06 กรกฎาคม 2565
1,348

สธ.สั่งการด่วนที่สุด หน่วยบริการสุขภาพ รับมือโควิดระลอกใหม่ หมอศิริราชเผย ติดเชื้อจริงมากกว่า 50,000 คน/วัน

สธ.สั่งการด่วนที่สุด หน่วยบริการสุขภาพ รับมือโควิดระลอกใหม่ หมอศิริราชเผย ติดเชื้อจริงมากกว่า 50,000 คน/วัน
Highlight

โควิดระลอกใหม่มาแล้ว สธ.สั่งการด่วนที่สุด หน่วยบริการสุขภาพเตรียมพร้อมรับมือด้านหมอศิริราชเผย ยอดติดเชื้อจริงกว่า 50,000 คน/วัน เริ่ม่วยหนักเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น กรมการแพทย์เผยจากการสุ่มตรวจผู้ป่วยโควิดรายใหม่ พบการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ ย่อย BA.4 และ BA.5 เพิ่มเป็น 51.7%คาดว่าอีกไม่นานจะครองพื้นที่ในไทยได้ทั้งหมด  ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่แออัด อากาศปิด ส่วนสายพันธุ์ใหม่ BA.2.75 ยังไม่พบในไทย แต่เริ่มระบาดใน  2-3 ประเทศ


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการด่วนที่สุด ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัดเตรียมความพร้อม 8 ข้อ รับมือการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก “ชมรมแพทย์ชนบท” เผยแพร่เอกสารจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการด่วนที่สุด ถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัด เตรียมความพร้อมการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุ 8 ข้อ ที่กระทรวงสาธารณสุข ให้แจ้งสถานพยาบาลเตรียมพร้อม ดังนี้

  1. สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ รับทราบสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการ และระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ
  2. สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เพื่อสามารถให้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เตรียมพร้อมในการสำรองเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
  4. เตรียมพร้อม และซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย
  5. เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากร-ประชาชนอย่างครอบคลุม โดยเป็นไปตามความสมัครใจ
  6. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อ
  7. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อวางแผนในการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด
  8. รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง

ด้านหมอศิริราช เตือน ยอดติดโควิดพุ่งวันละ 5 หมื่นคน สถานการณ์ตึงมือแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความเตือนผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา

“ต้องขอออกมาเตือนกันให้ดัง ๆ ว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคองภาพรวมไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐานโรคซาลงในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้าผลักดันประเทศที่กะปลกกะเปลี้ยกันต่อไป

สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำเริ่มตึงมือมากว่าสัปดาห์แล้ว จำนวนผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งส่วนน้อยที่ป่วยจากโควิดโดยตรง และส่วนใหญ่ที่ป่วยจากโรคอื่นแต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จนทำให้บุคลากรด่านหน้าที่กันไว้จำนวนหนึ่งสำหรับงานโควิด ต้องกลับมาทำงานกันหนักขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว และต้องวิ่งวุ่นหมุนเตียงกันมือระวิง เพื่อลดจำนวนคนไข้ที่ตกค้างรอรับไว้ในโรงพยาบาล
สภาพเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวันที่แจ้งว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืออีกมาก ตัวเลขที่ว่านั้นเป็นแค่กรอบจำนวนเตียงที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข แต่ที่มีใช้งานอยู่จริงตอนนี้เริ่มร่อยหรอเต็มที ส่วนกรอบที่จะขยายได้ก็ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจนเกือบไม่เหลือหรอแล้ว

จากข้อมูลที่รับทราบมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริงเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะอยู่ที่ราววันละ 5 หมื่นคนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวันที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมีปรากฏการณ์ยอดตกช่วงต้นสัปดาห์ 

เมื่อประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่กลับปะทุขึ้นใหม่ แม้จะยังไม่แรงถึงครึ่งหนึ่งของช่วงพีกโอมิครอนครั้งก่อน แต่ต้นทุนประเทศในการดูดซับปัญหาเราร่อยหรอยอบแยบเต็มที ทั้งด้านงบประมาณและด้านบุคลากร หากไม่ออกแรงฮึดช่วยกันชะลอควบคุมการระบาดให้อยู่มือ อาจเห็นมีผู้ป่วยอาการรุนแรงตกค้างในชุมชนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วคงหลีกเลี่ยงดราม่าครั้งใหม่ไม่พ้นแน่

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่คอยแต่ให้ท้ายเพื่อปลดหน้ากากหรือเพิ่มกิจกรรมทางสังคมที่เสี่ยงแต่เพียงด้านเดียว

กรมวิทย์เผย ยอดติดเชื้อ BA.4 BA.5 ในสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 51.7% คาดจะครองพื้นที่ทั้งหมดในที่สุด 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 65 พบว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยจากการสุ่มตรวจทั้งหมด 946 ตัวอย่าง พบ BA.4 และ BA.5 ทั้งหมด 489 ราย คิดเป็น 51.7%, BA.2 ทั้งหมด 447 ราย คิดเป็น 47.3% และ BA.1 และสายพันธุ์ดั้งเพิม (B.1.1.529) รวมทั้งหมด 12 ราย คิดเป็น 1.1%

“แนวโน้ม BA.4 และ BA.5 มากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นาน BA.4 และ BA.5 จะครองตลาดการติดเชื้อของประเทศไทยแทนที่ BA.2 สำหรับการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์พบมากในกรุงเทพมหานคร และยังไม่พบในเขต 3, 8 และ 10 แต่เข้าใจว่าจะมีตัวอย่างที่เป็น BA.4 และ BA.5 เหมือนกันทั้งหมดแล้ว เพราะเป็นการสุ่มตรวจ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ทั้งนี้ ในการตรวจหาสายพันธุ์ ยังไม่ได้แยกระหว่าง BA.4 และ BA.5 เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นความแตกต่างของทั้ง 2 สายพันธุ์มากนัก เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คล้ายกัน และหากจะต้องแยกสายพันธุ์จะต้องมีการตรวจเพิ่มอีกหนึ่งขั้นตอน

“ตั้งแต่ตรวจพบ BA.4 และ BA.5 จนถึงวันที่ 1 ก.ค. ไทยพบ BA.4 และ BA.5 แล้วประมาณ 1,000 ราย ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ไม่มีความหมาย เพราะเราต้องดูสัดส่วนเป็นหลัก ถ้าสัดส่วนเยอะแปลว่าแพร่เร็ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับเรื่องความรุนแรงของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอ และยังต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ ได้มีการจำแนกสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโอมิครอนที่มีอาการรุนแรง และ/หรือเสียชีวิต ทั้งหมดจำนวน 11 ราย พบ 36.4% เป็น BA.4 และ BA.5 และ 63.3% เป็น BA.2 อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างยังมีจำนวนน้อยมาก จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ว่าโอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

“ขอประชาชนอย่าเพิ่งตกใจเรื่อง BA.4 และ BA.5 เกินเหตุ เราอาจจะเห็นข้อมูลการนอนโรงพยาบาลมากขึ้น จากการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ที่มากขึ้น เพราะสามารถหลบภูมิ แพร่เร็ว และคนที่เคยเป็นโควิดแล้วติดเชื้อซ้ำได้ ทั้งนี้ ต้องดูต่อไปว่าสัดส่วนผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมาจาก BA.4 และ BA.5 หรือไม่ ตอนนี้กำลังพิสูจน์ว่ามันทำให้แพร่เร็ว และอาการหนักหรือไม่ ซึ่งถ้าทำให้อาการหนักขึ้น ก็อาจต้องมีมาตรการเพิ่มเติม สำหรับเรื่องความแตกต่างของอาการ กรมการแพทย์อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล” นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มาตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ยังมีความจำเป็นในการลดการรับหรือเพิ่มเชื้อ ถึงแม้จะไม่ได้บังคับแล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน แนะนำว่าควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอเพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะมีในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) และผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายมานานแล้วเกินกว่า 4 เดือน

สำหรับสายพันธุ์ใหม่ BA.2.75 ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่จัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (VOC lineages under monitoring: VOC-LUM) และในระบบ GISAID มีรายงานพบสายพันธุ์ดังกล่าวเพียง 60 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยเกินไปที่จะสรุปข้อมูล ทั้งนี้ จากการตรวจเฝ้าระวังในไทยยังไม่พบสายพันธุ์ BA.2.75 แต่อย่างใด

ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทย์ฯ อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 เพื่อทำการทดสอบต่อวัคซีน โดยได้ทำการทดสอบแล้วทั้งหมด 21 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้าเซนเนก้าเข็ม ทั้งหมด 10 ราย และผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ ทั้งหมด 11 ราย โดยคาดว่าตัวอย่างผลการทดสอบจะออกมาภายในวันที่ 8 ก.ค. นี้ ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.4 ยังอยู่ระหว่างการพยายามเพาะเชื้อ

การแพร่เชื้อพบเป็นกลุ่มก้อนในสถานศึกษา โรงเรียน และแพร่สู่ครอบครัว

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยว่า แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน กทม. และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งนี้ พบอัตราครองเตียงระดับ 2-3 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ 10% ซึ่งน้อยมากจากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ในระดับ 50% รวมทั้งยืนยันว่า ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาประชาชนยังมีเพียงพอ

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยง ได้แก่ โรงเรียน สถาบันการศึกษา ในหลายจังหวัด ซึ่งทำให้มีการแพร่โรคไปสู่ครอบครัว และคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ดังนั้น แนะนำให้คงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention: UP) ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา โดยเฉพาะขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และขณะร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก รวมทั้งเว้นระยะห่าง ตามความเหมาะสมเร่งมาตรการ Universal Vaccination กลุ่ม 608 เพื่อลดผู้ป่วยอาการหนักที่กำลังเพิ่มขึ้น

“ผู้ป่วยโควิดเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณเตือนว่า กทม. และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ต้องพิจารณาควบคุมการระบาดในบางส่วน เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก” นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ แนะนำให้ทุกคนควรสวมหน้ากาก เมื่ออยู่ใกล้ชิดหมู่คนจำนวนมาก หากจำเป็นแนะนำให้เว้นระยะห่าง หรือเลี่ยงร่วมกิจกรรมคนจำนวนมากที่ไม่ได้สวมหน้ากาก ส่วนกรณีกลับจากต่างประเทศ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำเป็นต้องสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หรือไปที่สาธารณะที่เป็นสถานที่ปิด หรือที่มีคนจำนวนมาก รวมทั้งตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เมื่อมีอาการป่วย

ไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 พบการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สามารถแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ยยบแม้จะมีภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือฉีดวัคซีนมาแล้วระยะหนึ่งก็อาจติดเชื้อได้

กลุ่มเสี่ยงสูงที่หากติดเชื้อมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยด่วน คือ กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้ว และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ควรรีบเข้ารับวัคซีนโดยด่วน!!

ติดต่อโฆษณา!