04 มิถุนายน 2565
862

สธ. เตรียมเสนอคกก.โรคติดต่อแห่งชาติปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

สธ. เตรียมเสนอคกก.โรคติดต่อแห่งชาติปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ภายใต้แนวคิด “Health for Wealth” ใช้สุขภาพสร้างความเข้มแข็งประเทศ ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง โดยมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสาร เพื่อการกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงยุคก่อนโควิด และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตต่อเนื่อง


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงฯ ว่าขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงต่ำกว่า 50 รายต่อวัน ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำได้ดี โดยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ภายใต้แนวคิด Health for Wealth ใช้สุขภาพสร้างความเข้มแข็งประเทศ คือ ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง โดยมีการเตรียมความพร้อม 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสาร

มาตรการด้านสาธารณสุข เดินหน้า Universal Vaccination จะเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60% ปรับระบบเฝ้าระวังเน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส

มาตรการด้านการแพทย์ ปรับแนวทางการดูแลรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยภาวะ Long COVID ปรับมาตรการการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยกเว้นมีอาการหวัด สงสัยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยในหรือต้องผ่าตัด จะตรวจ ATK หรือ RT-PCR ตามความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วยรายอื่นและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเตรียมระบบการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการและระดับความรุนแรงของโรค เตียง บุคลากร สำรองยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดการระบาดซ้ำ

มาตรการด้านกฎหมาย สังคมและองค์กร โดยบริหารจัดการด้านกฎหมายเพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะพิจารณาเสนอให้ปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีแนวทางการควบคุมป้องกันโรคคล้ายกับโรคติดต่อทั่วไป

รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดการจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้เห็นชอบให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวและพื้นที่เฝ้าระวัง เปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด หรือสถานบริการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด และเน้นย้ำประชาชนและสังคมยังเข้มมาตรการ 2U คือ Universal Prevention สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม

มาตรการด้านการสื่อสาร ทุกภาคส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

บีบีซีไทยสรุปทุกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจาก 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการ "5 เลิก 2 ยืด 1 เปิด"

1. เลิกรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวัน

การรายงานสถานการณ์โควิด-19 ของไทย จะปรับจากระบบปัจจุบันที่รายงาน "จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน" เป็นการรายงาน "จำนวนผู้ป่วยรายวัน" โดยเน้นผู้ป่วยที่มีอาการและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และอัตราการครองเตียงกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง

สธ. ให้เหตุผลว่า ยอดการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเข้าสู่ระยะเริ่มการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในวันที่ 1 มิ.ย.

"การรายงาน RT-PCR รายวันจะไม่มีแล้ว จะปรับเป็นผู้ป่วยที่มีอาการต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างเดียว ฐานการรายงานควรเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแล้ว" นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าว
ภายในสัปดาห์นี้ นพ.จักรรัฐยังบอกด้วยว่า สธ. เตรียมพิจารณาปรับระดับเตือนภัยโรคโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 2

2. เลิกตรวจ ATK ปชช. ทั่วไป

ในขณะที่การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ต้องทำใน รพ. เท่านั้น กำลังจะถูกยกเลิกการรายงานผลต่อสาธารณะ มีคำถามตามมาทันทีว่าแล้วการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) ที่ประชาชนสามารถตรวจได้เอง หรือเข้ารับการตรวจที่ รพ./สถานพยาบาล โดยมีใบรับรองแพทย์ให้ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะบางองค์กรหรือการเข้าร่วมบางกิจกรรม ร้องขอให้ประชาชนแสดงผลตรวจ ATK

มีคำอธิบายจาก ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  • พนักงานสถานบริการ : ต้องตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์
  • ผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลเด็กเล็ก : ควรตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์
  • ประชาชนทั่วไป : ให้ตรวจ ATK เฉพาะกลุ่มที่อาการป่วยเท่านั้น เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ หอบเหนื่อย "ต่อไปบรรดาบริษัทสถานประกอบการไม่ต้องตรวจประจำสัปดาห์แล้ว"

3. เลิกกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยง

ศบค. ยังให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยยกเลิกการกักตัวของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากเดิมให้กักตัว 5 วัน และสังเกตุอาการตัวเองต่ออีก 5 วัน เปลี่ยนเป็นให้สังเกตุอาการตัวเองทั้ง 10 วัน ไม่ต้องกักตัว และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ

สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง หมายถึง

  • ผู้ที่ไม่สวมหน้ากาก หรือไม่ได้ใส่ชุด PPE ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัสผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19
  • ผู้ที่ใกล้ชิด พูดคุยกับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอตามรดจากผู้ป่วย ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนเริ่มมีอาการป่วย หรือขณะมีอาการ
  • ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 นานกว่า 30 นาที

ศบค. ระบุว่า ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงสามารถไปทำงานได้ แต่ให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น, งดไปสถานที่สาธารณะ, งดร่วมกิจกรรมกับคนจำนวนมาก และงดใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น

4. เลิกพื้นที่ควบคุมทั้งแผ่นดิน


ศบค. ประกาศปรับพื้นที่โซนสีใหม่ตั้งแต่ 1 มิ.ย. โดยยกเลิกพื้นที่ควบคุมทุกประเภท แล้วเหลือเพียง 3 สีเท่านั้น

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 0 จังหวัด
  • พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 0 จังหวัด
  • พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 0 จังหวัด
  • พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 46 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กําแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี เลย ลําพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองคาย หนองบัวลําภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
  • พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 14 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พิจิตร อ่างทอง น่าน มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ลำปาง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ตราด สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี
  • พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัด ได้แก่ กทม. กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง และสงขลา

การกำหนดโซนสีต่าง ๆ ของ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย มีผลต่อการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข ข้อห้าม ข้อแนะนำ ในการดำเนินกิจการ/กิจกรรมของแต่ละพื้นที่

5. เลิกกักตัวคนเข้าประเทศ-ชาวไทยไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass

ไทยกำลังจะเข้าสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหม่ โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเข้าประเทศ

การปรับมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย. จากเดิมกำหนดให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักรต้องลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เปลี่ยนเป็นยกเลิกการลงทะเบียนในส่วนของคนไทย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนตามเดิม

อย่างไรก็ตามมีการปรับรูปแบบใหม่ให้สะดวกขึ้น โดยลดเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นลงทะเบียนลงเหลือเพียง 3 รายการ เพื่อออก QR Code ได้แก่ เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ, เอกสารกรมธรรม์ประกันภัย-ประกันสุขภาพ ที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหนังสือเดินทาง

อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ก็สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว เพียงแค่แสดงผลตรวจ RT-PCR หรือ Professional ATK ภายใน 72 ชม. ก่อนเดินทาง หรือหากไม่มีผลตรวจก่อนเดินทาง สามารถรับการตรวจได้เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย
วันนี้ (31 พ.ค.) ศบค. เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียนเดินทางเข้าราชอาณาจักรผ่านไทยแลนด์พาส ในรอบเดือนที่ผ่านมา (29 เม.ย.-30 พ.ค.) พบว่า มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 777,852 ราย อนุมัติแล้ว 754,963 ราย

6. เปิดสถานบริการ บาร์ อาบอบนวด

บรรดาสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ที่ปิดให้บริการมานานกว่า 2 ปีนับจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังจะได้กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งตามมติ ศบค. แต่อนุญาตเฉพาะสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) รวม 31 จังหวัด ภายใต้ข้อปฏิบัติ ดังนี้

  • จำกัดเวลาในการขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 24.00 น.
  • งดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วร่วมกัน
  • งดกิจกรรมส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พนักงานของสถานบริการ (พนักงาน นักร้อง นักดนตรี และบุคคลที่เกี่ยวข้อง) ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และต้องตรวจ ATK ทุก 7 วัน
  • พนักงานที่ให้บริการคลุกคลีและสัมผัสใกล้ชิดกับลูกค้า ต้องสวมหน้ากาก เช่น อาบอบนวด
  • ประชาชนผู้รับบริการ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว
  • ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว 8 โรคเสี่ยง) แนะนำให้งดหรือหลีกเลี่ยงการใช้บริการ
  • สถานบริการที่เปิดให้บริการ ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ก่อน

ในส่วนของ กทม. สถานประกอบการต้องลงทะเบียนและประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 2Plus (TSC 2+) และขออนุญาตก่อนเปิดดำเนินการ โดยสถานประกอบการต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบควบคุมกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัด โดยมีสำนักงานเขตเป็นผู้ประเมินเพื่อพิจารณาอนุญาต และคอยตรวจ กำกับ ติดตามสถานประกอบการ

7. ยืดเวลาถอดหน้ากากอนามัยต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าว สธ. เตรียมเสนอให้ ศบค. พิจารณายกเลิกการสวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ในเดือน มิ.ย. นี้ ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าววันนี้ (31 พ.ค.) ว่า "ช่วงนี้ใส่ไว้ก่อนดีกว่า"
สอดคล้องกับความเห็นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ปรารภในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 30 พ.ค. ว่า ขอให้แจ้งเตือนไปยังประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัยที่ยังเป็นพฤติกรรมที่ยังสำคัญและจำเป็นอยู่ ขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ถอดหน้ากาก

ก่อนหน้านี้ สธ. เคยออกมาส่งสัญญาณตั้งแต่เดือน มี.ค. ว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น อาจพิจารณาผ่อนปรนได้บางพื่นที่ เช่น สวนสาธารณะ

ต่อมานายอนุทินเองก็กล่าวเมื่อ 29 พ.ค. ว่า "ปัจจุบันก็ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องใส่หน้ากากอนามัย แต่เรามั่นใจว่าทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงได้เอง" แต่ถึงกระนั้นเขาย้ำว่า สธ. ยังแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะไม่ได้แค่ป้องกันโควิด แต่ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ด้วย

8. ยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอบที่ 18

แม้มาตรการป้องกันโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะค่อย ๆ ได้รับการผ่อนคลายลงตามลำดับ แต่ ศบค. ยังขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน (1 มิ.ย.-31 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นการต่ออายุ "กฎหมายพิเศษ" ออกไปเป็นครั้งที่ 18

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ให้เหตุผลในการยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า "เพื่อให้สอดรับกับการก้าวเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น"

ติดต่อโฆษณา!