้ สิ่งที่เน้นคือกระดูกสันหลัง กับกระดูกสะโพก ถ้ามันพรุน มากๆ เมื่อเกิดหกล้มทำให้กระดูกสันหลังหักหรือยุบตัว และจะปวดมาก ไปกดเส้นประสาททำให้ชาหรืออ่อนแรงได้ หรือล้มแล้วสะโพกหักก็ไม่สามารถเดินได้ ก็เป็น 2 จุดหลักที่มีความกังวล ซึ่งหมอจะจัดยาให้ตามความรุนแรงของโรค

โดยปกติระดับกระดูก จะมีด้วยกัน 3 ระดับคือ 1. กระดูกปกติ 2.กระดูกบาง ในกรณีกระดูกบาง หมอจะให้ทานอาหารเสริม เช่น แคลเซียม หรือวิตามินดี 3.กระดูกพรุน คือคุณภาพกระดูกไม่ค่อยดีแล้วหากไปล้มจะเกิดกระดูกแตกหักง่ายกว่าคนทั่วไป จะมียากระดูกพรุนโดยเฉพาะ ป้องกันไม่ให้บางไปเรื่อยๆ

การตรวจมวลกระดูกโดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้หญิงวัยทอง หรือช่วงใกล้หมดประจำเดือนตรวจเช็คร่างกาย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจทำให้กระดูกบางลงอย่างรวดเร็ว ถ้าตรวจรอบแรกปกติดี ก็แนะนำให้มาสกรีนนิ่ง ทุกๆ 2-5 ปี

สำหรับผู้ชาย โอกาสจะเป็นกระดูกพรุนช้ากว่าผู้หญิงค่อนข้างเยอะ โอกาสจะเจอหลังอายุ 60 หรือ 70 ปีขึ้นไป ในบางคนที่มีโรคร่วมอย่างอื่น อาจส่งผลมาถึงกระดูกพรุนได้เช่น ไตเสื่อม กลุ่มข้ออักเสบ เช่น SLE รูมาตอย ก็ทำให้กระดูกพรุนได้ง่าย

ถ้าผู้หญิงอายุน้อย ที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับนารีเวช เช่น เคยไปตัดรังไข่ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและมวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับคนอื่นๆที่อายุเท่ากัน

20221010-c-03.jpg

นั่งอย่างไร ป้องกันอาการปวดหลัง

ถ้านั่งตรงมากก็อาจจะเมื่อยล้าได้ง่าย ควรนั่งพิงพนักพิงเพื่อผ่อนคลาย แต่บางครั้งการนั่งไถลเป็นเวลานาน และไม่มีซัพพอร์ตหลังทำให้กล้ามเนื้อหลังต้องรับน้ำหนักมาก ควรหาหมอนใบเล็กรองด้านหลัง ส่วนเท้าควรมีที่วางพัก เช่น หาเก้าอี้เตี้ยๆ มาวางเท้า  หรือถ้าขับรถนานๆ แนะนำว่าควรปรับเบาะให้ระดับหัวเข่าสูงกว่าบริเวณสะโพกเล็กน้อย

นั่งไขว่ห้าง มีผลต่อสุขภาพหลังหรือไม่

การนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานาน อาจทำให้กระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างเสียความสมดุลได้ ถ้าหากเรานั่งตัวตรงไม่ไขว่ห้าง ทำให้กระดูกเชิงกรานทั้งสองข้างรับน้ำหนักได้สมดุล ทำให้สะโพกบาลานซ์สองข้าง สันหลังเราจะตรง พอเรานั่งไขว่ห้างสมดุลเราก็เสีย และเข่างอ เวลาเข่างอเกิดแรงดันในเข่ามากขึ้น บางคนมีปัญหาเรื่องข้อเข่าเสื่อมอยู่แล้ว ผิวเข่าไม่เรียบ ยิ่งงอ เข่าจะยิ่งปวด สรุปท่านี้ทำให้ปวดทั้งหลัง ปวดทั้งเข่า

นั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า เป็นเวลานานๆ มีผลต่ออาการปวดหลังหรือไม่

เป็นปัญหาที่เจอบ่อยมากในผู้สูงอายุ หลายคนชอบเข้าวัด บางครั้งต้องนั่งที่พื้น นั่งยองๆ หรือนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิ ท่าเหล่านี้อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นเข่าเสื่อมอยู่แล้ว เกิดปัญหามากขึ้น อาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้

เครื่องนวดแบบเป็นไม้กด ใช้ได้หรือไม่

สามารถใช้เป็นเครื่องมือไปกดบริเวณที่เมื่อย คล้ายกับการเหยียบ หากใช้ไม้ไปกดก็แนะนำว่ากดเฉพาะเนื้อด้านข้างตรงที่เจ็บ ไม่แรง และไม่นานจนเกินไป ถ้ากดแล้วเจ็บ อาจต้องผ่อน หรือลดการใช้ เลี่ยงการเอาไม้แข็งๆ ไปกดบริเวณกระดูกแกนกลางเพราะอาจได้รับบาดเจ็บมากขึ้นโดยไม่จำเป็นได้

อายุ 64 ปี กระดูกสันหลังเสื่อม เผลอก้มแรง เสียงดังเป้าะ เจ็บทันที เดินก้มหลังไม่ได้ เดินก็เจ็บ เกิดจากอะไร

แสดงว่ากระดูกสันหลังเสื่อมอยู่แล้ว ข้อต่อไม่ปกติ ไม่เรียบ เวลาบิดตัวกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อต่อได้ เมื่อเวลาก้มมาก หมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพตามไปอาจฉีกขาดมากขึ้นได้ หรือน้อยสุดก็เป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ในผู้สูงอายุอาจจะเกิดจากกระดูกพรุน และกระดูกสันหลังยุบตัวก็เป็นได้ แนะนำว่าให้ลองทานยาลดอาการปวดก่อน ถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการชา อ่อนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลดีที่สุด

อายุ 73 ปี อยากทราบวิธีชะลอหลังโก่งงอในผู้สูงอายุ มีวิธีใดบ้าง

บางคนสงสัยว่าเริ่มต้นได้อย่างไร บางคนโก่งงอมากจนขนานไปกับพื้นก็มี เมื่อสูงอายุและเกิดภาวะกระดูกพรุน เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง ทำให้ข้อต่อแต่ละข้อยุบตัวลงมา หลังค่อยๆงอลง หรือกระดูกสันหลังช่วงล่างเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆต้องพยุงช่วยมากขึ้น ในบางคนเสื่อมมาก จนกล้ามเนื้อสู้ไม่ไหว เมื่อไม่มีอะไรมาดึงรั้งตัวเราก็พับลงมา กระดูกไม่แข็งแรงพอ บางคนกล้ามเนื้อแข็งแรงพอ ก็ไม่ปวดมาก

หลังค่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ในบางคนอาจไม่สามารถแก้ไขได้ 100% การออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อกลับมาแข็งแรงช่วยพยุงได้ หรือการใช้ไม้เท้า ก็พอจะช่วยได้บ้าง ลดการค่อม ลดการปวด และลดภาระกล้ามเนื้อหลังต้องทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุที่ภาวะกล้ามเนื้อถดถอยเมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว และใช้ไม้เท้าเป็นตัวช่วยที่ดี

กระดูกทับเส้นประสาท มีวิธีบริหารร่างกายอย่างไร

น่าจะหมายถึงหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับเส้นประสาท แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงท่าการหยิบของผิดวิธี  เช่นท่าการก้มหยิบของที่ไม่ถูก วิธีก้มหลัง ก้มหิ้วของ หากเป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว ไม่แนะนำวิธีออกกำลังกายที่มีการก้มหลังเยอะๆ จะทำให้โรคอาจเป็นมากขึ้นได้ เมื่อมีอาการปวด เริ่มต้นจากออกกำลังกายในท่านอนหงาย อย่างแรกชันเข่าขึ้นมา ดึงเข่ามาชิดอก เริ่มจากเซท 5-10  วินาที ช่วยยืดต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อหลังช่วงล่าง ส่วนท่าอื่นๆ เช่น เอาขาไขว้ไปด้านตรงข้าม คล้ายๆสเตรทชิ่ง  ทำในท่านอนแล้วยืดออก สำหรับท่าบริหารเพื่อลดอาการปวดอื่นๆ ก็ออกกำลังกายตามที่แนะนำข้างต้นคือ คอ บอดี้ เหมือนเดิม

อายุ 50 ปีแล้วทำ โยคะโฟลว์ มีอาการปวดหลังด้านล่าง เกิดจากอะไร

ในบางคนอาจจะมีกระดูกสันหลังข้อต่อด้านล่างมีความเสื่อมอยู่แล้ว อาจจะมีตามวัย หรือสรีระที่ผิดปกติตั้งแต่แรก เมื่อมีการออกกำลังกายที่มีการขยับ ต้องมีการดัด การแอ่น ที่ค่อนข้างมากก็อาจทำให้อักเสบได้ ท่าไหนที่ปวดก็ควรหยุดเล่น หากยังไม่หายปวดควรพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุ

ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากสาเหตุอะไร

นั่งผิดท่า  นั่งนาน ครอบคลุมหลายโรค กระดูกคอเสื่อม เส้นประสาทอักเสบ จากการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน  ตำแหน่งหน้าจอที่เรามอง เช่นการทำงานหน้าจอจากโน๊ตบุ๊ค ก้มนานๆต่อเนื่องเกิดอาการปวดคอ หรือการใช้จอ คอมพิวเตอร์ควรปรับให้พอดีระดับสายตา

Text Neck Syndrome แก้ไขปัญหาอย่างไร

มีคนป่วยเป็น Text Neck Syndrome มากขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากการใช้คอมพิวเตอร์ การแก้ไขอาจต้องปรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยการปรับองศาให้พอดีกับระดับสายตา บริหารร่างกายกล้ามเนื้อบริเวณคอด้านหลัง เพื่อช่วยพยุงตำแหน่งศรีษะเราได้ บริหารท่าเก็บคาง โดยการดึงคางเข้าหาลำตัวเกร็งค้างไว้ นับ 10 วินาที เท่ากับหนึ่งเซท ทำไปเรื่อยๆ  การออกกำลังกายโดยการดึงกล้ามเนื้อคอด้านหลัง ช่วยลดอาการปวด  หรือการกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบๆคอ ด้วยการใช้มือแตะที่หน้าผากและมืออีกข้างดันศรีษะด้านหลัง ทำให้ครบทั้ง 4 ด้าน  บางครั้งเส้นประสาทคออักเสบ บางคนมีปวดร้าวลงแขน ชาที่แขน การออกกำลังกายก็ช่วยได้เช่นกัน

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเกิดได้จากพันธุกรรมหรือไม่

น่าจะเกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยทั่วไปโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะสัมพันธ์กับพันธุกรรมน้อยมากๆ  ถ้าในเด็กเล็ก หรือเด็กแรกเกิด อาจจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้ออะมีบา  โรคพันธุกรรมบางครั้งทำให้สมองทำงานผิดปกติได้

การตรวจ CT Scan Whole Abdomen ควรทำห่างกันกี่เดือน รังสีมีอันตรายหรือไม่

โดยทั่วไป การทำ TC Scan จะขึ้นอยู่กับคุณหมอที่ให้ทำ และชี้แจงข้อดีข้อเสียของการทำ TC Scan ว่ามีอะไรบ้าง ในกรณีการทำเพื่อติดตามอาการของเซลมะเร็ง หลังทำเคมีมีบำบัดแล้ว เพื่อเช็คว่าเซลมะเร็วโตขึ้นหรือไม่ แต่ไม่มีข้อบ่งชี้แน่ชัดว่าควรทำห่างกันกี่เดือน ขึ้นอยู่กับโรคต้นเหตุที่เป็นอยู่ และการวินิจฉัยเพื่อติดตามอาการของแพทย์ รังสีจากการทำ TC Scan ยอมรับว่าอันตราย การทำ TC Scan หนึ่งครั้ง เท่ากับการเอ็กเรย์ปอด 5,000-10,000 ครั้ง ดังนั้นต้องระวัง โดยเฉพาะถ้ามีการใช้สารทึบรังสีเข้าไปด้วย  หลายโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น สามารถตัดการใช้โดสของรังสีได้มากขึ้นในปัจจุบัน 

การเลือกเตียงนอน มีวิธีเลือกอย่างไร มีผลต่อการปวดหลังปวดคอหรือไม่

การเลือกเตียงนอน ไม่ควรเลือกที่นอนที่มีความนุ่มมากจนเกินไป จะทำให้กระดูกสันหลังไม่อยู่ในรูปทรงปกติ เหมือนนอนแล้วตัวอยู่ในหลุม ทำให้หลังคดหรืองอ ดังนั้นต้องเช็คสภาพเตียงให้ดี ส่วนหมอน ให้เลือกที่ระดับคอและหัวไหล่อยู่ในแกนเดียวกัน หรือระดับที่ไม่สูงจนเกินไปจนปวดคอ ยกเว้นกรณีที่กระดูกคออักเสบ ควรนอนตามคำแนะนำของแพทย์

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย เมืองเปิดแล้วมีกิจกรรมต่างๆเพิ่มมากขึ้น ควรดูแลตนเองอย่างไร

ช่วงนี้เด็กๆ ยังคงติดเชื้อและป่วยค่อนข้างเยอะ หมั่นดูแลสุขภาพด้วยการล้างมือบ่อยด้วยสบู่  สวมหน้ากากอนามัย และทานร้อนใช้ช้อนกลาง ตามหลักสุขอนามัย

เมืองเปิดแล้ว มีกิจกรรมมากขึ้น หลีกเลี่ยงการก้มหลัง เมื่อมีอาการปวดหลัง และทานยาแล้วยังไม่หาย ก็ควรเข้ามาพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ

ติดต่อโฆษณา!