23 มิถุนายน 2565
2,379

พบแล้ว 81 ราย โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในไทย อันตรายโจมตีปอดเหมือนเดลต้า แนวโน้มระบาดเพิ่มหลังเปิดผับ-บาร์

พบแล้ว 81 ราย โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในไทย อันตรายโจมตีปอดเหมือนเดลต้า แนวโน้มระบาดเพิ่มหลังเปิดผับ-บาร์
Highlight

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กลายพันธุ์ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 81 ราย แพทย์ระบุหนามที่กลายพันธุ์จับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น อันตรายถึงชีวิต โจมตีปอดคล้ายเดลต้า วอนสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด 


ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่กำลังยุกทวีปยุโรป จนจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโปรตุเกส คาดอังกฤษคิวถัดไป หลังจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันเต็ม โดยคนร่วมงานเมินใส่หน้ากากอนามัย 

ในขณะที่พบสายพันธุ์ย่อยดีงกล่าวนี้แล้วในไทย ล่าสุดจำนวน 81 ราย และคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงจะเข้ามาระบาดแทนที่สายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 โดยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5  มีหนามที่กลายพันธุ์จับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น อันตรายถึงชีวิต

20220623-a-01.jpg

เมื่อ วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานว่า ขณะนี้โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังสร้างความกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากพบว่า มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว

ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ (life-threating)

20220623-a-04.jpg

นอกจากนี้ในทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 

ล่าสุด ประเทศในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มากที่สุด คือประเทศโปรตุเกส ที่กำลังเผชิญกับระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระลอกใหม่ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อล้านคนมีค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,043 ราย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะลดลงบ้างจากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 2,878 โดยมีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 178 คนในวันที่ 20 มิถุนายน 2565

20220623-a-03.jpg

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และได้อัปโหลดข้อมูลรหัสพันธุกรรมขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบัน (23/6/2565) เฉพาะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5 มีจำนวน 81 ราย และเมื่อรวมสายพันธุ์ BA.2.12.1 เข้าไปด้วยจะมีจำนวนรวม 106 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบหมายกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าสังเกตสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรปโดยขอให้วางแผนรับมือล่วงหน้าในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังไทยจะมีประกาศยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของคนต่างชาติ หลังจากมีการพบไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน

ซึ่งจากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ไปแล้วจำนวน 23, 26, และ 18 ราย ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ไม่น่ากังวล อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่ในระดับทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น

อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รายงานวันนี้(23 มิ.ย.) ได้เพิ่มขึ้นเป็น 32,49 และ 25 รายแล้ว

20220623-a-05.jpg

กรมการแพทย์เผย โอมิครอนแพร่ระบาดมากขึ้นในไทยหลังเปิด ผับ บาร์ 1 มิ.ย.

กรมการแพทย์เผยหลังผ่อนคลาย "ผับ-บาร์" 1 มิ.ย. เป็นต้นมา พบ กทม.มีแนวโน้มติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น อาการรุนแรงไม่มากพบ 10% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 ยังไม่ชัดเจนทำให้เข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ แต่มีรายงานต่างประเทศลงปอดได้มากกว่าเดิม และยังไม่มีข้อมูลเทียบกับ "เดลตา" ย้ำหลัง 1 ก.ค. แม้ผ่อนคลายหน้ากากที่โล่งแจ้ง แต่หากอยู่ที่ปิด คนจำนวนมาก ขอให้ใส่ไว้

 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยเมื่อ 23 มิ.ย.กล่าวว่า หลังผ่อนคลายมาตรการและกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เช่น เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ แนวโน้มการติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมของประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนคือ พื้นที่ กทม. 

โดยพบว่า ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง คือ รพ.ราชวีถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตนราชธานี มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นไปตามคาดการณ์ว่า เมื่อมีการผ่อนคลายก็จะมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงเริ่มพบการติดเชื้อในโรงเรียนมากขึ้นด้วย ฉะนั้น วัคซีนโควิดมีความจำเป็นมาก ตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค คือ ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนเข็มกระตุ้นในเด็กนักเรียนขอให้ติดตามประกาศจากกรมควบคุมโรคอีกครั้ง

"หากตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้านแล้วพบว่าติดเชื้อ ขอให้ช่วยรายงานเข้าระบบด้วย ทั้งระบบการรักษาที่บ้าน (HI) หรือเจอแจกจบ (OPD) ที่จะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลประเมินสถานการณ์" นพ.สมศักดิ์กล่าว

ส่วนสถานการณ์เตียงโควิด เฉพาะ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. ก่อนผ่อนคลายมาตรการ อัตราครองเตียงรวมกันไม่ถึงพันเตียง แต่ช่วงนี้เพิ่มขึ้นเป็นพันกว่าเตียงอัตราครองเตียงคิดเป็น 10% ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อเทียบเฉพาะกับผู้ป่วยครองเตียง เช่น รพ.ราชวีถี ครองเตียง 30 ราย อาการรุนแรง 3 ราย คิดเป็น 10% ขณะที่เตียงโควิดยังว่างเยอะอยู่ เตียงไอซียูตอนนี้มีการครองเตียง 10-20% 

สำหรับอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังและรายงานว่า เริ่มเจอผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวคาดว่าจะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบภูมิคุ้มกัน แต่ความรุนแรงยังไม่ชัดเจนว่าทำให้ต้องเข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ 

ทั้งนี้รายงานจากต่างประเทศที่นำเชื้อดังกล่าวไปทดลองในเซลล์ปอด พบว่าเชื้อลงปอดมากกว่า BA.1 และ BA.2 แต่ไม่ได้นำมาเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่เคยมีความรุนแรงที่สุด ขณะเดียวกันทวีปยุโรปพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและมีการเข้ารักษาใน รพ.มากขึ้นพอสมควร 

ทั้งนี้ การติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่ระยะจะสั้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง แต่ในข้อมูลรายงานต่างประเทศที่ทดสอบกับเซลล์ปอดยืนยันได้ว่า BA.4 BA.5 ลงปอดมากกว่า BA.1 BA.2 ดังนั้นแนวโน้มว่าน่าจะรุนแรงกว่า

เมื่อถามว่าวันที่ 1 ก.ค. ศบค.ผ่อนคลายให้ถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้ง จะมีคำแนะนำอย่างไร นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า โควิดจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบของบุคคลมากขึ้น เป็นการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่คำแนะนำทางการแพทย์ยังอยากให้สวมหน้ากากอยู่ แต่ทางปฏิบัติหากเป็นการอยู่คนเดียว ในที่โล่งแจ้งก็ถอดได้ แต่หากอยู่ในสถานที่ปิด ใช้รถร่วมกับผู้อื่น อยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีคนมากๆ ควรสวมไว้

อ้างอิง : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, 
https://www.facebook.com/CMGrama/posts/pfbid021Ej6wbpU2KMipT2TYetr9mTaS9L2hszV4G91TCTHqQafYDLNTg2mPCQtDxNNT5sMl, Prachachart, MGR Online

ติดต่อโฆษณา!